การค้าทวิภาคีไทย – กัมพูชา เดือนมกราคม – พฤษภาคม 2564
.
ในเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2564 ไทย – กัมพูชา มีมูลค่าการค้าทวิภาคีรวม 3,365.80 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 5.26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2563 การส่งออกของไทยไปยังกัมพูชา มีมูลค่า 2,906 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกัน ในปี 2563 ร้อยละ 2.78 โดยมีสินค้าส่งออกสูงสุด ได้แก่ น้ํามันสําเร็จรูป รองลงมาได้แก่ เครื่องดื่ม รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ น้ําตาลทรายและเคมีภัณฑ์ตามลําดับ ส่วนการนําเข้าของไทยจากกัมพูชา มีมูลค่า 459.80 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากช่วงเดียวกัน ในปี 2563 ร้อยละ 36.61 โดยสินค้าที่นําเข้าสูงสุด ได้แก่ ผัก ผลไม้ รองลงมา ได้แก่ สินแร่โลหะ ลวดและ สายเคเบิล เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเสื้อผ้าสําเร็จรูปตามลําดับ ซึ่งสาเหตุหลักที่การส่งออกจากกัมพูชาไปไทยลดลง ได้แก่ (1) ปริมาณการส่งออกที่ลดลงจากบริเวณด่านพรมแดนไทย-กัมพูชาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 (2) มาตรการ lockdown ของกัมพูชา เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 ทําให้การผลิตของกัมพูชาลดลง
.
สถานะการจัดทําและเจรจาความตกลงการค้าเสรีทวิภาคีของกัมพูชา
.
1. ความตกลงการค้าเสรีทวิภาคีกัมพูชา – จีน
คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญรัฐสภากัมพูชา ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบความตกลงการค้าเสรีทวิภาคี กัมพูชา – จีน แล้ว ซึ่งกระทรวงพาณิชย์กัมพูชา จะเสนอร่างความตกลงให้รัฐสภากัมพูชา เพื่อพิจารณาต่อไป โดยคาดว่าความตกลงจะมีผลบังคับใช้ในช่วงต้นปี 2565 ทั้งนี้ ความตกลงดังกล่าวจะเอื้อให้กัมพูชาสามารถเข้าถึงตลาดส่งออกสินค้าเกษตร สินค้าหัตถกรรม และสินค้าประเภทอื่น ๆ ได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงส่งเสริมให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นในกัมพูชา สามารถส่งออกสินค้าและบริการสู่ตลาดจีน ได้รับประโยชน์จากการถ่ายทอดเทคโนโลยี ความรู้ ทักษะอื่น ๆ และดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเพิ่ม
.
2. ความตกลงการค้าเสรีทวิภาคีกัมพูชา- เกาหลีใต้
กัมพูชา และ เกาหลีใต้ ได้สรุปการเจรจาความตกลงสําเร็จเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และมีแผนจะลงนามอย่างเป็นทางการในช่วงการประชุม ASEM ครั้งที่ 13 ซึ่งเดิมมีกําหนดจัดช่วงกลางปี 2564 อย่างไรก็ดี เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 ในกัมพูชามีความรุนแรงมากรัฐบาลกัมพูชาจึงเลื่อนการจัดกการประชุมASEM ครั้งที่ 13 ออกไปก่อน และปัจจุบันยังไม่มีการกําหนดวันลงนามความตกลงอย่างเป็นทางการ ซึ่งเมื่อความตกลงดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้ว มูลค่าการ ส่งออกสินค้าจากกัมพูชา ไปยังเกาหลีใต้จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากสิทธิประโยชน์ทางศุลกากรที่ได้รับจากเกาหลีใต้
.
แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา
ธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และสํานักงานวิจัยเศรษฐกิจ มหภาคของภูมิภาคอาเซียน + 3 (AMRO) คาดการณ์ว่ากัมพูชาจะมีอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 4 – 4.1 ในปี 2564 โดยก่อนหน้านี้อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของกัมพูชา หดตัวลงร้อยละ 3.1 ในปี 2563 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19
.
ส่วนอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นในปี 2564 ของกัมพูชานั้น เป็นผลจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก ทําให้กัมพูชามียอดการส่งออกเพิ่มขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลกัมพูชายังสามารถรับมือสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 และผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว โดยส่งเสริมให้มีการผลิต การส่งออก และกระตุ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนแสวงหาตลาดส่งออกและแหล่งวัตถุดิบใหม่ในยามที่สภาวะเศรษฐกิจโลกชะงัก
.
กัมพูชา นับเป็นประเทศที่มีน่าลงทุนอย่างมากสำหรับผู้ประกอบการไทยและต่างชาติ เนื่องจากมีภูมิประเทศที่เชื่อมติดกับไทย และมีศักยภาพในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การก่อสร้าง การท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ และการเกษตร โดยไม่จำกัดการถือครองหุ้น เก็บภาษีกำไรจากนักลงทุนต่างชาติในอัตราที่ต่ำ และมีการยกเว้นภาษีนำเข้าอีกด้วย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาร่วมลงทุนกับบริษัทของกัมพูชา เพื่อที่เมื่อความตกลงการค้าเสรีทวิภาคีระหว่างกัมพูชา-จีน และ กัมพูชา-เกาหลีใต้มีการเจรจาสำเร็จ จะสามารถดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ และเพิ่มโอกาสในการส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้ ซึ่งมีกำลังการซื้อที่สูงได้อย่างมาก
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ