เศรษฐกิจอินโดนีเซียไตรมาส 2/2564
.
1. GDP ในไตรมาส 2/2564 ขยายตัวร้อยละ 7.7 ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์จากหลายสถาบันคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 6.72 และร้อยละ 3.31 ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในครึ่งแรกของปี 64 อยู่ที่ร้อยละ 3.10 โดย GDP ณ ราคาปัจจุบัน (current price) มีมูลค่า 290.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ GDP ณ ราคาคงที่ (constant price) โดยคำนวนจากปีฐาน 2553 มีมูลค่า 192.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งถือว่าเป็นการเติบโตในอัตราที่เร็วที่สุดในรอบ 17 ปี และเป็นการขยายตัวครั้งแรกหลังเศรษฐกิจอินโดนีเซียหดตัว 4 ไตรมาสติดต่อกัน
.
2. ปัจจัยสนับสนุนสำคัญของเศรษฐกิจในช่วงดังกล่าว ได้แก่ (1) การควบคุมโรคโดยใช้มาตรการ PPKM Micro ที่พยายามสร้างสมดุลระหว่างมาตรการสาธารณสุขและเศรษฐกิจ โดยยังอนุญาตให้มีการเดินทางข้ามจังหวัดและกระจายวัคซีนของอินโดนีเซีย (2) การจัดสรรงบประมาณเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ (National Economic Recovery Program – PEN) ในด้านสาธารณสุข การคุ้มครองทางสังคม โครงการเร่งด่วน ธุรกิจ MSME และการให้สิทธิประโยชน์ทางธุรกิจ ซึ่งปรับเพิ่มงบประมาณเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 จากเดิม 48.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 51.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันใช้จ่ายงบประมาณไปแล้วร้อยละ 41.02 และ (3) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะคู่ค้าหลักของอินโดนีเซียซึ่งส่งเสริมธุรกิจส่งออกของอินโดนีเซีย
.
3. ธุรกิจและอุตสาหกรรมที่สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 2/2564 อย่างมีนัยสำคัญ ได้แก่ (1) ธุรกิจขนส่งและคลังสินค้า เติบโตสูงสุดที่ร้อยละ 25.10 หลังจากที่หดตัวถึงร้อยละ 13.12 ในไตรมาส 1/2564 (2) ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม เติบโตร้อยละ 21.58 หลังจากหดตัวร้อยละ 7.6 ในไตรมาส 1/2564 (3) ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ เติบโตร้อยละ 11.62 (4) การค้า เติบโตร้อยละ 9.44 จากที่หดตัวร้อยละ 1.23 ในไตรมาส 1/2564 (5) ไฟฟ้าและก๊าซ เติบโตร้อยละ 9.09 (6) ธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตในภาพรวม เติบโตร้อยละ 6.58 เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/2564 ที่หดตัวร้อยละ 1.38 โดยธุรกิจเกี่ยวกับถ่านหิน น้ำมันและก๊าซเติบโตร้อยละ 3.37 เพิ่มจากไตรมาส 1/2564 ที่หดตัวร้อยละ 7.70 และ (7) ธุรกิจเกี่ยวกับเหมืองแร่ เติบโตร้อยละ 5.22 อนึ่ง ธุรกิจที่เติบโตน้อยที่สุดในไตรมาสนี้คือเกษตรกรรม ซึ่งเติบโตที่ร้อยละ 0.38 ลดลงจากร้อยละ 3.33 ในไตรมาสที่ 1/2564
.
4. การบริโภคครัวเรือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.93 โดยมีดัชนีค่าความเชื่อมันของผู้บริโภคในไตรมาสนี้อยู่ที่ 82.14
.
5. การส่งออกและการนำเข้าสินค้าและบริการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.78 และ 31.22 ตามลำดับ โดยการค้าระหว่างประเทศปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นคือ แร่พลังงาน เหล็กและเหล็กกล้า และเครื่องจักรกลไฟฟ้าและอุปกรณ์ และการนำเข้าสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นคือเครื่องจักรกลการบิน เครื่องจักรไฟฟ้า เหล็กและเหล็กกล้า และพลาสติก
.
5.1 การค้าระหว่างไทย-อินโดนีเซียในเดือนมกราคม – มิถุนายน 2564 มีมูลค่า 8.29 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยไทยส่งออกไปยังอินโดนีเซียมูลค่า 4.119 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนำเข้าจากอินโดนีเซียมูลค่า 4.179 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯทำให้ไทยขาดดุลการค้า 60.20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
.
5.2 สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังอินโดนีเซีย 5 อันดับแรก ในช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 2564 ได้แก่ (1) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (2) เม็ดพลาสติก (3) เคมีภัณฑ์ (4) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล และ (5) เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ
.
5.3 สินค้าที่ไทยนำเข้าจากอินโดนีเซีย 5 อันดับแรก ในช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน 2564 ได้แก่ (1) น้ำมันดิบ (2) ถ่านหิน (3) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (4) เคมีภัณฑ์ และ (5) ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์
.
6. การลงทุน มีมูลค่า 15.4 พันล้าน USD ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.2 ประกอบด้วยการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) มูลค่า 7.99 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตขึ้นร้อยละ 16.2 และการลงทุนภายในประเทศ (DDI) มูลค่า 7.34 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯเติบโตขึ้นร้อยละ 12.7 ทำให้มูลค่าการลงทุนในครึ่งแรกของปี 64 อยู่ที่ 30.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 49.2 ของเป้าหมายมูลค่าการลงทุนที่ประธานาธิบดีอินโดนีเซียตั้งไว้สำหรับปี 64 โดยธุรกิจที่มีการลงทุนมากที่สุด ทั้งจากภายในและจากต่างประเทศ 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การก่อสร้างสำนักงานและโรงงาน (2) การผลิตเหล็กกล้าและสินค้าจากเหล็กกล้า (3) ธุรกิจขนส่งคลังสินค้าและการสื่อสารโทรคมนาคม
.
6.1 ผู้ที่เข้ามาลงทุนในอินโดนีเซียมากที่สุด 5 ลำดับแรกในไตรมาสที่ 2/2564 ได้แก่ (1) สิงคโปร์ 21.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 26.4 (2) ฮ่องกง 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 18.1 (3) เนเธอร์แลนด์ 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 13.8 (4) ญี่ปุ่น 700 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 9 และ (5) จีน 6 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 8 โดยธุรกิจที่ได้รับ FDI มากที่สุด 3 อันดับแรกคือ (1) การผลิตเหล็กกล้าและสินค้าจากเหล็กกล้าและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง (2) เหมืองแร่ (3) ธุรกิจขนส่งคลังสินค้าและการสื่อสารโทรคมนาคม โดยมีการลงทุนจากต่างประเทศมากที่สุดในจังหวัดชวาตะวันตกมูลค่า 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 19.8 ของการลงทุนทั้งหมดในไตรมาสนี้
.
แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจอินโดนีเซียในระยะต่อไป
.
แม้เศรษฐกิจอินโดนีเซียในไตรมาสที่ 2/2564 จะเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่หลายฝ่ายเห็นพ้องกันว่าการเติบโตในไตรมาสที่ 3/2564 น่าจะหดตัวลง โดยเฉพาะการบริโภคในครัวเรือน เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหญ่ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงปัจจุบัน ซึ่งทำให้รัฐบาลอินโดนีเซียต้องประกาศมาตรการฉุกเฉิน (PPKM Darurat) เกือบตลอดทั้งเดือนกรกฎาคม 2564 โดยปัจจุบันรัฐบาลอินโดนีเซียปรับการคาดการณ์การเติบโตของ GDP ในไตรมาสที่ 3/2564 จากเดิมร้อยละ 5.7 เหลือร้อยละ 5.4 และปรับการคาดการณ์สำหรับปี 2564 เป็นระหว่างร้อยละ 3.7 – 4.5 อย่างไรก็ดีรัฐบาลอินโดนีเซียยังหวังว่าหากสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังรักษาตัวอยู่ (active cases) ให้ไม่เกิน 2 แสนคนในช่วงก่อนไตรมาสที่ 4/2564 ได้ การเติบโตของ GDP ในไตรมาสที่ 4/2564 น่าจะอยู่ที่ร้อยละ 5.9 ซึ่งสอดคล้องกับการประเมินของธนาคารกลางอินโดนีเซียที่เห็นว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียในปี 64 น่าจะเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 3.8
.
รัฐบาลอินโดนีเซียตั้งเป้าหมายว่าจะได้รับวัคซีนเพิ่มจากต่างประเทศในเดือนสิงหาคม 2564 อย่างน้อย 45 ล้านโดสจากแหล่งต่าง ๆ และมีแผนการฉีดวัคซีนในเดือนสิงหาคม – กันยายน 2564 เดือนละ 70 ล้านโดส แต่ปัจจุบันอินโดนีเซียยังมีวัคซีนสำรองไม่เพียงพอฉีดให้ได้ตามเป้าหมายข้างต้น รวมถึงตั้งแต่วันที่ 1-8 สิงหาคม 2564 อินโดนีเซียสามารถฉีดวัคซีนเฉลี่ยได้ประมาณวันละ 8 แสนโดส
.
ปัจจุบันรัฐบาลอินโดนีเซียได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคระบาดบางส่วน โดยให้ธุรกิจที่สำคัญทั้งด้านการส่งออกและการเงิน รวมถึง MSMEs สามารถดำเนินการได้ภายใต้ข้อกำหนดด้านสาธารณสุขที่เข้มงวด และขอให้ภาคธนาคาร สถาบันการเงิน กระจายเงินกู้ยืมแก่ธุรกิจต่างเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วขึ้น ทั้งนี้รัฐบาลมีความมุ่งหวังว่าระบบ Online Single Submission (OSS) เวอร์ชั่นใหม่ ภายใต้กฎหมาย Omnibus Law on Job Creation ที่เปิดให้ใช้บริการแล้ว จะเป็นส่วนสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศได้
.
ปฏิเสธไม่ได้ว่าอินโดนีเซียเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดในบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียน เนื่องจากมีประชากรประมาณ 270 ล้านคนซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 4 ของโลก โดยไทยเป็นประเทศที่ลงทุนในอินโดนีเซียมากเป็นอันดับที่ 11 คิดเป็นมูลค่า 90.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2/2564 และลงทุนมากเป็นอันดับที่ 10 ในครึ่งแรกของปี 2564 ซึ่งคิดเป็นมูลค่า 318.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ดังนั้นผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (2) อุตสาหกรรมส่วนประกอบของเครื่องจักรกล และ (3) อุตสาหกรรมเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ ควรพิจารณาและศึกษาช่องทางการส่งออกสินค้าขยายไปยังตลาดอินโดนีเซียเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศอินโดนีเซียมีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลัง COVID-19 และความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศที่เพิ่มมากขึ้นไปด้วย
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา