ด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
.
การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นหยุดชะงักชั่วขณะ เนื่องจากการบริโภคส่วนบุคคลลดตำ่ลง อันเป็นผลมาจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยอัตราการขยายตัวของ GDP ไตรมาสแรกของปี 2564 ลดลงร้อยละ 1.3 ซึ่งเป็นการหดตัวในรอบ 3 ไตรมาส จากที่เศรษฐกิจได้ขยายตัวในไตรมาส 2 และ 3 ของปี 2563 หลังจากยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน
.
สำหรับอุปสงค์ด้านการส่งออกในช่วงไตรมาสแรกขยายตัวร้อยละ 2.3 เนื่องจากการส่งออกรถยนต์ไปยังสหรัฐฯ และการส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไปยังจีนขยายตัวด้วยดี ด้านการนําเข้าปรับเพิ่มต่อเนื่องมา 2 ไตรมาส โดยเฉพาะการนําเข้าเวชภัณฑ์
.
ในส่วนของภาคการผลิต (เซมิคอนดักเตอร์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ด้าน ICT) และการบริการที่เกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ต ฟื้นตัวได้ดี เนื่องจากการทํางานจากบ้านเริ่มเป็นแนวปฏิบัติในชีวิตประจําวันมากขึ้น ในขณะที่ธุรกิจบริการ 4 สาขา ได้แก่ ที่พัก ร้านอาหาร บริการที่เกี่ยวข้องกับการดําเนินชีวิตอื่น ๆ และกิจกรรมบันเทิง ซึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ยังคงซบเซาและคาดว่าจะฟื้นตัวหลังปี 2565 ทั้งนี้ ในเดือนพฤษภาคม 2564 มีบริษัทที่ล้มละลาย 472 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งสูงกว่าเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ร้อยละ 50.31
.
ด้านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
.
เนื่องจากผลกระทบ COVID-19 ตามที่รัฐบาลญี่ปุ่น ได้ประกาศขยายสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งที่ 3 จนถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2564 จึงได้ขยายระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือและจัดตั้งเงินช่วยเหลือประเภทใหม่ เช่น จัดตั้งเงินช่วยเหลือครัวเรือนที่ยังขัดสนแม้จะได้กู้เงินช่วยเหลือเร่งด่วนจากรัฐบาลเต็มวงเงินแล้ว ห้างสรรพสินค้าที่ปิดทําการหรือลดเวลาเปิดทําการ เงินช่วยเหลือลูกจ้างที่ต้องหยุดงาน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากCOVID-19 เช่น การให้กู้เงินโดยไม่มีดอกเบี้ยและไม่ต้องค้ำประกัน การผ่อนผันด้านภาษี และร้องขอให้สถาบันการเงินของรัฐ เช่น Japan Finance Corporation และ Development Bank of Japan (DBJ) ผ่อนปรนเงื่อนไขการให้เงินกู้
.
ด้านมาตรการด้านการเงินการคลัง
.
ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOI) ยังคงมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเพื่อเป้าหมายการเพิ่มอัตราการขยายตัวของค่าครองชีพเท่ากับร้อยละ 2 โดยให้ความสําคัญกับนโยบายด้านอัตราดอกเบี้ยและได้ปรับมาตรการ เช่น จัดตั้งระบบส่งเสริมการให้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นให้ธนาคารท้องถิ่นออกเงินกู้ เป็นต้น
.
ด้านมาตรการกระตุ้นการส่งออกและการลงทุน
.
รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าส่งเสริมการส่งออก โดยเน้น สินค้าเกษตร ประมง และอาหาร นอกจากนี้ กระทรวง เศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (METI) ได้แถลงยุทธศาสตร์ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และดิจิทัล โดยจะส่งเสริมการพัฒนาซอฟท์แวร์ แอพพลิเคชั่น สร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เช่น 5G ศูนย์ข้อมูล (Data Center) และการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศ
.
แนวโน้มสถานการณ์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564
.
แนวโน้มเศรษฐกิจธนาคารกลางญี่ปุ่นประเมินว่าอุตสาหกรรมการผลิตเริ่มฟื้นตัว โดยเห็น ได้ชัดในกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์และเซมิคอนดักเตอร์ ในขณะที่ธุรกิจบริการหรือกลุ่มที่ไม่ใช่อุตสาหกรรมการผลิต เช่น ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ยังคงมีความไม่มั่นใจต่อแนวโน้มในอนาคต ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวดีขึ้น
.
อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน รักษาการจ้างงาน และมาตรการการเงินอื่น ๆ แต่บริษัทที่ประสบปัญหาเงินทุนหมุนเวียนยังเพิ่มขึ้นและอาจส่งผลให้มีบริษัทล้มละลายมากขึ้น รัฐบาลจึงจําเป็นต้องมีมาตรการเพิ่มเติมในการสนับสนุนการเคลื่อนย้ายแรงงานให้มีทักษะเพิ่มขึ้นเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ขยายตัว เช่น การแพทย์ การสื่อสาร นอกจากนี้ เนื่องด้วยการดําเนินการ ด้านวัคซีนของญี่ปุ่นล่าช้ากว่ายุโรปและสหรัฐฯ ญี่ปุ่นจึงคงยังต้องจํากัดการดําเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อไปตลอดปี 2564 โดยคาดว่า Real GDP จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ในปี 2564 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1 ในปี 2565 และจะฟื้นคืน เทียบเท่ามาตรฐานก่อนยุค COVID-19 (ไตรมาส 4 ปี 2562) ในกลางปี 2565
.
ความสูญเสียทางเศรษฐกิจกรณียกเลิกการจัดการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิก Nomura Research Institute ได้ประเมินความสูญเสียทางเศรษฐกิจกรณียกเลิกการจัดการแข่งขันโอลิมปิกว่ามีมูลค่า 1.8 ล้านล้านเยน คิดเป็นร้อยละ 0.33 ของ Nominal GDP ปี 2563 ซึ่งไม่ได้มีมูลค่ามากพอที่จะมีผลกระทบต่อแนวโน้มของเศรษฐกิจญี่ปุ่น หรือกรณีที่จัดการแข่งขันโดยไม่มีผู้ชมในสถานที่แข่งขันจะเสียหายมูลค่า 1.47 แสนล้านเยน หรือร้อยละ 0.02 ในขณะที่ความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งที่ 1 (7 เมษายน – 25 พฤษภาคม 2563) มีมูลค่า 6.4 ล้านล้านเยน ครั้งที่ 2 (8 มกราคม – 21 มีนาคม 2564) มีมูลค่า 6.3 ล้านล้านเยน และ ครั้งที่ 3 (25 เมษายน – 20 มิถุนายน 2564) ประเมินว่าความเสียหายจะมีมูลค่า 3.179 ล้านล้านเยน ดังนั้น การจัดการแข่งขันฯ ซึ่งอาจส่งผลให้การระบาดของเชื้อขยายตัวจนต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอีกครั้งจะสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่าการยกเลิกการแข่งขัน
.
ผลกระทบของสถานการณ์ COVID-19 ในญี่ปุ่นต่อเศรษฐกิจของไทย
.
ญี่ปุ่นเป็นตลาดอันดับ 3 (รองจากสหรัฐฯ และจีน) ในปี 2563 การส่งออกของไทย ไปญี่ปุ่นมีมูลค่า 22,876 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 6.7 % เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยสินค้าส่งออกจากไทยที่สําคัญ ได้แก่ อุปกรณ์ด้านยานยนต์ เนื้อไก่ อาหาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น สินค้าที่มียอดส่งออกขยายตัวในช่วง COVID-19 ได้แก่ อาหาร อาหารสัตว์ และถุงมือยาง
.
นอกจากนี้ สํานักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจํากรุงโตเกียวรายงานว่า ผลกระทบของ COVID-19 ต่อการนําเข้าสินค้าเกษตรของไทยปี 2563 มีสินค้าที่ได้รับผลกระทบเชิงบวก ได้แก่ เนื้อไก่ อาหารสัตว์เลี้ยง ข้าว ปลาทูน่า กระป๋อง กล้วย เนื่องจากความต้องการบริโภคในครัวเรือนขยายตัว ในขณะที่สินค้าที่ได้รับผลกระทบเชิงลบ ได้แก่ เนื้อไก่แปรรูป กุ้งแปรรูป มะม่วง ทุเรียน มังคุด มะพร้าว ซึ่งการขยายตัวสะดุด เนื่องจากความต้องการของผู้ประกอบการและร้านอาหารลดลง และผลกระทบจากการลดเที่ยวบิน โดยในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 ญี่ปุ่นนําเข้าสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ จากไทยมูลค่า 128,707 ล้านเยน ใกล้เคียงกับปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ COVID-19 จะส่งผลกระทบอย่างชัดเจน และลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่มี COVID-19
.
ผู้ประกอบการไทยที่ดำเนินธุรกิจกับทางญี่ปุ่นอยู่แล้ว หรือมีความประสงค์ที่จะส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่น จึงควรติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจและมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาลญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด และอาจพิจารณาชะลอการส่งออกสินค้าที่ได้รับผลกระทบเชิงลบ และผลักดันการส่งออกสินค้าที่ได้รับผลกระทบเชิงบวก และมียอดส่งออกขยายตัวในช่วง COVID-19 แทน เช่น อาหาร อาหารสัตว์ และอุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรค
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว