คณะกรรมาธิการยุโรปได้เผยแพร่รายงานความสามารถในการแข่งขันด้านนวัตกรรมของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (European Innovation Scoreboard – EIS) ประจำปี ดังนี้
.
1. รายงาน EIS ช่วยประเมินจุดแข็งและจุดอ่อนของระบบนวัตกรรมในแต่ละประเทศ พร้อมทั้งระบุถึงประเด็นที่แต่ละประเทศควรให้ความสนใจและพัฒนา โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ (1) ผู้นำนวัตกรรม (Innovation leaders) (2) ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมระดับสูง (strong innovators) (3) ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมระดับกลาง (moderate innovators) (4) ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมรายใหม่ (emerging innovators)
.
2. ตามรายงาน EIS ประจำปี 2564 สวิตเซอร์แลนด์ได้รับการจัดอยู่ในกลุ่ม “ผู้นำนวัตกรรม” เช่นเดียวกับสวีเดน ฟินแลนด์ เดนมาร์ก และเบลเยียม โดยสวิตฯ ได้รับการจัดอันดับดีกว่าอีก 38 ประเทศ จากการที่ได้รับคะแนนระดับต้น ๆ ในตัวชี้วัด 7 ด้านจากทั้งหมด 12 ด้าน เช่น ทรัพยากรมนุษย์ (human resources) ระบบการวิจัยที่น่าดึงดูด (attractive research systems) และทรัพย์สินทางปัญญา (intellectual assets)
.
โดยมี 3 ตัวชี้วัดย่อยที่ได้รับคะแนนสูงสุด ได้แก่ (1) ความร่วมมือในการเผยแพร่ผลงานทางวิชาการระหว่างประเทศ (international scientific co-publications) (2) สัดส่วนนักศึกษาต่างชาติในระดับปริญญาเอก (foreign doctorate students) (3) การเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning) นอกจากนี้ รัฐซูริกยังได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 5 ของภูมิภาคที่มีนวัตกรรมโดดเด่นที่สุดในยุโรป รองจากเทศมณฑลสต็อกโฮล์ม เขตฟินแลนด์ใต้ รัฐบาวาเรียตอนบน และภูมิภาคเมืองหลวงของเดนมาร์ก ตามลำดับ
.
3. รายงานดังกล่าวบ่งชี้ว่า อัตราการพัฒนานวัตกรรมของสหภาพยุโรปโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากปี 2557 ร้อยละ 12.5 อีกทั้ง ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปกลุ่มที่มีระดับนวัตกรรมไม่สูงมีการพัฒนานวัตกรรมเร็วกว่ากลุ่มประเทศที่มีระดับนวัตกรรมสูง เช่น ไซปรัส เอสโตเนีย กรีช อิตาลี ลิทัวเนีย เป็นต้น ซึ่งมีอัตราการพัฒนานวัตกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ขึ้นไป ทำให้ช่องว่างของศักยภาพทางนวัตกรรมภายในกลุ่มแคบลง นอกจากนี้บางประเทศ เช่น นอร์เวย์ มีอัตราการพัฒนานวัตกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.9 เซอร์เบียร้อยละ 16.7 สหราชอาณาจักรร้อยละ 15.5 ตามลำดับ เป็นต้น
.
ในขณะที่สวิตฯ เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 7.7 โดยอัตราการพัฒนานวัตกรรมในช่วงหลังของสวิตฯ ที่ลดลงส่วนใหญ่มาจากการลดการสนับสนุนของภาครัฐต่อ (1) การพัฒนาและวิจัยของภาคธุรกิจ (2) การจ้างงานในกิจกรรมที่ใช้ความรู้เข้มข้น (knowledge-intensive) (3) การส่งออกภาคบริการที่ใช้ความรู้เข้มข้น (4) เทคโนโลยีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม
.
4. นอกจากนี้ ภาควิชาการของสวิตฯ แสดงความห่วงกังวลว่าการยุติการเจรจากรอบความตกลง Institutional Framework Agreement ระหว่างสวิตฯ และสหภาพยุโรปของฝ่ายสวิตเซอร์แลนด์ อาจจะกระทบต่อโอกาสในการเข้าร่วมกองทุน ความร่วมมือ หรือโครงการด้านการศึกษาวิจัยและนวัตกรรมของยุโรป เช่น โครงการ Horizon Europe ซึ่งจะส่งผลต่อศักยภาพของสวิตฯ ในด้านการศึกษาวิจัย การคิดค้นนวัตกรรม และการดึงดูดผู้มีความสามารถ ทำให้การพัฒนานวัตกรรมในสวิตฯ ชะงักงัน และสวิตฯ อาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติได้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสวิตฯ ได้รับเงินทุนจาก Horizon Europe มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศสมาชิกสมทบ (Associated non-EU country) ด้วยกัน โดย 2 ใน 3 ของเงินทุนดังกล่าวถูกนำไปใช้สนับสนุนการวิจัยในมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาล่าสุด สวิตฯ ถูกจัดเป็นประเทศที่สาม (Non-associated third country) ของ Horizon Europe ระหว่างปี 2564-2570 และจะถูกจำกัดขอบเขตในการขอรับทุนการวิจัยโดยตรงจากคณะกรรมาธิการยุโรป
.
ในส่วนของประเทศไทย มีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนวัตกรรมจำนวนมาก ตั้งแต่นวัตกรรมรายใหม่ (Emerging) ไปจนถึงผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมระดับสูง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพอย่างมาก ผู้ประกอบการไทยที่สนใจทำธุรกิจด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีควรติดตามพัฒนาการของสวิตเซอร์แลนด์และพิจารณาขยายธุรกิจไปสู่ตลาดเป้าหมายต่อไป
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น