เมื่อวันที่ 10 – 11 มิถุนายน 2564 กระทรวงทรัพยากรพื้นฐานและการท่องเที่ยวบรูไน และกระทรวงการพัฒนาบรูไน ได้จัดงานเสวนา “Brunei Darussalam Conference on Forest: Forests and Biodiversity: Unveiling lts Economic Potential” ซึ่งจัดพร้อมกับ Brunei Mid-Year Conference and Exhibition (MYCE) 2021 ณ International Convention Centre โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นเกี่ยวกับโอกาสการใช้ทรัพยากรธรรมชาติในเชิงพาณิชย์แบบยั่งยืน ภายใต้ 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ (1) Biodiversity and Economy (2) Green Economy for Sustainable Future และ (3) Research Opportunities Economic Diversification and Protection ซึ่งได้มีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากบรูไนและต่างประเทศเข้าร่วมงานเสวนาดังกล่าว
.
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรพื้นฐานและการท่องเที่ยวบรูไน ได้กล่าวถึงการให้ความสำคัญกับการสนับสนุนงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจและความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศ และ บทบาทของพืชพันธ์ุต่าง ๆ เนื่องจากยังมีอีกหลายเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติที่ยังไม่เข้าใจ และต้องเรียนรู้ เพื่อนำข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยมาใช้ในการร่างและกำหนดนโยบายการบริหารจัดการแบบยั่งยืน ซึ่งบรูไนมีพื้นที่ป่าไม้ปกคลุมสูงถึงร้อยละ 72 จึงทำให้ประเทศมีทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพสูง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจบรูไนให้เกิดการเจริญเติบโต อย่างไรก็ดี เมื่อบรูไนเริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น เช่น การเกษตร การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ และการบริการ บรูไนจำเป็นต้องระมัดระวังผลกระทบจากการใช้ทรัพยากร ธรรมชาติมากจนเกินไป ดังนั้น การเกษตรรูปแบบใหม่ เช่น Vertical Farming จึงมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและขณะเดียวกัน ยังสามารถลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการตัดไม้ทำลายป่า เช่น การกร่อนของดิน และสภาวะโลกร้อน
.
พื้นที่ป่าบนพื้นโลกลดลงอย่างต่อเนื่องตามผลการวิจัย 2020 Global Forest Resources Assessment (FRA) อย่างไรก็ดี ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา อัตราดังกล่าวก็ได้ชะลอตัวลงจาก 7.8 ล้านเฮกตาร์ต่อปี เป็น 4.7 ล้านเฮกตาร์ต่อปี โดยทวีปเอเชียเป็นพื้นที่ที่มีป่าไม้เพิ่มขึ้นมากที่สุดต่อปี (1.2 ล้านต่อปี) ซึ่งเป็นผลมาจากการรณรงค์ส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์ป่าไม้มากยิ่งขึ้น การเดินหน้าสู่อนาคตจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับ Nature-based Solutions (NbS) เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างยั่งยืน เช่น ปัญหาสาธารณสุข การขาดแคลนอาหารและน้ำ และภัยธรรมชาติ จึงได้ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำ NbS ไปใช้ในการวางแผน เพื่อสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคม และการอนุรักษ์ป่าไม้และสิ่งแวดล้อม
.
นอกจากนี้ Dr. Nor Imtihan ปลัดกระทรวงทรัพยากรพื้นฐานและการท่องเที่ยวบรูไน (Planning, Land Use, and Environment) ได้กล่าวว่า บรูในให้ความสำคัญกับการป้องกันผลกระทบจากสภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง โดยเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 บรูไนได้ประกาศใช้ The Brunei Darussalam National Climate Change Policy (BNCCP) เพื่อพัฒนาประเทศให้มีระดับคาร์บอนต่ำ และสามารถรับมือกับกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ด้วยการเน้นรักษาร้อยละ 72 ของพื้นที่ป่าไม้ในบรูไน โดยการปลูกป่า 500,000 ต้น ภายในปี 2035
.
Hajah Tutiaty รองปลัดกระทรวงทรัพยากรพื้นฐานและการท่องเที่ยวบรูไน กล่าวว่า บรูไนให้ความสำคัญกับการป้องกันการบริโภคทรัพยากรป่าไม้อย่างมาก เนื่องจากมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ โดยปัจจุบันบรูไนบังคับใช้นโยบายบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้แบบยั่งยืน ซึ่งกำหนดให้ร้อยละ 55 ของพื้นที่ในประเทศจะต้องเป็นพื้นที่ป่าสงวน
.
Ms. Noralinda ผู้อำนวยการกองป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรพื้นฐานและการท่องเที่ยวบรูไนกล่าวว่า รัฐบาลบรูไนจะประเมินประสิทธิภาพและความเหมาะสมของข้อโครงการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้นโยบาย Green Economy ตาม 5 หลักการที่องค์กร Green Economic Coalition ได้เสนอไว้เมื่อปี 2563 ได้แก่ (1) สุขภาวะ (Well-being) (2) ความยุติธรรม (Justice) (3) อยู่ภายในขอบเขตที่โลกรองรับได้ (Planetary Boundary) 4) มีประสิทธิภาพและความพอเพียง (Efficiency and Sufficiency) และ 5) หลักธรรมาภิบาล (Good Governance) นอกจากนี้ การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมป่าไม้บรูในยังเป็นไปตามยุทธศาสตร์ Green Economic Framework ของ World Green Economic Summit เมื่อปี 2557 ด้วย
.
ในการเสวนา ได้มีการแลกเปลี่ยนความรู้เชิงวิชาการภายใต้ 3 หัวข้อหลัก ได้แก่
.
(1) Biodiversity and Economy ซึ่งป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี การบริโภคทรัพยากรธรรมชาติที่มากเกินไป จะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศ ดังนั้น การบังคับใช้ Sustainable Forest Management (SFM) จึงมีบทบาทสำคัญในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืนในขณะที่ใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ ซึ่งหลายประเทศได้ใช้ Forest Certification เพื่อป้องกันการซื้อขายไม้จากพื้นที่สงวน
.
(2) Green Economy for Sustainable Future ที่ผ่านมาบรูไนและหลายประเทศได้ประสบกับปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้น การเปลี่ยนนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจเป็น Green Economy จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการมีอนาคตที่ยั่งยืน
.
(3) Research Opportunities Economic Diversification ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเห็นตรงกันว่า การสนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับพันธ์ุต้นไม้และความหลากหลายทางชีวภาพมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปกป้องป่าไม้ในบรูไน และจะช่วยสร้างความยั่งยืนในอนาคต โดยความรู้และความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ที่คู่ขนานกับการอนุรักษ์ทรพยากรธรรมชาติทำได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งช่วยให้การออกกฎหมายที่มีประสิทธิภาพและป้องกันการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติมากจนเกินไป
.
รายได้หลักของบรูไนส่วนใหญ่มาจากการส่งออกน้ำมันไปยังต่างประเทศ การที่บรูไนหันมาใส่ใจและเพิ่มมาตรการด้านป่าไม้และพลังงานสีเขียวนี้ แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวทางด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งตรงกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย และเมื่อผนวกกับนโยบายส่งเสริมการค้าเสรี และการลงทุนจากต่างประเทศของบรูไนแล้ว จะเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการไทยในการเป็นผู้นำองค์ความรู้ที่เป็นจุดแข็ง ทั้งด้านอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมฮาลาล การท่องเที่ยว และการจ้างแรงงานคุณภาพ มาประยุกต์ใช้ในการร่วมลงทุนโดยคำนึงถึงทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก เพื่อลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และสภาพอากาศได้อย่างยั่งยืน
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน