ข้อมูลของสถาบันวิทยาศาสตร์เศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า สปป. ลาว ระบุว่า ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 อัตราเงินเฟ้อของ สปป. ลาว เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.66 ซึ่งต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (5 เดือนแรกของปี 2563 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 6.12) แต่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยสาเหตุหลัก
.
ที่ทำให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มลดลง ได้แก่ การผลิตสินค้าไม่เพียงพอ ต้นทุนการขนส่งสินค้าทั้งภายในและต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากราคาน้ำมันสูง รวมถึงมาตรการป้องกันและควบคุมโรค COVID-19 ที่เป็นอุปสรรคต่อการขนส่งสินค้า นอกจากนี้ ค่าเงินกีบที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐและบาทมีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากธุรกิจส่วนใหญ่ต้องนำเข้าวัตถุดิบ สินค้าอุปโภคและบริโภคจากต่างประเทศ การอ่อนค่าของเงินกีบจึงส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้น เช่นเดียวกันกับต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพ
.
ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 ความแตกต่างของอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างกีบกับดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 6.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนกีบต่อบาทเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.9 นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินกีบยังมีปัจจัยมาจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐเทียบกับสกุลเงินของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค ได้แก่ ไทย รวมทั้งความต้องการใช้เงินตราต่างประเทศภายในประเทศเพื่อชำระการนำเข้าสินค้าและหนี้สิน ในขณะที่รายรับเป็นเงินตราต่างประเทศได้รับผลกระทบเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และรายรับจากค่าบินผ่านน่านฟ้าของ สปป. ลาวลดลง ข้อมูลของกระทรวงการเงิน สปป. ลาว ระบุว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 สปป. ลาวสามารถจัดเก็บรายรับได้ 11,052 พันล้านกีบ คิดเป็นร้อยละ 40 ของแผน โดยรายรับภายในประเทศอยู่ที่ 9,997 พันล้านกีบ คิดเป็นร้อยละ 40 ของแผน ทั้งนี้ คาดว่าทั้งปี 2564 จะสามารถเก็บรายรับตามแผนงบประมาณแห่งรัฐปี 2564 ได้ 23,683 พันล้านกีบ คิดเป็นร้อยละ 86 ของแผน ซึ่งอาจส่งผลให้ขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นจาก 3,955 พันล้านกีบ หรือร้อยละ 2.17 ของ GDP เป็น 7,901 พันล้านกีบ หรือร้อยละ 4.33 ของ GDP
.
ถึงแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อ และมาตรการป้องกันและควบคุมโรคการระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจของ สปป. ลาวขยายตัวช้าลง แต่ สปป.ลาว ถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องก่อนการแพร่ระบาด และเป็นประเทศที่หลายฝ่ายคาดว่าจะมีการเติบโตอย่างมากในช่วง 10 ปีข้างหน้า อีกทั้ง การที่ค่าเงินกีบอ่อนค่าลง จะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกที่อาจส่งออกได้มากขึ้น ผู้ประกอบการไทยจึงอาจพิจารณาเข้าไปลงทุนหรือดำเนินธุรกิจ และใช้ สปป. ลาว เป็นฐานการผลิตสินค้าและกระจายสินค้าไปยังประเทศต่าง ๆ ที่ สปป.ลาว มีความตกลงการค้าเสรีอยู่ นอกจากนี้ อาจเป็นการสร้างโอกาสให้ประเทศไทยการขยายตลาดเข้าสู่ ASEAN Economic Community (AEC) ได้ โดยธุรกิจที่น่าลงทุนใน สปป.ลาว ได้แก่ ธุรกิจอุตสาหกรรม ธุรกิจการเกษตร และ ธุรกิจบริการ