สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา กล่าวว่า กัมพูชาได้ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2564 เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2.5 จากที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่แย่ลง นอกจากนี้ รายได้หลักของประเทศ ยังคงเป็นสินค้าภาคการเกษตร ถึงแม้จะเป็นช่วงที่เศรษฐกิจซบเซา ในขณะที่ สินค้าภาคการเกษตรบางประเภทยังมีปริมาณการส่งออกจํานวนมาก เช่น การส่งออกข้าวไปยังเวียดนาม ที่ยังคงเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 200 การส่งออกเม็ดมะม่วงหิมพานต์เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 300 และ ปริมาณการส่งออกมันสําปะหลัง มะม่วง กล้วย และพืชผลอื่น ๆ มีมูลค่าสูงขึ้น ในส่วนของอุตสาหกรรมสิ่งทอ ยังคงปริมาณการค้าที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกเช่นกัน
.
การค้าระหว่างกัมพูชา และ เกาหลีใต้
ปริมาณการค้ากัมพูชา – เกาหลีใต้ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 มีมูลค่า 451.98 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 ซึ่งมีมูลค่า 423.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กว่าร้อยละ 6.7 โดย กัมพูชาขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 34 โดยปริมาณการค้าจําแนกเป็น (1) ปริมาณการส่งออก 159.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และ (2) ปริมาณการนําเข้า 292.59 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.9 จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชา ได้แก่ รองเท้า เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์สําหรับการเดินทาง เครื่องดื่ม ชิ้นส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยาง สินค้าเกษตร สินค้านําเข้าหลัก ได้แก่ ยานพาหนะ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ในครัว เครื่องดื่ม ยา และผลิตภัณฑ์ พลาสติกสําเร็จรูป
.
นอกจากนี้ นาย Lim Heng รองประธานหอการค้ากัมพูชา ยังได้กล่าวว่า ปริมาณการค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นนี้ เนื่องมาจากการนําเข้ารถยนต์และอุปกรณ์ทางการแพทย์อื่น ๆ เพื่อใช้ป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่วนปริมาณการส่งออกที่ลดลง เกิดจากการสั่งปิดโรงงานในกัมพูชา ทําให้กําลังผลิตสินค้าลดน้อยลง
.
การเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างกัมพูชา และเกาหลีใต้ ได้สิ้นสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และ วางแผนที่จะลงนามภายในปีนี้ จะสามารถช่วยส่งเสริมปริมาณการค้าระหว่างประเทศให้มากยิ่งขึ้นในอนาคต โดยจะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียดจากการที่ EU ประกาศยกเลิกสิทธิพิเศษ Everything But Arms (EBA) บางส่วนกับกัมพูชา ซึ่งทําให้อุตสาหกรรมสิ่งทอในกัมพูชาได้รับผลกระทบ โดยหากการเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างกัมพูชา และเกาหลีใต้บรรลุ และมีผลบังคับใช้ ธุรกิจดังกล่าวจะได้รับผลประโยชน์ไปด้วย เนื่องจากธุรกิจสิ่งทอเป็นสินค้าส่งออกหลักของกัมพูชาไปยังเกาหลีใต้
.
ปัจจุบัน ไทยและกัมพูชามีการนำเข้า-ส่งออก และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่ดีต่อกัน ซึ่งหากความตกลงการค้าเสรีระหว่างกัมพูชาและเกาหลีใต้มีผลบังคับใช้แล้ว จะสามารถเพิ่มโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย ในการส่งออกสินค้าไทยในกัมพูชาไปยังเกาหลีใต้ และยังเป็นโอกาสในการส่งออกอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่เป็นอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตได้ดี อีกทั้งมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถดึงดูดผู้ประกอบการต่างชาติอีกด้วย นอกจากนี้ การที่ EU ประกาศยกเลิกสิทธิพิเศษ EBA ส่งผลให้รัฐบาลกัมพูชาเร่งส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ และ SMEs แทน ด้วยการให้ระยะพักชำระภาษี 3-5 ปี เมื่อรวมกับนโยบายที่สามารถให้ชาวต่างชาติเป็นเจ้าของธุรกิจได้ 100% ของกัมพูชาแล้ว จะเป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยให้สามารถสร้างความร่วมมือด้านความเชี่ยวชาญของไทย เช่น อาหาร บรรจุภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ให้เข้ากับความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ ของกัมพูชาเพื่อสร้างความแตกต่างของสินค้า และบริการ
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ