ช่วงเดือน พฤษภาคม – มิถุนายน 2564 Foreign Press Center Japan (FPU) ได้จัดสัมมนาออนไลน์เกี่ยวกับการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของญี่ปุ่น ได้แก่ (1) Economic Recovery and Decarbonization: Can Japan Set an Example?” บรรรยายโดยนาย SUEYOSHI Takejiro ผู้แทนจากองค์กร Japan Climate Initiative (JCI) เมื่อ 26 พฤษภาคม 2564 และ (2) Toward a Decarbonized Society in 2050: How the Business Community Will Act” บรรรยายโดยนาย SAKURADA Kengo ประธาน Keizai Doyukai (Japan Association of Corporate Executives) ซึ่งดำรงตำแหน่ง President & CEO ของ บริษัท Sompo Holdings ด้วย โดยแบ่งเป็น 4 ประเด็นหลัก ได้แก่
.
1. นโยบายของญี่ปุ่นที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อเดือนเมษายน 2564 รัฐบาลญี่ปุ่นได้ปรับการตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากเดิมลดลงร้อยละ 26 ให้ได้ร้อยละ 46 (จากระดับของปี 2556) ภายในปี 2573 และจะก้าวไปสู่สังคม Carbon Neutral ภายในปี 2593 ซึ่งสอดคล้องกับ Green Growth Strategy ที่ METI ได้จัดทำ
.
2. ปัจจัยที่จะทำให้ญี่ปุ่นบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้แก่
2.1 การวางฐานรากสำหรับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นจำเป็นต้องนำในการวางนโยบายและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อให้การจัดสรรพลังงานทดแทนจำนวนมากเป็นไปได้อย่างเสถียรและมีราคาถูก และช่วยสนับสนุนกลุ่มอุตสาหกรรมดั้งเดิมที่เป็นตัวการสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานทดแทนได้ เช่น สนับสนุนเงินกู้สำหรับการเปลี่ยนผ่าน ซึ่งได้มีความเห็นว่า หากปล่อยให้ภาคเอกชนดำเนินการปรับตัวกันเองจะไม่เกิดความคืบหน้า
.
2.2 การเสริมสร้างขีดความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้ว เช่น พลังงานไฮโดรเจน และการขยายการลงทุนในสาขาที่ญี่ปุ่นยังมีศักยภาพการแข่งขันน้อย เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และ พลังงานลม เพื่อให้เข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีจากต่างประเทศสำหรับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมสาขาดังกล่าวของญี่ปุ่น
.
2.3 การปรับนโยบายการเงิน เช่น การขยายความช่วยเหลือ Transition Finance การจัดเก็บภาษีคาร์บอน การให้เงินสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการที่มีผลลัพธ์ตามนโยบาย Green Innovation Fund รวมทั้งการเพิ่มการลงทุนในภาคเอกชนของญี่ปุ่น
.
2.4 รัฐบาลญี่ปุ่นต้องเป็นผู้นำหลัก และ มีการวางนโยบายร่วมกันจากทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนของแต่ละอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหนักซึ่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นจำนวนมาก
.
3. พัฒนาการของญี่ปุ่นในการสร้างสังคม Carbon Neutral ซึ่งการดำเนินตามนโยบาย Net Zero เริ่มขึ้นที่กรุงโตเกียว เมืองเกียวโต และเมืองโยโกฮามา ซึ่งต่อมาหลายภาคส่วนทั่วประเทศได้สนองตอบนโยบายดังกล่าว โดยสถานะเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2564 มีองค์กรท้องถิ่นจำนวน 368 แห่ง ประกาศว่าจะดำเนินนโยบาย Net Zero นอกจากนี้ มีบริษัทญี่ปุ่นให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการ “Renewable Energy 100% (RE100)” เพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันโครงการนี้มีผู้ประกอบธุรกิจจากทั่วโลกเข้าร่วมจำนวน 310 แห่ง
.
4. ความท้าทายในการสร้างสังคม Carbon Neutral ซึ่งได้แก่การที่ญี่ปุ่นยังต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ นาย SUEYOSHI (JCI) มองว่าญี่ปุ่นยังมีด้านที่เป็นจุดอ่อน ได้แก่ การหารือเกี่ยวกับหลักการยังไม่เพียงพอ การขาดความสนใจในการกำหนดกฎระเบียบ การขาดเวทีสำหรับการอภิปรายเรื่อง Carbon Neutral อย่างเสรี และการขาดบูรณาการด้านนโยบาย
.
จากนโยบายดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการไทยที่ร่วมลงทุนกับญี่ปุ่นควรศึกษาและติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากในขณะนี้ ประเทศไทยยังไม่มีการยกระดับเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เฉกเช่นประเทศญี่ปุ่น จีน และ เกาหลีใต้ หากแต่มีเป้าหมายพัฒนาอุตสาหกรรมไทยสู่การเป็นเมืองเศรษฐกิจสีเขียว (Green Industry) 100% ภายในปี 2569 และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 20 – 25% ภายในปี 2573 โดยภาครัฐไทย และ องค์กรรัฐวิสาหกิจยังได้เพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน โดยให้สิทธิพิเศษด้านภาษีเงินได้นิติบุคคล 5-8 ปี แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่ผลักดันนโยบาย BCG ของไทย เช่น บรรจุภัณฑ์พลาสติก บรรจุภัณฑ์กระดาษและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังควรติดตามมาตรการการบังคับการติดฉลากคาร์บอน (Carbon Label) ของญี่ปุ่นและประเทศอื่นๆ อีกด้วย เพื่อพัฒนาความร่วมมือด้านการส่งออกสินค้าไทย และยกระดับการมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติของไทยในอนาคต
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว
.
แหล่งที่มา:
https://www.prachachat.net/economy/news-707161