GDP และกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ในช่วงเดือนมีนาคม – มิถุนายน 2564 การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของอาร์เจนตินาชะลอตัวลงเนื่องจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่กลับมาเข้มงวดอีกครั้ง อย่างไรก็ดี GDP ได้เพิ่มสูงขึ้นกว่าไตรมาสก่อนหน้า 2.6% และสูงขึ้นกว่าปีก่อนหน้า 2.5% โดยตัวชี้วัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจรายเดือน (Monthly Estimator of Economic Activity – EMAE) พบว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในอาร์เจนตินาปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น 8.2% เช่นกันเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 โดยสาขาที่เพิ่มสูงมาขึ้นที่สุดคือ (1) การก่อสร้าง เพิ่มขึ้น 221.5% (2) โรงแรมและร้านอาหาร เพิ่มขึ้น 207.7% (3) อุตสาหกรรมการผลิต เพิ่มขึ้น 55.1% (4) การค้าส่งและค้าปลีก เพิ่มขึ้น 41.9% ในขณะที่สาขาเกษตรกรรม ปศุสัตว์และป่าไม้ลดลง 1.9% เช่นเดียวกับสาขาประมงที่ลดลง 0.5%
.
อัตราความยากจน
สำนักงานสถิติแห่งชาติอาร์เจนตินา หรือ INDEC รายงานว่า อัตราความยากจนในอาร์เจนตินาในปี 2564 เพิ่มเป็น 42% ของจำนวนประชากรประมาณ 12 ล้านคน และความยากจนสุดโต่ง (extreme poverty) อยู่ที่ 10.5% เทียบเป็นจำนวนประชากรประมาณ 3 ล้านคน และเด็กและเยาวชน 57.7% อยู่ในภาวะยากจน
.
อัตราการว่างงาน
ในช่วงเดือนมีนาคม 2564 อัตราการว่างงานในประเทศอยู่ที่ 10.2% จากแรงงานทั้งหมดประมาณ 1.3 ล้านคน ซึ่งลดลง 11% เมื่อเทียบกับไตรมาสสุดท้ายของปี 2563
.
ปัจจัยเงินเฟ้อ
เงินเฟ้อยังคงเป็นปัญหาสำคัญของเศรษฐกิจอาร์เจนตินาแม้จะมีแนวโน้มที่ปรับลดลงบ้าง โดยในช่วงครึ่งปีแรกของ 2564 อัตราเงินเฟ้อสะสมอยู่ที่ 25.39 ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้น 21.5% ในเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2564 คิดเป็น 48.8% เมื่อเทียบกับปี 2563 โดยสาเหตุหลักของการเพิ่มสูงขึ้นมาจากการเพิ่มขึ้นของการคมนาคมคิดเป็น 6% และสาขาสุขภาพและสาธารณสุขคิดเป็น 4.8% อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์คิดเป็นประมาณ 3.1% ทั้งนี้ ในปี 2564 รัฐบาลตั้งเป้าหมายการควบคุมอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระหว่าง 29% – 33% แต่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าในความเป็นจริงแล้ว อัตราเงินเฟ้อน่าจะอยู่ที่ประมาณ 40% – 50% อนึ่ง รัฐบาลอาร์เจนตินาให้สัญญาว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำจะสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ ส่วนสหภาพแรงงานร่วมกันเรียกร้องการเพิ่มค่าแรงกว่า 45% เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น
.
การค้ากับต่างประเทศ
ในช่วงเดือนมกราคม – พฤษภาคม 2564 มูลค่าการส่งออกของอาร์เจนตินาอยู่ที่ 28,314 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มสูงขึ้น 24.4% หรือ 5,547 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากปริมาณสินค้าส่งออกเพิ่มขึ้น 3.2% และราคาสินค้าสูงขึ้น 20.5% รวมไปถึงมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 22,690 ล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งเพิ่มสูงขึ้น 42.3% หรือ 6,749 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากปริมาณสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น 32.4% และราคาสินค้าสูงขึ้น 6% โดยมูลค่าการค้าโดยรวมเพิ่มสูงขึ้น 31.8% ซึ่งมีมูลค่ารวม 51,004 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอาร์เจนตินาได้ดุลการค้า 5,624 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ สินค้าส่งออกที่สำคัญในช่วงที่ผ่านมาที่เพิ่มสูงขึ้น คือ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ (48.5%) ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม อาทิ วัสดุยานยนต์ เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ (32%) ในขณะที่การส่งออกน้ำมันและพลังงานลดลง 0.7% สินค้าปฐมภูมิ (primary products) ลดลง 2.4% เนื่องจากปริมาณการขายเมล็ดพันธุ์ ผลไม้และผักสดลดลง สินค้านำเข้าที่สำคัญ คือ สินค้าทุนเพิ่มขึ้น 45.4% สินค้าขั้นกลาง อาทิ สินค้าที่ใช้เป็นวัตถุดิบผลิตสินค้าอื่น ๆ (45.8%) ส่วนประกอบสำหรับสินค้าทุน (53.7%) สินค้าเพื่อการบริโภค (17.9%) ยานยนต์ (+46.4%) น้ำมันและน้ำมันหล่อลื่น (28.1%) อนึ่ง มูลค่าการค้ากับต่างประเทศของไทยในช่วงมกราคม – มีนาคม 2564 ไทยส่งออก 64,148 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 63,632.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
.
ประเทศคู่ค้าของอาร์เจนตินา
ประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่ง ได้แก่ (1) บราซิล โดยมีอัตราการส่งออก 3,987 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (2) จีน โดยมีการส่งออก 2,199 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3) สหรัฐอเมริกา โดยมีอัตราการส่งออก 1,647 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามลำดับ โดยมูลค่าการค้าโดยรวมของทั้งสามประเทศกับอาร์เจนตินาคิดเป็น 27.7% ของการส่งออกทั้งหมดของอาร์เจนตินา และ 49.6% ของการนำเข้าทั้งหมด
.
การค้ากับประเทศในภูมิภาคอาเซียน
อาร์เจนตินาได้ดุลการค้ากับภูมิภาคอาเซียนโดยรวมที่ 1,730 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นดุลการค้าของอาร์เจนตินาที่มากที่สุดเมื่อเทียบกับการค้าของอาร์เจนตินากับภูมิภาคอื่น ๆ โดยอาร์เจนตินาส่งออก 3,203 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยมีการเติบโตเพิ่มขึ้น 401 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 และนำเข้า 1,474 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเพิ่มขึ้น 479 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ทั้งนี้ ประเทศอาเซียนที่เป็นคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของอาร์เจนตินา คือ เวียดนามที่คิดเป็นกว่า 41.8% ของการค้าอาร์เจนตินา-อาเซียนทั้งหมด ในส่วนของการค้าไทย-อาร์เจนตินา ช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2564 อยู่ที่ 820 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 566 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีการเติบโตเพิ่มขึ้น 63.81% และนำเข้า 254 ล้านดอลลาร์สหรัฐซึ่งลดลง 15.32%
.
ปฎิเสธไม่ได้ว่าตลาดในทวีปลาตินอเมริกาและแคริบเบียน โดยเฉพาะประเทศอาร์เจนตินาซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ในทวีปอเมริกาใต้ ยังคงมีศักยภาพสำหรับผู้ประกอบการไทยในการขยายธุรกิจเข้าไปสู่ภูมิภาคนี้ได้เป็นอย่างมาก โดยในปัจจุบันมีหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สภาธุรกิจไทยในลาตินอเมริกาที่ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานและสนับสนุนหลักในการแสวงหาตลาดที่มีศักยภาพ ซึ่งรัฐบาลอาเจนตินาในปัจจุบันให้ความสนใจกับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และรถยนต์ EV มากขึ้น ดังนั้น จึงถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมเหล่านี้ที่จะขยายการค้าและการลงทุนเข้าไปในประเทศอาร์เจนตินาและใกล้เคียงมากยิ่งขึ้น
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบัวโนสไอเรส