เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 นาย Ravi Menon ผู้ว่าการธนาคารกลางสิงคโปร์ (Monetary Authority of Singapore – MAS) ได้รายงานความยั่งยืนปี ค.ศ. 2020/2021 (Sustainability Report) โดย MAS ของสิงคโปร์เป็นธนาคารกลางแห่งแรกในอาเซียน และเป็นแห่งที่สองของโลกที่เผยแพร่รายงานความยั่งยืนประจำปี (ต่อจาก Bank of England ของสหราชอาณาจักร) ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นของสิงคโปร์ที่จะส่งเสริมระบบการเงินสีเขียว และการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนโดยลดการใช้คาร์บอน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)
.
โดยการเผยแพร่รายงานความยั่งยืนนี้สืบเนื่องมาจากการตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินที่สำคัญ 2 ประการ ได้แก่ (1) ความเสี่ยงทางกายภาพ (Physical Risks) คือ ผลกระทบทางตรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น ผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม (2) ความเสี่ยงในการเปลี่ยนแปลง (Transition Risks) ซึ่งเกิดจากกระบวนการปรับตัวสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การเปลี่ยนแปลงนโยบายสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเทคโนโลยีเมื่อเผชิญอุปสรรค และการเปลี่ยนแปลงในความชอบของผู้บริโภคและนักลงทุน
.
ภาคการเงินมีบทบาทสำคัญในการรับมือและแก้ไขปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งยังเป็นกุญแจสำคัญสำหรับอนาคตที่ยั่งยืนด้วยระบบเศรษฐกิจที่ใช้คาร์บอนน้อยลง และเป็นช่องทางเงินทุนสู่เทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น MAS จึงจัดตั้งนโยบายเพื่อความยั่งยืน 4 ด้าน ดังนี้
.
1.การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภาคการเงินของสิงคโปร์เพื่อรับมือกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม
.
1.1 ออกแนวทางการบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมแก่สถาบันการเงินทุกแห่งในสิงคโปร์ ทั้งด้านการธนาคาร การประกันภัย และการจัดการสินทรัพย์ ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมลพิษ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน โดย MAS จะเผยแพร่เอกสารข้อมูลเพื่อแบ่งปันแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศและสิ่งที่ควรปรับปรุงในด้านนี้ ให้กับสถาบันการเงินต่าง ๆ ในสิงคโปร์ และจะมีส่วนร่วมในการจัดวางกรอบการจัดการความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมกับเครือข่ายระหว่างประเทศ เช่น Micro Prudential Supervision ภายใต้เครือข่าย Network for Greening the Financial System (NGFS)
.
1.2 จัดการทดสอบความเข้มแข็ง (Stress Testing) ในอุตสาหกรรมการเงินภายในสิ้นปี 2565 ภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่หลากหลาย ที่พัฒนาโดย NGFS
.
1.3 จัดทำแนวทางเพื่อปรับปรุงคุณภาพการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Climate Related Disclosures) ที่เชื่อถือได้และเปรียบเทียบได้ โดย MAS และตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ (SGX) จะร่วมกันกำหนดแผนงานในด้านนี้ โดยให้สถาบันการเงินและนิติบุคคลที่จดทะเบียนใน SGX มีส่วนร่วมด้วย หลังจากนั้น SGX จะปรึกษากับภาคอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการทำรายงานฯ ตามคำแนะนำของ Task Force on Climate-Related Financial Disclosures (TCFD) ทั้งนี้ MAS หวังว่าทุกธนาคาร บริษัทประกันภัย และผู้จัดการสินทรัพย์ จะเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565
.
1.4 มุ่งสู่มาตรฐานการจัดทำรายงานความยั่งยืนระดับโลก เช่น การกำหนดมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศตามกลุ่ม G7 การดำเนินการตามข้อแนะนำของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ระหว่างประเทศ (IOSCO) และมูลนิธิมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ (IFRS) ซึ่งมีแผนที่จะจัดตั้งคณะกรรมการมาตรฐานความยั่งยืนสากล (International Sustainability Standards Board – ISSB) เพื่อกำหนดมาตรฐานระดับโลกภายในสิ้นปี 2564
.
2. พัฒนาระบบนิเวศทางการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและคาร์บอนต่ำ
.
2.1 พัฒนาอนุกรมวิธานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Taxonomies) หรือการจำแนกหมวดหมู่สำหรับกิจกรรมสีเขียว คำนิยามที่ชัดเจนของกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยสำคัญในการเคลื่อนย้ายเงินทุนข้ามพรมแดนและนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ยั่งยืน
.
2.2 ร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมการเงินสีเขียว เช่น แนะนำโครงการเงินช่วยเหลือเพื่อชดใช้ค่าใช้จ่ายในการออกพันบัตรสีเขียว และเงินกู้สีเขียวซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล
.
2.3 สนับสนุนการค้า carbon credit และสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีสภาพคล่องและมีความโปร่งใสสำหรับตลาด carbon credit โดยเฉพาะในเอเชีย ทั้งนี้ DBS Bank, SGX, Temasek และ Standard Chartered ไต้ประกาศแผนปิดตัวตลาดการแลกเปลี่ยนและซื้อขายคาร์บอน Climate Impact X (CVX) ในอาเซียน
.
2.4 จัดสรรงบประมาณ 50 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์เพื่อสนับสนุนนวัตกรรม Green FinTech เพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการเข้าถึงข้อมูลที่มีคุณภาพสูงและเชื่อถือได้เกี่ยวกับการปล่อยคาร์บอนของโครงการ เช่น Application Programming Interfaces (AP) และ Internet of Things (IoT)
.
2.5 จัดทำโครงการ Greenprint ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มเทคโนโลยีเพื่อส่งเสริม Climate-friendly Ecosystem
.
3.สนับสนุนโครงการลงทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและโครงการลงทุนสีเขียว
.
3.1 MAS จัดสรรเงินสำรองต่างประเทศจำนวน 18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อขับเคลื่อนการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate-related investment) และสิ่งแวดล้อมในภาคการเงินสิงคโปร์โดยแต่งตั้งผู้จัดการสินทรัพย์ 5 ราย เพื่อจัดการตราสารทุนและตราสารหนี้ฉบับใหม่ ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ การจัดสรรเงินสำรองต่างประเทศ นี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการการลงทุนสีเขียว Green Investment Program (GIP) ซึ่งจัดตั้งเมื่อปี 2562 ด้วยเงินงบประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อส่งเสริมการเติบโตของ ecosystem ต้นการเงินสีเขียวในสิงคโปร์ให้แข็งแกร่งและหลากหลาย รวมถึงปกป้องภาคการเงินจากความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม
.
3.2 MAS รายงานเพิ่มเติมถึงความพยายามของสิงคโปร์ในการพัฒนาเป็นศูนย์กลางการเงินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยตั้งแต่ปี 2560 ได้มีการออกพันธบัตรเพื่อสิ่งแวดล้อม สังคม และความยั่งยืนมูลค่ากว่า 11 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และมีการออกเงินกู้ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนกว่า 22.5 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ตั้งแต่ปี 2560 ถึง 2563
.
4. การเป็นองค์กรยั่งยืน
.
4.1 ลดระดับของเสีย เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานและน้ำ โดยการนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การติดตั้งระบบไฟที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมี Sensor ตรวจจับความเคลื่อนไหว การติดตั้งแผง Solar cells เปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า และการเพิ่มอุณหภูมิในห้องปรับอากาศให้อยู่ที่ระดับ 25 องศาเซลเซียส
.
4.2 ลดระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในองค์กร โดยการลดการเดินทางทางอากาศ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในปีงบประมาณที่ผ่านมา อัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในองค์กร MAS ได้ลดลงกว่า 47% เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้ไม่มีการเดินทางทางอากาศ
.
4.3 สนับสนุนการลดพิมพ์เขียวสิ่งแวดล้อม (Environmental Footprint) และพัฒนาแผนงานเชิงกลยุทธ์ที่เกี่ยวข้อง โดยในรายงานความยั่งยืนของ MAS ฉบับต่อไปจะกำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยมลพิษสำหรับปี 2568 (ค.ศ. 2025) และ 2573 (ค.ศ. 2030) และตั้งเป้าหมายระยะเวลาเร็วที่สุดที่เป็นไปได้ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ตาม Paris Agreement รวมทั้งพัฒนากลยุทธ์เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และส่งเสริมการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการพิมพ์ธนบัตรและผลิตเหรียญกษาปณ์
.
4.4 ส่งเสริมด้านความยั่งยืนให้เป็นวัฒนธรรมอีกประเภทหนึ่ง
.
สำหรับประเทศไทย จากการที่รัฐบาลได้มีการประกาศให้เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) เป็นวาระแห่งชาติ องค์กรด้านการเงินภายในประเทศได้เห็นความสำคัญในของสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเช่นเดียวกัน โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เป็นเจ้าภาพจัดงาน Bangkok Sustainable Banking Forum เป็นครั้งแรกในปี 2561 และสมาชิกของ ธปท. ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงด้านการธนาคารเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Banking Guidelines) ในด้านการให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible Lending) อีกด้วย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังสามารถใช้โอกาสนี้ในการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ให้สอดคล้องกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การสนับสนุนการชำระค่าสินค้าและบริการผ่านช่องทางออนไลน์ การพัฒนากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet)
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์