เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 สำนักเลขาธิการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติสิงคโปร์ (National Climate Change Secretariat – NCCS) คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจสิงคโปร์ (Economic Development Board – EDB) สำนักงานตลาดพลังงานสิงคโปร์ (Energy Market Authority – EMA) การท่าเรือแห่งสิงคโปร์ (Maritime & Port Authority of Singapore – MPA) และสำนักงานการบินพลเรือนแห่งสิงคโปร์ (Civil Aviation Authority of Singapore – CAAS) ได้เผยแพร่ข่าวสารนิเทศร่วม (Joint Press Release) เรื่อง แนวทางการพัฒนาพลังงานทดแทนคาร์บอนต่ำและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องของสิงคโปร์ เนื่องจากสิงคโปร์มีข้อจำกัดด้านทรัพยากรธรรมชาติและพื้นประเทศ รัฐบาลสิงคโปร์จึงพยายามศึกษาเรื่องการพัฒนาพลังงานทดแทนและเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตหรือนำเข้าพลังงาน ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำในอนาคต และช่วยให้สิงคโปร์บรรลุเป้าหมายด้านสภาพอากาศตามแผน Enhanced 2030 Nationally Determined Contribution (NDC) ซึ่งรัฐบาลได้ให้คำมั่นว่าภายในปี 2573 จะลดความเข้มข้นของการปล่อยมลพิษลงร้อยละ 36 (จากปริมาณมลพิษในปี 2548) และการพัฒนาการปล่อยมลพิษต่ำในระยะยาว (Long-Term Low-Emissions Development – LEDS)
.
รัฐบาลสิงคโปร์คาดว่าจะมีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดในปี 2573 จึงตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษนี้ ทั้งนี้ รัฐบาลสิงคโปร์กำลังติดตามผลการวิจัยและศึกษาความเป็นไปได้ 2 หัวข้อ ดังนี้
.
1.การศึกษาการนำเข้าพลังงานไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำและการประยุกต์ใช้ในสิงคโปร์ เนื่องจากไฮโดรเจนเป็นพลังงานเชื้อเพลิงที่มีประสิทธิภาพสูง ผลิตคาร์บอนต่ำ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สิงคโปร์ใช้ไฮโดรเจนในการผลิตไฟฟ้า การขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ และกระบวนการทางอุตสาหกรรมบางชนิด การที่สิงคโปร์มีทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนจำกัด ก่อให้เกิดความท้าทายในการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวจากไฟฟ้าสีเขียวภายในประเทศ ดังนั้น สิงคโปร์จำเป็นต้องจัดหาแหล่งไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำที่ราคาไม่สูง โดยอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ 3 ช่องทาง คือ (1) การนำเข้าไฮโดรเจนผ่านการขนส่งทางเรือ (2) การต่อท่อไฮโดรเจนรับจากประเทศเพื่อนบ้าน (3) การผลิตไฮโดรเจนเองในประเทศ เช่น ผลิตจากการปฏิรูปก๊าซมีเทนด้วยไอน้ำ (SMR) การแยกน้ำ (Electrolysis) โดยใช้พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนที่นำเข้า หรือการแปรสภาพเป็นก๊าซชีวมวล ทั้งนี้ รัฐบาลสิงคโปร์จะยังคงติดตามการพัฒนาในทุกทางเลือกเพื่อตัดสินใจใช้ช่องทางที่มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ
.
2.การศึกษาเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ และการจัดเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilisation, and Storage CCUS)การใช้พลังงานที่ไม่ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือการลดคาร์บอน (Decarbonisation) เป็นเส้นทางสู่ภาคพลังงานและเคมีภัณฑ์ของสิงคโปร์ จากการที่ไฮโดรเจนเป็นสารที่จัดเก็บและขนส่งยาก รัฐบาลจึงกำลังศึกษาเทคโนโลยีด้านการดักจับและการจัดเก็บคาร์บอน (CCS) เช่น ดักจับและเก็บไว้ในธรณีวิทยาใต้พื้นผิวที่เหมาะสม และเทคโนโลยีด้านการดักจับและการใช้ประโยชน์ (CCU) เช่น การแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์อย่าง การแปลงเป็นแร่ (mineralisation) และสามารถใช้วัตถุดิบจากของเสีย หรือจากแร่ธาตุธรรมชาติ มาผลิตวัสดุก่อสร้าง หรือการแปลงเป็นสารเคมีและเชื้อเพลิงสังเคราะห์ เช่นน้ำมันก๊าดและเมทานอลซึ่งมีศักยภาพในการใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานและเรือเดินทะเล
.
ผลการศึกษานี้จะนำไปใช้ในการวิจัย การพัฒนาและการสาธิต (RD&D) ที่มีอยู่ของหน่วยงานรัฐบาล เช่น โครงการเงินทุนวิจัยพลังงานคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Energy Research, Funding Initiative – FI) จำนวน 49 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งตั้งขึ้นจากความร่วมมือของหน่วยงานเพื่อวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัย (A*STAR) EDB EMA NCCS และมูลนิธิวิจัยแห่งชาติ (National Research Foundation – NRF) เพื่อเป็นแนวทางแก่กลุ่มภาคเอกชนและกิจการร่วมค้า เช่น บริษัท Keppel DC บริษัท Chiyoda บริษัท Itochu ในการหันมาให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานคาร์บอนต่ำ และการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานไฮโดรเจน นอกจากนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ยังพร้อมเปิดโอกาสต่อความร่วมมือศึกษาวิจัยในด้านดังกล่าวมากขึ้น รวมถึงการนำร่องเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในทุกภาคส่วน เช่น การเดินเรือ การบิน การเคลื่อนย้ายอุตสาหกรรม และพลังงาน
.
สิงคโปร์จะแสวงหาพันธมิตรนานาประเทศเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำใหม่ ๆ ความร่วมมือดังกล่าว อาจรวมถึงการมีส่วนร่วมในการกำหนดกฎระเบียบระหว่างประเทศ มาตรฐาน การรับรองเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ และความร่วมมือใน RD&D ปัจจุบัน สิงคโปร์ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) กับออสเตรเลียเกี่ยวกับเทคโนโลยีการปล่อยมลพิษต่ำ MoU กับชิลีเรื่องไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำและหารือกับประเทศอื่น ๆ อย่างจริงจังและต่อเนื่อง
.
ในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่เพียงประเทศสิงคโปร์เท่านั้นที่หันมาให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ยังรวมไปถึงประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป รวมทั้งไทย โดยรัฐบาลไทยได้มีการผลักดันการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนให้สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) ผ่านการให้สิทธิพิเศษด้านภาษีกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่ผลักดันนโยบาย BCG เช่น ธุรกิจด้านบรรจุภัณฑ์กระดาษ นอกจากนี้ ยังถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการที่สนใจทำธุรกิจด้านความยั่งยืน พลังงานสะอาด พลังงานไฮโดรเจน ที่จะสามารถต่อยอดไปได้ในอนาคต รวมถึงผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ต้องหันมาปรับตัวให้เข้ากับกระแสด้านสิ่งแวดล้อมด้วย
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์