ดัชนีทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งแรกของปี 2564
.
(1) GDP ไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 7.5 ซึ่งลดลงจากการขยายตัวร้อยละ 8 ในไตรมาสก่อน โดยเป็นผลจากการใช้จ่ายภาคเอกชนที่ขยายตัวร้อยละ 6.5 (เพิ่มขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.1 ในไตรมาสก่อน) และการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 (ลดลงจากการขยายตัวร้อยละ 8 ในไตรมาสก่อน) ในขณะที่การส่งออกสินค้าขยายตัวร้อยละ 20.3 (ลดลงจากการขยายตัวร้อยละ 30.1 ในไตรมาสก่อน) และการส่งออกบริการ ขยายตัวร้อยละ 2.6 (เพิ่มขึ้นสูงจากการหดตัวร้อยละ 7.3 ในไตรมาสก่อน) ทั้งนี้ รัฐบาลฮ่องกงคาดการณ์ GDP ปี 2564 ว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 3.5 – 5.5 เมื่อเทียบกับการหดตัวร้อยละ 6.1 ในปีก่อน ด้านสถาบันการเงินในฮ่องกง เช่น ธนาคาร Citibank และ ธนาคาร OCBC Wing Hang คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจฮ่องกงครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้นและ GDP ฮ่องกงในปี 2564 จะขยายตัวประมาณร้อยละ 5 ถึง 6 และธนาคาร Standard Chartered คาดการณ์ว่าจะขยายตัวสูงถึงร้อยละ 6.9
.
(2) การส่งออก ในช่วงเดือนมิถุนายน 2564 ขยายตัวร้อยละ 33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน โดยมีมูลค่ารวม 4.066 แสนล้านดอลลาร์ฮ่องกง
.
(3) มูลค่าการค้าปลีก ขยายตัวร้อยละ 8.4 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 โดยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา การค้าปลีกในฮ่องกงมีมูลค่า 28.1 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อน
.
(4) อัตราการว่างงาน ในช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน อยู่ที่ร้อยละ 5.5 ปรับตัวดีขึ้นจากร้อยละ 6 ในช่วงการประเมินก่อนหน้า โดยมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นราว 9,700 ตําแหน่ง
.
(5) การจดทะเบียนของบริษัทต่างชาติในฮ่องกง ช่วงครึ่งแรกของปี 2564 มีบริษัทเข้าจดทะเบียน ภายใต้กฎหมานฮ่องกงทั้งหมด 56,253 บริษัท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.07 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นบริษัทต่างชาติ จํานวน 662 บริษัท ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสถานการณ์ทางการเมือง ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของฮ่องกง และยังสามารถรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้ดี
.
(6) การเติบโตของตลาดอสังหาริมทรัพย์ จากการสํารวจของบริษัท Midland Realty บริษัทอสังหาริมทัพย์อันดับต้นของฮ่องกง พบว่า ประชาชนฮ่องกงร้อยละ 43.5 (จากการสํารวจทางออนไลน์ 1,112 ราย) มีความสนใจที่จะซื้ออสังหาริมทัพย์แบบที่พักอาศัยในช่วง 5 เดือนข้างหน้า โดยร้อยละ 78 เชื่อว่าราคาที่พักอาศัยในฮ่องกงจะเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 6 เดือนข้างหน้านี้ และร้อยละ 44.3 เชื่อว่าราคาที่พักอาศัยจะปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเดือนพฤษจิกายน 2564 โดยเป็นมาผลจากความสําเร็จของฮ่องกงในการรับมือกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
.
นอกจากนี้ นาย Paul Chan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนาย Edward Yau รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และการพัฒนาเศรษฐกิจฮ่องกง ได้แถลงยืนยันสถานะการเป็นศูนย์กลางการเงินและธุรกิจระหว่างประเทศของฮ่องกง โดยใช้ข้อบังคับกฎหมายคมนาคมแห่งชาติตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 เพื่อช่วยเสริมสถานะการเป็นศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศของฮ่องกง ซึ่งสถิติทางการเงินในช่วงปีที่ผ่านมาสะท้อนว่า กฎหมายคมนาคมแห่งชาติไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของฮ่องกง ขณะที่นักลงทุนยังมีความเชื่อมั่นต่อสภาวะแวดล้อมทางการเงินที่ดีของฮ่องกง ซึ่งมีปัจจัยจาก:
.
(1) การระดมทุนผ่านตลาดทุน IPO ที่มีมูลค่าสูงถึง 5 แสนล้านดอลลาร์ฮ่องกง เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 จากปีที่แล้ว
.
(2) การซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ มีมูลค่าสูงถึง 1.6 แสนล้านดอลลาร์ฮ่องกง เพิ่มขึ้นร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการใช้ข้อบังคับกฎหมายคมนาคมแห่งชาติ
.
(3) ตลาดสกุลเงินดอลลาร์ฮ่องกง โดยระบบอัตราแลกเปลี่ยนเชื่อมโยง (Linked Exchange Rate System – LERS) ระหว่างสกุลเงินดอลลาร์ฮ่องกง กับดอลลาร์สหรัฐยังทํางานได้อย่างราบรื่นและรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนได้ดี และตลาดสกุลเงินดอลลาร์ฮ่องกงยังมีเงินทุนไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงเดือนกรกฎาคม – ตุลาคม 2563 มีเงินทุนไหลเข้ามาสูงถึง 3 แสนล้านดอลลาร์ฮ่องกง
.
(4) การธนาคาร ปัจจุบัน จํานวนเงินฝากในระบบธนาคารฮ่องกงเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากปีก่อน โดยสถานะสิ้นเดือนพฤษภาคม 2564 มีมูลค่าเงินฝากรวมราว 14.9 ล้านล้านดอลลาร์ฮ่องกง
.
(5) การจัดการกองทุน โดยสถานะสิ้นปี 2563 มีมูลค่าสินทรัพย์ในกองทุนในฮ่องกงเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อสิ้นปี 2562
.
(6) ความเชื่อมโยงกับตลาดการเงินของจีนแผ่นดินใหญ่ การซื้อขายระหว่างตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงกับตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้และเซิ่นเจิ้น (northbound trading) เพิ่มขึ้นร้อยละ 90 เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการใช้ข้อบังคับกฎหมายคมนาคมแห่งชาติ โดยมีมูลค่าราว 1.1 แสนล้านหยวน และซื้อขายในตลาดตราสารหนี้กับจีนแผ่นดินใหญ่ (Northbound Bond Connect) เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ในช่วงปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าราว 2.3 หมื่นล้านหยวน ซึ่งสะท้อนว่า นักลงทุนต่างชาติยังนิยมใช้ฮ่องกงเป็นแพลตฟอร์มสําหรับการลงทุนด้านการเงินของจีนแผ่นดินใหญ่ นอกจากนี้ ทางการฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่กำลังอยู่ระหว่างการหารือเพื่อริเริ่มโครงการสนับสนุนการลงทุนและการบริหารความมั่งคั่งข้ามพรมแดน หรือ “Wealth Management Connect” ในเขตเศรษฐกิจ Greater Bay Area – GBA และการซื้อขายในตลาดตราสารหนี้ฮ่องกงของนักลงทุนจากจีนแผ่นดินใหญ่ (Southbound Bond Connect) เพื่อเสริมสถานะการเป็นศูนย์กลางการเงินระหว่างประเทศ และศูนย์กลางธุรกิจเงินหยวนระหว่างประเทศของฮ่องกง นอกจากนี้ สถาบันการเงินระหว่างประเทศหลายแห่ง เช่น ธนาคาร Standard Chartered ธนาคาร HSBC และ Bank of China (Hong Kong) ยังมีแผนที่จะขยายการดําเนินกิจการในฮ่องกง เพื่อเข้าถึงโอกาสด้าน Fintech และการเงินสีเขียว (green finance) ของฮ่องกงและตลาดการเงินของจีนแผ่นดินใหญ่ เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ของรัฐบาลฮ่องกง ภายในปี ค.ศ. 2050 และจีนแผ่นดินใหญ่ ภายในปี ค.ศ. 2060 และตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางด้านการเงินสีเขียวของฮ่องกง
.
นาย Edward Yau รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และการพัฒนาเศรษฐกิจฮ่องกง กล่าวว่า ฮ่องกงยังคงเป็นที่ที่ดีสุดในเอเชียสําหรับการประกอบธุรกิจและการลงทุน และยังคงมีสภาวะแวดล้อมเชิงบวกสําหรับธุรกิจ เนื่องจากทําเลที่ตั้งและความเชื่อมโยงกับจีนแผ่นดินใหญ่ เอเชียตะวันออก และอาเซียน รวมทั้งมีเสถียรภาพที่กลับคืนมาจากการประกาศใช้บังคับกฎหมายคมนาคมโดยปัจจุบันมี บริษัทต่างชาติ และ บริษัทจีนแผ่นดินใหญ่กว่า 9,000 ราย จัดตั้งสำนักงานในฮ่องกง โดยร้อยละ 40 ใช้ฮ่องกงเป็นสำนักงานใหญ่ประจําภูมิภาค รวมทั้งยังเป็นแหล่งรับ FDI มากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก ตามการจัดอันดับในรายงาน World Investment Report 2021 ของ UNCTAD นอกจากนี้ การประกอบธุรกิจและการลงทุนในฮ่องกงยังหมายถึงการเข้าถึงโอกาสทางธุรกิจ ของจีนแผ่นดินใหญ่ตามแผนเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 ของสาธารณรัฐประชาชนจีนและยุทธศาสตร์การพัฒนาเขต GBA โดยเน้นย้ําว่ากฎหมายคมนาคมจะไม่ลดทอนศักยภาพทางธุรกิจของฮ่องกง แต่ช่วยสนับสนุนให้สภาวะแวดล้อมทางธุรกิจในฮ่องกงดียิ่งขึ้น และรัฐบาลจะสนับสนุนธุรกิจฮ่องกง และต่างชาติเข้าถึงโอกาส ในตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ การรวมกลุ่มในภูมิภาค และตลาดโลกต่อไป โดยใช้ความได้เปรียบที่เป็นเอกลักษณ์ภายใต้หลักการ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” และการเป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงระหว่างประเทศ
.
นโยบายและการดําเนินงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลฮ่องกง
.
(1) โครงการ Consumption Voucher Scheme จัดขึ้นเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยผ่านช่องทางการชําระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-payment) พร้อมเยียวยาร้านค้าปลีก ร้านอาหาร และร้านค้าออนไลน์ โดยประชาชนที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับ voucher จํานวน 5,000 ดอลลาร์ฮ่องกง ในบริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ 4 ช่องทาง ได้แก่ AlipayHK, Octopus, Tap & Go และ WeChat Pay HK และเริ่มได้รับเงินครั้งแรก 2,000 ดอลลาร์ฮ่องกง ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2564
.
(2) การให้เงินช่วยเหลือจากกองทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 แก่ภาคการท่องเที่ยว วงเงินงบประมาณ 377 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง เพื่อช่วยเยียวยาภาคการท่องเที่ยวและ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบริการขนส่งข้ามแดนในฮ่องกง โดย
– บริษัททัวร์ที่มีพนักงานไม่เกิน 10 คน จะได้รับเงินช่วยเหลือ 50,000 ดอลลาร์ฮ่องกง/บริษัท และ บริษัททัวร์ที่มีพนักงาน 11 คนขึ้นไป จะได้รับเงินช่วยเหลือตามจํานวนพนักงานอัตรา 5,000
ดอลลาร์ฮ่องกง/คน
– พนักงานบริษัททัวร์ มัคคุเทศก์ ที่มีใบรับรอง และผู้ดูแลคณะทัวร์ จะได้รับเงินช่วยเหลือ คนละ 7,500 ดอลลาร์ฮ่องกง ส่วนพนักงานขับรถโดยสารของบริษัททัวร์ จะได้รับเงินช่วยเหลือคนละ 3,350 ดอลลาร์ฮ่องกง
– บริการขนส่งข้ามแดน เช่น รถโค้ช รถรับจ้าง เรือเฟอร์รี่ โดยเจ้าของรถโค้ชและรถรับจ้างที่จดทะเบียน จะได้รับเงินเยียวยา 30,000 ดอลลาร์ฮ่องกง/คัน ส่วนเรือเฟอร์รี่ข้ามแดน จะได้รับเงินช่วยเหลือ 50,000 ดอลลาร์ฮ่องกง
.
(3) การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 นั้น รัฐบาลฮ่องกงได้เริ่มประกาศผ่อนคลายมาตรการ Social distancing สำหรับสําหรับการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มของผู้คน รวมถึงอนุญาตให้มีการจัดงานแสดงสินค้า นิทรรศการหลายรายการในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม เช่น Book Fair, Jewelry Fair, International Travel Expo, Food Expo และ Job Fair เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย การจ้างงาน และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
.
ฮ่องกงเป็นหนึ่งในสถานที่ที่น่าลงทุน โดยเฉพาะด้านการนำเข้า และส่งออก เนื่องจากมีนโยบายการค้าแบบเสรี และท่าเรือที่ปลอดภาษี ซึ่งรัฐบาลยังมีการส่งเสริมอุตสาหกรรมที่หลากหลาย เช่น โลจิสติกส์ การเงิน การธนาคาร และยังสามารถใช้ประโยชน์เพื่อเปิดประตูการค้าสู่จีน และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกได้ นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทย หรือ SMEs ด้านการเงิน เนื่องจากรัฐบาลให้การสนับสนุนด้าน Fintech และการเงินสีเขียวอย่างมาก ผนวกกับนโยบายในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่สนับสนุนให้ประชาชนใช้จ่ายผ่าน e-payment ที่หลากหลายมากขึ้นแล้ว จะทำให้ฮ่องกงกลายเป็นตลาดการลงทุนด้านการเงินที่มีจะโอกาสเติบโตสูง และยั่งยืนในอนาคตเป็นอย่างมาก
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง