นายเวียงทะวีสอน เทบพะจัน รองเจ้าแขวงสะหวันนะเขต กล่าวว่า เพื่อให้เศรษฐกิจของแขวงสะหวันนะเขตเติบโตอย่างมีคุณภาพ สมดุลและยั่งยืน ตามเป้าหมายสำคัญในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 5 ปี ครั้งที่ 8 (2564 – 2568) แขวงจะต้องผลักดันให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายใน (GDP) มีมูลค่าประมาณ 96,630 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 7.5 – 8 ต่อปี ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวจำนวน 3,153 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี ภาคการเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 และภาคบริการเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 โดยหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนของแขวงต้องร่วมใจกันผลักดันการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้มีคุณภาพยั่งยืนและเป็นไปตามแนวทางสีเขียว ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าในปี 2568 แขวงสะหวันนะเขตจะมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ดังนี้
.
1. ภาคการเกษตร คิดเป็นร้อยละ 25.44 แบ่งเป็นรายได้จากการเพาะปลูกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 6.2 ต่อปี ประกอบด้วย ผลผลิตข้าวเปลือก อ้อย บุหรี่ มันสำปะหลัง ยางบง ยางพารา ผักอินทรีย์ การเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.93 ต่อปี ประกอบด้วย การเลี้ยงสัตว์ประเภทวัว ควาย หมู แพะ และสัตว์ปีก ด้านป่าไม้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.32 ต่อปี ประกอบด้วย การปลูกไม้ยูคาลิปตัส ไม้กระถินณรงค์ และไม้ติ้ว การประมงเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 2.04 ต่อปีจากการเลี้ยงปลาในบ่อและการเลี้ยงปลาในกระชัง
.
2. ภาคอุตสาหกรรม คิดเป็นร้อยละ 39.63 แบ่งเป็น การขยายตัวจากอุตสาหกรรมบ่อแร่และการขุดค้น เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.33 ต่อปี ประกอบด้วย การผลิตทองคำ เงิน ยิปซั่มและแร่ทราย อุตสาหกรรมแปรรูปเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 11.13 ต่อปี ประกอบด้วย การผลิตเยื่อกระดาษ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์โลหะ วัตถุดิบอาหารและบุหรี่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและน้ำประปาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 9.45 ต่อปี และการก่อสร้างเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 9.33 ต่อปี
.
3. ภาคการบริการ คิดเป็นร้อยละ 38.83 แบ่งเป็นการค้าส่ง ค้าปลีกและการซ่อมแซมเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.69 ต่อปี ประกอบด้วยรายได้ในหมวดเสบียงอาหาร อุปกรณ์การก่อสร้าง ยานพาหนะ อะไหล่ อุปกรณ์สิ่งของที่ใช้ในชีวิตประจำวันและเครื่องสำอาง การบริการด้านโรงแรม ร้านอาหารและการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 9.89 ต่อปี การคมนาคมขนส่งเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 7.38 ต่อปี และไปรษณีย์โทรคมนาคมเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 8.59 ต่อปี การบริการทางการเงินเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 5.13 ต่อปี การบริการภาครัฐเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 6.66 ต่อปี เก็บภาษีอากรขาเข้าเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4 ต่อปี การเก็บรายได้เข้างบประมาณของรัฐให้ได้ร้อยละ 7-8 ต่อปีของ GDP รักษาเสถียรภาพการขาดดุลงบประมาณในแต่ละปีไม่ให้เกินร้อยละ 1.4-5 ต่อปีของ GDP รักษาเสถียรภาพด้านการเงินให้มีความมั่นคง อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำกว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวอยู่ในระดับร้อยละ 5 ต่อปี สรรหาและระดมทุนการช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาให้ได้ร้อยละ 25 ของ GDP และผลักดันมูลค่าการส่งออกให้เพิ่มขึ้นร้อยละ 6-8 และการนำเข้าร้อยละ 5-6 ต่อปี
.
ประเทศไทยได้มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ประจำปี พ.ศ. 2560 – 2564 เพื่อพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคง มั่นคั่งและยั่งยืน พร้อมกับการกำหนดให้เศรษฐกิจ BCG เป็นวาระแห่งชาติที่ไทยจะต้องขับเคลื่อนไปในโลกแห่งการฟื้นฟูหลังโควิด-19 ซึ่งเป็นแนวทางที่ทุกประเทศตอนนี้ให้ความสำคัญอย่างมาก ผู้ประกอบการไทยที่ดำเนินธุรกิจในสปป.ลาว อาจเลือกพิจารณาที่จะเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมข้างต้นที่รัฐบาลสปป.ลาว ให้การสนับสนุน เช่น ภาคการเกษตรและภาคบริการ เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพและความพร้อม สามารถเลือกที่จะเข้าไปลงทุนขยายตลาดในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงต่อไปในอนาคตได้
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ แขวงสะหวันนะเขต