กรรมการบริหารศูนย์วิจัย Socio-Economic Research Centre (SERC) มาเลเซีย ได้วิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจมาเลเซียในไตรมาส 2/2564 ว่า GDP ปี 2564 คาดว่าจะเติบโตที่ระดับร้อยละ 4 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (headline inflation) ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 คาดว่าจะลดลงมาอยู่ ระดับปานกลาง หลังจากการพุ่งทะยานถึงร้อยละ 4.5 ในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคมที่ผ่านมา ทําให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในภาพรวมของปี 2564 เพิ่มขึ้นที่ประมาณร้อยละ 3-4
.
ปัจจุบัน อัตราการติดเชื้อ COVID-19 ที่สูงขึ้นและมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อ สายพันธุ์ใหม่ เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักและยาวนาน โดยมูลค่ารวมของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 9 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2563 ถึงวันที่ 28 มิถุนายน 2564 คิดเป็นร้อยละ 6 ของ GDP ส่วนระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ภายในสิ้นปี 2564 คาดว่าอยู่ที่ร้อยละ 58.5 และยังอยู่ในเพดานที่กําหนดไว้ร้อยละ 60 ทั้งนี้ รัฐบาลมาเลเซียอยู่ระหว่างการพิจารณาความจําเป็นที่อาจจะต้องเพิ่มระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP เป็นร้อยละ 65
.
ในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2564 เป็นช่วงเวลาสําคัญในการคาดการณ์การฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผลการเร่งฉีดวัคซีนที่สูงขึ้น ซึ่งกรรมการ SERC มองว่านโยบายการเงินในปัจจุบัน มีความเหมาะสมและสามารถรองรับผลกระทบจากการแพร่ระบาด ต่อภาคธุรกิจและครัวเรือนได้ดี และแนะนำให้รัฐบาลมีการคงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายข้ามคืน (Overnight Policy Rate – OPR) ไว้ที่ร้อยละ 1.75 ไปตลอดปี เนื่องจากการปรับลด OPR ในขณะนี้ อาจไม่สามารถช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายภาคครัวเรือน หรือการกู้ยืมของภาคธุรกิจได้ตามที่คาดหวัง
.
การเข้าร่วม RCEP ที่ส่งผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมาเลเซีย
.
การเข้าร่วม RCEP ของมาเลเซีย จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะ การลดภาษีระหว่างประเทศสมาชิก การเพิ่มวงเงินเงินทุนต่างประเทศ (Foreign funding limits) ของภาคบริการ การมีกฏว่าด้วยถิ่นกําเนิดสินค้าร่วมกัน (Rules of Origin – ROO) ซึ่งจะช่วยอํานวยความสะดวกในการส่งส่วนประกอบของสินค้าและลดต้นทุนการผลิต และคาดการณ์ว่ามูลค่าธุรกิจ e-Commerce ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเพิ่มถึง 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี ค.ศ. 2025 และจะมีบทบาทสําคัญยิ่งในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในเขตเศรษฐกิจพิเศษ
.
นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้รัฐบาลมาเลเซียเร่งให้สัตยาบันต่อ RCEP โดยเร็ว เพื่อเร่งการฟื้นตัวของ เศรษฐกิจประเทศ รวมทั้งสร้างความเข้าใจกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะ SMEs เกี่ยวกับประโยชน์ที่ภาคธุรกิจจะได้รับจาก RCEP
.
ด้านผลกระทบของ RCEP ต่อแต่ละภาคส่วนเศรษฐกิจอาจไม่เท่ากัน โดยกลุ่มโทรคมนาคม การธนาคารและสินเชื่อ และธุรกิจที่ปรึกษา จะได้รับประโยชน์จากความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างประเทศสมาชิกที่แน่นแฟ้นขึ้น ในขณะที่กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์จากยาง พลาสติก เครื่องจักรและอุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้า สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม สินค้าไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ จะเผชิญกับการแข่งขันจากประเทศสมาชิก RCEP ที่มีต้นทุน การผลิตต่ํากว่ามาเลเซีย ดังนั้น การเน้นย้ำถึงความสําคัญของการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของมาเลเซียจึงเป็นประเด็นสำคัญ
.
ด้านอุปสรรคและความท้าทายของ SMEs มาเลเซีย เช่น ขาดความรู้ และทักษะด้าน IT กฎ ระเบียบ และข้อกําหนดเกี่ยวกับ e-Commerce สัญญาณเครือข่ายอินเตอร์ที่ช้าและไม่เสถียร SERC จึงแนะนําให้ผู้ประกอบการมาเลเซียลงทุนใน R&D และนวัตกรรมที่มุ่งผลิตผลิตภัณฑ์สีเขียวและยั่งยืน ตามทิศทางความนิยมของโลกในปัจจุบัน
.
จากการสํารวจความเห็นของภาคธุรกิจมาเลเซีย พบว่า ร้อยละ 45.5 เห็นว่า RCEP จะเป็นตัวเร่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมาเลเซีย และมองว่าผลกระทบ 3 ลําดับแรกจากการเข้าร่วม RCEP ได้แก่ การเข้าถึงตลาดสินค้าและบริการมากขึ้น (ร้อยละ 40.8) การแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น (ร้อยละ 37.4) และโอกาสในการร่วมลงทุนกับต่างชาติที่เพิ่มขึ้น (ร้อยละ 37.1)
.
มาเลเซีย นับเป็นหนึ่งในประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุด โดยเปิดกว้างด้านการค้า การลงทุน และมอบภาษีให้เปล่ากว่า 60 – 100% แก่ผู้ลงทุนชาวต่างชาติ ทำให้สามารถลดต้นทุนด้านการขนส่งได้มาก โดยเฉพาะภาคการค้าส่ง ค้าปลีก ซึ่งนิยมนำเข้าสินค้าที่หลากหลายจากไทย เช่น สินค้าทางการเกษตร ที่มียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าตัวในช่วงปีนี้ รวมถึงคอมพิวเตอร์ น้ำมันดิบ และเคมีภัณฑ์ ขณะที่ในปัจจุบัน ชาวมาเลเซียหันมาบริโภคอาหารที่มีคุณภาพ อาหารแปรรูป ขนมบรรจุซอง เครื่องดื่มชูกำลังมากขึ้น จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะใช้ประโยชน์ของสินค้าเกษตรที่โดดเด่นของไทยในการส่งออก หรือร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการมาเลเซีย นอกจากนี้ มาเลเซียยังมีด้านที่น่าลงทุนและจับตามองในภาค SMEs ซึ่งผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาส่งออกแรงงานด้าน IT และดิจิทัล ที่กำลังเป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมแรงงานมาเลเซีย และด้านอื่นๆที่น่าสนใจ เช่น การขยายตลาดสินค้าฮาลาลสู่มาเลเซีย การลงทุนด้านพลังงานใน Sarawak Corridor of Renewable Energy (SCORE) โดยหากบรรลุข้อตกลงในการเข้าร่วม RCEP แล้ว จะสามาถดึงดูดนักลงทุกจากต่างชาติได้อย่างมาก
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์