หากกล่าวถึงภาพรวมความเชื่อมโยงระหว่างมณฑลยูนนานกับประเทศไทยนั้น อันดับแรก คือ ด้านภูมิศาสตร์ของมณฑลยูนนาน ที่สามารถเชื่อมโยงทางกายภาพกับประเทศไทยผ่านระบบคมนาคมหลากหลายรูปแบบ (multimodal transportation) ทั้งทางบก (ถนนสาย R3A) ทางน้ำ (แม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง)
.
ซึ่งขณะนี้ฝ่ายจีนอยู่ระหว่างเตรียมการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการประสานการดําเนินการตามความตกลงว่าด้วย การเดินเรือพาณิชย์ ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง (Joint Committee on Coordination of Commercial Navigation on the Lancang-Mekong River among China, Laos, Myanmar and Thailand: JCCCN) ทางอากาศ และทางราง (เส้นทางรถไฟจีน-ลาว ที่มีกําหนดเปิดใช้งานวันที่ 2 ธันวาคม 2564 นี้ ซึ่งจะเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟไทย-จีนในอนาคต) อันดับต่อมา คือ การระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงของทั้งสองฝ่าย อาทิ การขนส่งข้ามแดน โดยเฉพาะการปิดด่านท่าเรือกวนเหล่ย (Guanlei Port) บนแม่น้ำล้านช้าง ที่เชื่อมโยงกับด่านท่าเรือเชียงแสนในจังหวัดเชียงรายโดยไม่มีกําหนด และการเลื่อนการเปิดใช้งานช่องทางผ่านแดนสําหรับรถบรรทุกสินค้าแห่งใหม่ระหว่างด่านโม่ฮานของมณฑลยนนานกับด่านบ่อเต็นในแขวงหลวงนําทาของลาว (ช่องทางผ่านแดนดังกล่าวมีสิ่งอํานวยความสะดวกสําหรับรถบรรทุกสินค้าที่ดีขึ้น โดยมีลานจอดรถบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่และช่องทางเดินรถกว้างขวาง ซึ่งสามารถรองรับการเพิ่มขึ้นของปริมาณการขนส่งได้ในระยะยาว อย่างไรก็ดี ปัจจุบันด่านโม่ฮานได้ปรับใช้ช่องทางผ่านแดนเดิม ที่ประชาชนใช้ร่วมกับรถบรรทุกสินค้าสําหรับการขนส่งสินค้าเพียงอย่างเดียว ภายหลังระงับการเดินทางผ่านเข้า-ออกของประชาชนจากสถานการณ์โรค COVID-19 โดยใช้มินิโปรแกรมบน WeChat จัดระเบียบการผ่านเข้า-ออกของรถบรรทุกสินค้าอย่างเป็นระเบียบ สามารถดําเนินมาตรการควบคุมและป้องกันโรคได้ ซึ่งที่ผ่านมาไม่ก่อให้เกิดปัญหารถติดขัดหรือการขนส่งล่าช้า)
.
ปัจจุบันรัฐบาลมณฑลยูนนาน ยังประสบความท้าทายในการดําเนินมาตรการควบคุมและป้องกันโรค COVID-19 ในพื้นที่ชายแดน เนื่องจากเป็นมณฑลเดียวของจีนที่มีพรมแดนยาว 4,060 กิโลเมตร โดยติดต่อกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึง 3 ประเทศ ได้แก่ ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม อีกทั้งสถานการณ์การระบาด COVID-19 ในประเทศเพื่อนบ้านก็ยังไม่มีแนวโน้มคลี่คลาย ดังนั้น ศูนย์บัญชาการควบคุมและป้องกันโรค COVID-19 มณฑลยูนนาน (หัวหน้าศูนย์ฯ ได้แก่ นายหร่วน เฉิงฟา เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนประจำมณฑลยูนนาน และนายหวัง หยุโป ผวก) จึงยังมี “แรงกดดันสูง” ในการพิจารณาเปิดใช้งานความเชื่อมโยงทุกช่องทางของมณฑล ได้แก่ ด่านทางบก ด่านทางน้ำ ด่านทางอากาศ และด่านทางราง กับต่างประเทศอย่างที่เคยเป็นมาตามปกติ ทั้งนี้ แม้ว่าสถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง จะหยิบยกขึ้นผลักดันในโอกาสต่าง ๆ เสมอมา (ล่าสุดรัฐบาล อำเภอเหมิงล่า เขตฯ สิบสองปันนาได้จัดตั้งคณะทำงานควบคุมและป้องกันร่วมในเขตน่านน้ำกวนเหล่ยบริเวณพรมแดนจีน-เมียนมาร์ และดําเนินมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อป้องกันการลักลอบข้ามแดน โดยผิดกฎหมายทางน้ำเช่นเดียวกับการที่มณฑลยูนนานสร้างรั้วตามแนวชายแดนทางบกบางช่วงกับลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม)
.
เส้นทางรถไฟจีน-ไทย-ลาว
- เส้นทางรถไฟจีน-ลาว เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟสายแพนเอเชียสายกลาง ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากนครคุนหมิงผ่านลาวและไทยไปจนสุดที่สิงคโปร์ รวมระยะทางประมาณ 4,000 กิโลเมตร โดยปัจจุบันมีแนวเส้นทางที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ได้แก่ เส้นทางในจีนประมาณ 600 กิโลเมตร ในลาวประมาณ 400 กิโลเมตร และในไทยประมาณ 600 กิโลเมตร
- เส้นทางรถไฟจีน-ลาว มีกําหนดเปิดใช้งานวันที่ 2 ธันวาคม 2564 ในโอกาสวันชาติลาว โดยจะใช้เวลาเดินทางจากนครคุนหมิงถึงเวียงจันทน์ประมาณ 8 ชม. อย่างไรก็ดี หน่วยงานฝ่ายจีนที่เกี่ยวข้องยังไม่มีแผนงานที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเดินรถขนส่งผู้โดยสาร และสินค้า อันเนื่องมาจากสถานการณ์โรค COVID-19 แต่คาดว่าในระยะแรกของการเปิดใช้งาน จะมีจํานวนการเดินรถขนส่งผู้โดยสารและสินค้าไม่มาก และอาจมีการประเมินเพื่อปรับเพิ่มในภายหลังหากมีความต้องการของผู้โดยสารและการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้น
- ในระยะยาว มณฑลยูนนานพร้อมผลักดันกับรัฐบาลจีนเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระหว่างประเทศผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาว-ไทย และหวังว่าโครงการรถไฟไทย-จีนจะมีความคืบหน้าในการก่อสร้างโดยเร็ว
- เส้นทางรถไฟจีน-ลาว-ไทย ช่วงภายในมณฑลยูนนานจากนครคุนหมิงถึงด่านโม่ฮานมีระยะทาง 618 กิโลเมตร โดยเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2559 มีการเปิดเดินรถช่วงนครคุนหมิง-เมืองยวีซี ระยะทาง 110 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 30 นาที และในช่วงปลายปีนี้จะเป็นการเปิดใช้งานส่วนที่เหลือจากเมืองยวีซีถึงด่านโม่ฮาน (ชายแดนมณฑลยูนนาน-ลาว) ซึ่งจะช่วยให้สามารถเดินทางจากนครคุนหมิงไปยังด่านโม่ฮานโดยใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมงและเชื่อมต่อกับเส้นทางช่วงภายในลาวที่มีระยะทาง 414 กิโลเมตร
- สถานีรถไฟของเส้นทางรถไฟจีน-ลาว-ไทย ช่วงภายในมณฑลยูนนานมี 14 แห่ง เรียงลําดับจาก นครคุนหมิงถึงด่านโม่ฮาน ดังนี้ (1) คุนหมิงใต้ (ผู้โดยสาร) (2) ยวีซีตอนใต้ (ผู้โดยสาร) (3) เหยียนเหอ (สินค้า) (4) เอ๋อซาน (ผู้โดยสาร) (5) ลัว (ผู้โดยสารและสินค้า) (6) หยวนเจียง (ผู้โดยสารและสินค้า) (7) โม่เจียง (ผู้โดยสารและสินค้า) (8) หนิงเอ๋อ (ผู้โดยสารและสินค้า) (9) ผูเอ่อร์ (ผู้โดยสารและสินค้า) (10) เหมิงหย่าง (ผู้โดยสารและสินค้า) (11) สิบสองปันนา (ผู้โดยสาร) (12) กํานหล่านป้า (ผู้โดยสาร) (13) เหมิ่งล่า (ผู้โดยสารและสินค้า) และ (14) โม่ฮาน (ผู้โดยสารและสินค้า) โดยเส้นทางจากสถานีคุนหมิงใต้ถึงสถานีสิบสองปันนา ก่อสร้างเป็นแบบรางคู่ ขณะที่เส้นทางจากสถานีสิบสองปันนาไปจนถึงสถานีโม่ฮานและเส้นทางช่วงภายในลาวก่อสร้างเป็นแบบรางเดี่ยว
.
จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่ามณฑลยูนนานมีภูมิศาสตร์ที่เอื้อต่อการค้ากับประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการคมนาคมที่ใช้เส้นทางรถไฟซึ่งมีความเร็วสูง นับว่าเป็นข้อได้เปรียบสำหรับผู้ประกอบการไทยในการใช้วิธีการขนส่งนี้ในการส่งออกสินค้าที่เป็นที่นิยมในประเทศจีน เช่น ทุเรียน มันสำปะหลัง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากจะช่วยลดระยะเวลาแล้วยังช่วยลดต้นทุนในการขนส่งด้วย สำหรับมาตรการในการลดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในเขตขนส่งของยูนนานที่ได้มีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้ประกอบการไทยที่มีกิจการลงทุน หรือสนใจดำเนินธุรกิจในพื้นที่คุมเข้ม ควรติดตามสถานการณ์ กฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อประกอบการพิจารณารับมือ และปรับตัวให้เหมาะสม
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง