อินโดนีเซียให้ความสําคัญกับการป้องกัน Transfer Pricing เนื่องจากได้ลงนามใน FTA หลายฉบับ และเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่เปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ การเก็บภาษีรายได้นิติบุคคลจึงเป็นรายได้สําคัญของประเทศ โดยอินโดนีเซียมีกฎหมายหลายฉบับและมาตรการเพื่อป้องกันและระงับข้อพิพาทที่เกิดจาก Transfer Pricing หรือการกระทําที่เข้าข่ายดังกล่าวโดยไม่เจตนา
.
สำหรับ Transfer Pricing คือ การที่บริษัทหรือนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กันตกลงทําธุรกรรมระหว่างกัน โดยกําหนดราคาให้แตกต่างจากราคาตลาดตามปกติ ที่คู่สัญญาและคู่ค้าที่เป็นอิสระต่อกันสามารถกําหนดได้ (Arm’s Length Price) ซึ่งเป็นการถ่ายโอน หรือปิดบังกําไร หรือทําให้รายได้ที่ปรากฏเป็นหลักฐานลดลง ส่งผลให้รัฐบาลสามารถเก็บภาษีได้น้อยลง ซึ่งเป็นข้อท้าทายสําคัญของประเทศต่าง ๆ ในการตรวจสอบและจัดเก็บภาษีจากธุรกิจข้ามชาติ
.
เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI) ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย จัด Webinar ในหัวข้อ “Indonesian Taxation Policy: Transfer Pricing”โดย Mr. Mekar Satria Utama ผู้แทน Directorate of International Taxation (DGT) กล่าวว่า DGT โดย Subdirectorate of International Taxation Dispute Prevention and Settlement (PPSPI) ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อปี 2559 เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดการ Transfer Pricing ของอินโดนีเซีย
.
ปัจจุบัน DGT อยู่ระหว่างการบังคับใช้ Strategic Plan 2020 – 2024 โดยมีเป้าหมายในการใช้หลักการราคาตามกลไกตลาด (Arm’s Length Principle) เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา Transfer Pricing และผลักดันให้เกิดการแบ่งปันข้อมูลและการดําเนินงานที่โปร่งใสเพื่อเป้าหมายทางภาษีในกรอบ OECD และในฐานะที่เป็นประเทศผู้บริจาคของโครงการ Tax Inspector Without Border (TIMB)
.
ทั้งนี้ อินโดนีเซียได้ออกมาตรการทางภาษีควบคู่กับการบังคับใช้ Omnibus Law on Job Creation ซึ่งสามารถสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดให้นักลงทุนต่างประเทศรวมถึงประเทศไทยเข้ามาลงทุนในอินโดนีเซียมากขึ้น นอกจากนี้ อินโดนีเซียอยู่ระหว่างจัดทํา Omnibus Law on Tax ซึ่งจะเป็นการสังคายนากฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ เกี่ยวกับภาษีครั้งใหญ่ในลักษณะเดียวกันกับ Omnibus Law on Job Creation ด้วย
.
ในไตรมาสที่ 1/2564 มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังอินโดนีเซียอยู่ที่ 2.08 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นประเทศที่ลงทุนในอินโดนีเซียมากเป็นอันดับที่ 8 นอกจากนี้ ไทยกับอินโดนีเซียยังมีความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและการป้องกันการเลี่ยงการรัษฎากร ในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้และจากทุน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม 2546 รวมถึงไทยร่วมเป็นสมาชิกโครงการ Base Erosion and Profit Shifting (BEPS) หรือความร่วมมือในการป้องกันการกัดกร่อนฐานภาษีในประเทศและการโยกย้ายกำไรของประชาคมโลก
.
จะเห็นได้ว่า ประเด็น Transfer Pricing ยังคงเป็นความท้าทายสําคัญที่ยังส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจของภาคเอกชนชาวต่างชาติในอินโดนีเซีย ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ประสงค์จะเข้ามาประกอบธุรกิจในอินโดนีเซียจําเป็นต้องมีความรู้และความเข้าใจในประเด็นดังกล่าวเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาในการดําเนินธุรกิจในอินโดนีเซีย
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา