มณฑลกวางตุ้งเป็นฐานการผลิตสำคัญของจีน โดยเมื่อปี 2563 มี GDP คิดเป็นร้อยละ 11 และมีมูลค่าการค้ากับต่างประเทศคิดเป็นร้อยละ 22 ของทั้งประเทศจีน ขณะที่ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของมณฑลกวางตุ้ง อยู่ที่ 9.6 แสนล้านหน่วยกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง คิดเป็นร้อยละ 9.2 ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศจีน โดยแบ่งเป็นพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตภายในมณฑลร้อยละ 70 และพลังงานไฟฟ้าจากภายนอกมณฑล เช่น ในมณฑลยูนนาน คิดเป็นร้อยละ 30 เป็นต้น ทั้งนี้ โครงสร้างการผลิตไฟฟ้าในมณฑลกวางตุ้ง แบ่งเป็นการผลิตจากถ่านหินร้อยละ 46.8 ก๊าซธรรมชาติร้อยละ 19 พลังงานนิวเคลียร์ร้อยละ 11.5 พลังน้ำร้อยละ 6.7 พลังลมร้อยละ 4.3 พลังแสงอาทิตย์ร้อยละ 4.1 และพลังงานอื่น ๆ ร้อยละ 7.6
.
ที่ผ่านมา มณฑลกวางตุ้งจึงประสบปัญหาไฟฟ้าไม่เพียงพออยู่เสมอในช่วงหน้าร้อน ซึ่งมีการใช้ไฟฟ้าสูง นำไปสู่การจำกัดการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรม อาทิ เมื่อปี 2551 มณฑลกวางตุ้งประสบปัญหาขาดแคลนไฟฟ้ารุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปี เนื่องด้วยภัยธรรมชาติจากพายุหิมะทางตอนเหนือของมณฑลกวางตุ้ง ส่งผลให้ต้องใช้มาตรการปิดโรงงานอุตสาหกรรมสัปดาห์ละ 3 วัน และล่าสุดในปีนี้ทางการได้ออกมาตรการกำหนดให้โรงงานในพื้นที่นครกว่างโจว เมืองตงก่วน ฝอซาน และซานโถ่วหยุดการผลิตชั่วคราวสัปดาห์ละ 2 – 3 วัน ซึ่งมาตรการจำกัดการใช้ไฟฟ้าที่เน้นจำกัดการใช้ในภาคอุตสาหกรรมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของมณฑล เนื่องจากทำให้ภาคอุตสาหกรรมในเมืองสำคัญต่าง ๆ ไม่สามารถดำเนินการผลิตได้อย่างเต็มที่ และอาจสั่งสินค้าไม่ได้ตามกำหนดเวลา โดยหากมาตรการดังกล่าวยืดเยื้อ จะยิ่งทำให้ภาคธุรกิจของมณฑลกวางตุ้งสูญเสียลูกค้าให้กับผู้ผลิตจากมณฑลอื่นของจีน ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าหลักของมณฑลกวางตุ้งถึงร้อยละ 60.72 ขณะที่ภาคบริการใช้ไฟฟ้าร้อยละ 20.45 ที่อยู่อาศัยใช้ไฟฟ้าร้อยละ 17.03 และภาคการเกษตรใช้ไฟฟ้าร้อยละ 1.81
.
ในการแก้ไขปัญหาข้างต้น และเพื่อรองรับปัญหาพลังงานไฟฟ้าไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในช่วงการใช้ไฟฟ้าสูง และเพื่อให้มณฑลสามารถคงสถานะของการเป็นฐานการผลิตของภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ มณฑลกวางตุ้งมีนโยบายพัฒนาด้านพลังงานไฟฟ้าที่สำคัญ ดังนี้
.
1. ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมมณฑลกวางตุ้งระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 มณฑลกวางตุ้งจะพัฒนาโครงสร้างพลังงานโดยมีพลังงานสะอาดที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ (Low Carbon) เป็นหลักโดยจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากปัจจุบัน 140 ล้านกิโลวัตต์ เป็น 180 ล้านกิโลวัตต์ภายในปี ค.ศ. 2025 โดยมีโครงการสำคัญ ได้แก่
.
ด้านพลังงานนิวเคลียร์ มีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มอีก 1 แห่ง คือ โรงไฟฟ้า Taipingling ระยะที่ 1 ที่เมืองฮุ่ยโจว และเริ่มการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระยะที่ 2 ที่ โรงไฟฟ้า Taipingling โรงไฟฟ้า Lufeng และโรงไฟฟ้า Lianjiang
.
ด้านก๊าซธรรมชาติ มีการขยายโรงงานผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติมที่นครกว่างโจว เมืองเชินเจิ้น และเมืองตงก่วน
.
ด้านถ่านหินสะอาด มีการขยายการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินสะอาดที่เมืองเหอหยวนและเมืองเจียงเหมิน
.
ด้านพลังงานลม มีการดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าจากลมทะเลที่เมืองจ้านเจียง ช่านโถว ช่านเหว่ย และฮุ่ยโจว นอกจากนี้ มณฑลกวางตุ้งจะเพิ่มความสามารถในการนำเข้าไฟฟ้าจากมณฑลอื่นตามนโยบาย “West-East Electricity Transmission”
.
2. บริษัท China Southern Power Grid ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจรายเดียวที่รับผิดชอบการบริหารจัดการไฟฟ้าของมณฑลกวางตุ้ง ได้ประกาศแผนพัฒนาโครงสร้างพลังงานไฟฟ้า ฉบับที่ 14 โดยระบุว่าจะเพิ่มสัดส่วนการจ่ายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดจากปัจจุบันร้อยละ 53 เป็นร้อยละ 61 และมีแผนจะติดตั้งเครื่องผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติม 14.68 ล้านกิโลวัตต์ภายในปี 2564 โดยจะเป็นพลังงานสะอาด เช่น พลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ 7.5 ล้านกิโลวัตต์ ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังกำหนดเป้าหมายว่า ภายในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 14 มณฑลกวางตุ้งจะมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานที่ไมใช่เชื้อเพลิงฟอสชิลมากกว่าร้อยละ 50 และจะผลักดันการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในทะเล เป็น 30 ล้านกิโลวัตต์ภายในปี ค.ศ. 2030
.
3. บริษัท China Southern Power Grid ยังมีแผนที่จะพัฒนาระบบ Smart Grid เพื่อเชื่อมโยงระบบไฟฟ้าในพื้นที่ GBA จะเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับปริมาณการใช้ไฟฟ้า 7 แสนล้านหน่วย รวมทั้งจะเพิ่มการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดในพื้นที่ GBA ให้มีสัดส่วนร้อยละ 80 ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ภายในปี ค.ศ. 2035 รวมทั้งมีเป้าหมายที่จะลดอัตราการเกิดกรณีไฟฟ้าดับในพื้นที่ GBA ให้ต่ำกว่า 30 นาทีต่อปี ภายในปี ค.ศ. 2025
.
4. นอกจากนี้ นครกว่างโจวและเมืองเซินเจิ้นต่างประกาศนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 14 โดยนครกว่างโจวจะเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม 1.16 ล้านกิโลวัตต์ภายในปี ค.ศ. 2025 รวมทั้งเพิ่มการใช้พลังงานจากก๊าซไฮโดรเจนแทนการใช้พลังงานจากฟอสซิล ขณะที่เมืองเชินเจิ้นจะพัฒนาระบบ Smart Grid และศูนย์พัฒนานวัตกรรมด้านพลังงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ไฟฟ้าและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน
.
ภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 14 มณฑลกวางตุ้งให้ความสำคัญอย่างสูงกับการพัฒนาพลังงานสะอาด เพื่อบรรลุเป้าหมายปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงที่สุด (Carbon Emissions Peak) ของจีน ภายในปี ค.ศ. 2030 และจากนั้น จะทยอยลดการปล่อยลงจนเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ภายในปี ค.ศ. 2060
.
นอกไปจากประเทศจีน ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา ได้ออกมาประกาศนโยบาย Green Deal และตั้งเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการเป็นประเทศ Carbon Neutrality ให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งสอดคล้องกับวาระแห่งชาติของไทยในการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว (BCG Economy Model) ในการฟื้นตัวอย่างยั่งยืนหลังวิกฤตการณ์โควิด-19 ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมด้านพลังงานไฟฟ้า ควรเลือกพิจารณาที่จะปรับเปลี่ยนมาตรฐานและกฎเกณฑ์ในการประกอบธุรกิจ เพื่อเปิดโอกาสในการลงทุนค้าขายกับต่างประเทศ และเพื่อป้องกันการถูกกีดกันทางการค้าสำหรับสินค้า หรืออุตสาหกรรมที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว