เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 นาย Jerome Powell ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ได้แถลงการณ์ถึงภาพรวมเศรษฐกิจและนโยบายด้านการเงินของสหรัฐอเมริกา ว่าภาคเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เริ่มปรับตัวดีขึ้น แต่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐอเมริกาได้เผยตัวเลข GDP ในไตรมาสที่ 2 ว่าขยายตัวในอัตราร้อยละ 6.5 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงที่สุดอันดับที่ 2 นับตั้งแต่ปี 2546 รองจาก ไตรมาสที่ 3 ปี 2563
.
ส่วนการใช้จ่ายภาคครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังการกลับมาเปิดทําการของภาคเศรษฐกิจและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ โดยภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงความแข็งแกร่ง ในขณะที่การลงทุนของภาคธุรกิจยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ บางอุตสาหกรรมยังคงประสบปัญหาข้อขัดข้องในระยะสั้นของอุปสงค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่กําลังประสบปัญหาด้านการผลิต เนื่องจากสภาวะการขาดแคลน semiconductors ทั่วโลก
.
สำหรับภาคตลาดแรงงานมีสภาวะที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อุปทานในตลาดแรงงานอยู่ในระดับสูง ดังเห็นได้จาก ตัวเลขการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นเดือนมิถุนายนถึง 850,000 ตําแหน่ง โดยเฉพาะในภาคสันทนาการและภาคการบริการ อย่างไรก็ดี อัตราการว่างงานล่าสุด (เดือนมิถุนายน 2564) ร้อยละ 5.9 ยังคงห่างไกลจากเป้า ซึ่งแสดงให้เห็นถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงาน โดยมีสาเหตุหลักมาจากความกังวลต่อการได้รับเชื้อ COVID-19 ความจําเป็นในการเลี้ยงดูบุตร และการได้รับเงินสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือผู้ว่างงาน ทั้งนี้ คาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะเริ่มคลี่คลายลง ส่งผลให้กลุ่มลูกจ้างกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
.
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยราคาสินค้าหลายประเภทปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากปัญหาในห่วงโซ่อุปทานจากข้อจํากัดด้านการผลิต ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้างกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ หากปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขแล้ว คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะสามารถปรับตัวลดลงสู่เป้าหมาย ระยะยาวที่ร้อยละ 2 โดยขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการเปิดเศรษฐกิจ
.
นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ยังคงก่อให้เกิดสภาวะเสี่ยงต่อภาคเศรษฐกิจ เนื่องจาก อัตราการฉีดวัคซีนที่ลดลง และไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตาที่เริ่มจะแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในบางพื้นที่ โดยธนาคารกลางสหรัฐอเมริกายังคงมุ่งเน้นการเพิ่มการจ้างงานสูงสุดและการรักษาเสถียรภาพทางด้านราคา โดยได้กําหนดอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายในระยะยาวไว้ที่ร้อยละ 2 และจะยังคงใช้มาตรการนโยบายด้านการเงินที่ผ่อนคลาย ต่อไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
.
ซึ่งตลาดสหรัฐถือเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย โดยมีสัดส่วนตลาดที่ใหญ่ที่สุดของการส่งออกรวมไปทั่วโลก การที่เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาเริ่มปรับตัวดีขึ้นนั้น จะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจและผู้ประกอบการไทยที่จะสามารถส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกาได้มากขึ้นอย่างแน่นอน และสำหรับสินค้าและบริการไทยในตลาดสหรัฐอเมริกาที่มีความต้องการในขณะนี้ ประกอบด้วย สินค้าอาหารเกษตรอาหารแปรรูป อาหารทะเลและสินค้าแปรรูปแช่แข็ง เนื่องจาก สัดส่วนการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในสหรัฐอเมริกามีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้คนเริ่มออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น นอกจากนี้ หากสภา Congress สามารถผ่านร่างกฎหมายโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐได้สําเร็จ ก็จะส่งผลให้เกิดการอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาอีกจํานวนมาก พร้อมทั้งเป็นการเพิ่มอุปสงค์ในระบบเศรษฐกิจอีกด้วย ซึ่งจะส่งผลให้สถานการณ์เงินเฟ้อปรับตัวไปในทางที่ดีขึ้น