ผลิตภัณฑ์และบริการจากสวิตเซอร์แลนด์ มีชื่อเสียงและค่านิยมในแง่ของความพิเศษ การสืบทอดจากอดีต ความแม่นยำ ความหรูหรา เทคโนโลยีขั้นสูง นวัตกรรม คุณภาพ และความน่าเชื่อถือ ซึ่งผู้บริโภคพร้อมที่จะจ่ายเงินในราคาที่สูงขึ้นสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการจากสวิตเซอร์แลนด์ โดยผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัย ETH ซูริก และมหาวิทยาลัย St. Gallen พบว่า ผลิตภัณฑ์เฉพาะหรือผลผลิตทางการเกษตรของสวิตเซอร์แลนด์มีราคาสูงกว่าผลิตภัณฑ์จากที่อื่นร้อยละ 20 และสูงกว่าถึงร้อยละ 50 สำหรับนาฬิกาและสินค้าฟุ่มเฟือย ดังนั้น จึงมีธุรกิจที่นำความเป็นสวิส (Swissness) ไปใช้ โดยที่ไม่ได้เป็นไปตามเกณฑ์ของการระบุและการใช้สัญลักษณ์บ่งชี้แหล่งที่มาจากสวิตเซอร์แลนด์
.
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นมา สวิตเซอร์แลนด์ได้ใช้กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเครื่องหมายการค้า (Trade Mark Protection Act: TmPA) ที่ปรับปรุงใหม่ หรือที่นิยมเรียกกฎหมายว่าด้วย “Swissness” ซึ่งมีเกณฑ์ดังนี้
.
(1) กำหนดเกณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์และบริการที่สามารถจะบ่งบอกความเป็นสวิสได้ เช่น การติดป้าย Swiss Made, Made in Switzerland, of Switzerland, Swiss Quality หรือการใช้สัญลักษณ์ที่สื่อถึงสวิตเซอร์แลนด์ เช่น กากบาทของธงชาติ (Swiss cross) หรือเทือกเขา Matterhorn
.
(2) ให้อำนาจสถาบันทรัพย์สินทางปัญญาสวิตเซอร์แลนด์ (Switzerland Federal Institute of Intellectual Property: IGE/P) ในการตรวจสอบและขอให้ศุลกากรสวิสทำลายผลิตภัณฑ์ที่ละเมิดการใช้กากบาทของธงชาติสวิสหรือตราแผ่นดินสวิส ซึ่งนอกจากจะเป็นการป้องปรามไมให้มีการนำแบรนด์ “Swiss” ไปใช้โดยมิชอบเพื่อรักษาค่านิยมของความเป็นสวิสแล้ว ยังช่วยให้บริษัทที่ดำเนินการตามกฎหมายสามารถแข่งขันได้ในระยะยาวอีกด้วย ทั้งนี้ เครื่องมือที่จะช่วยในการบังคับใช้กฎหมายทั้งในประเทศและต่างประเทศ คือ การขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เช่น นาฬิกา “สวิส” หรือ “เจนีวา” และ สิ่งทอ “St. Gallen” หรือ “Glamer” ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการคุ้มครองภายใต้การรับรองแหล่งกำเนิด (Protected Designations of Origin: PDOs) หรือการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Protected Geographical designations: PGs) เช่น ชีส “Gruyere” และ ไวน์ “Epesses” สามารถจดทะเบียนเครื่องหมายทางภูมิศาสตร์ ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้มีการนำคำเรียกชื่อดังกล่าวไปใช้ได้อีกทั้งในสวิตเซอร์แลนด์และในต่างประเทศ
.
กฎหมายดังกล่าวได้กำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนสำหรับผลิตภัณฑ์และบริการแต่ละประเภทที่สามารถอยู่ภายใต้แบรนด์ “Swiss” ใช้สัญลักษณ์ หรือบ่งบอกความเป็นสวิสได้โดยไม่ต้องขออนุญาต เพียงทว่าแต่ละธุรกิจต้องพิจารณาด้วยตนเองก่อนที่จะนำไปใช้ว่าถูกต้องตามเกณฑ์หรือไม่และสามารถพิสูจน์ได้หากมีการตรวจสอบจากทางการ ทั้งนี้ เกณฑ์ดังกล่าวขึ้นอยู่กับ
.
(1) แหล่งที่มาของสินค้า (Origin of goods) ต่าง ๆ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ (natural products) ผลิตภัณฑ์อาหาร (food products) ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (Industrial products) เช่น สถานที่เพาะปลูก สถานที่สกัด หรือสถานที่ผลิต
.
(2) บริการ (Origin of services) ซึ่งจะต้องจดทะเบียนและมีสถานที่ให้บริการในสวิตเซอร์แลนด์
.
โดยผลการศึกษาโดยหน่วยงานวิจัยด้านเศรษฐกิจพบว่า ในปี 2563 กฎหมายดังกล่าวส่งผลเชิงบวกต่อเศรษฐกิจสวิตเซอร์แลนด์ อย่างน้อยร้อยละ 0.2 ของ GDP หรือประมาณ 1.4 พันล้านฟรังก์สวิสต่อปี แต่ถึงอย่างไรก็ตามยังคงมีการปลอมแปลงผลิตภัณฑ์ของสวิตเซอร์แลนด์ (counterfeit “Swiss” products) โดยสถาบัน IPI ระบุว่า การค้าผลิตภัณฑ์ที่ปลอมแปลง ลอกเลียนแบบผลิตภัณฑ์ ก่อให้เกิดความเสียหายทางธุรกิจรวมถึงปัญหาด้านสุขภาพในบางกรณี โดยเมื่อปี 2561 พบการหลอกขายผลิตภัณฑ์สวิสปลอมทั่วโลกเป็นมูลค่ากว่า 2 พันล้านฟรังก์สวิส โดยครึ่งหนึ่งของผู้ซื้อเชื่อว่าเป็นของจริง ซึ่งนอกจากจะส่งผลในระยะยาวต่อชื่อเสียงของธุรกิจสวิสแล้ว ยังทำให้สูญเสียรายได้กว่า 4.5 พันล้านฟรังก์สวิส และเท่ากับเป็นการปิดกั้นโอกาสสำหรับการจ้างงานกว่า 10,000 ตำแหน่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมนาฬิกาและอัญมณีซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุด ส่วนอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่มีการปลอมแปลงผลิตภัณฑ์ ได้แก่ เครื่องจักร โลหะ เสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์ยา ซึ่งพบบ่อยขึ้นนับตั้งแต่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่การซื้อขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ปลอมเหล่านี้ โดยเฉพาะยาส่วนใหญ่ผลิตในจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ ตุรกี และอินเดีย เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบให้ภาครัฐสูญเสียรายได้ไปกว่า 160 ล้านฟรังก์สวิส
.
ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสามารถที่จะผลักดันสินค้าและบริการที่มีลักษณะของความเป็นไทย (Thainess) เช่น การนวด (Massage) หรือ สินค้าภูมิปัญญาชาวบ้านไทย (Made in Thailand) เช่น ยาหอม ยาดม เครื่องสมุนไพรต่าง ๆ เป็นต้น ผ่านการใช้สัญลักษณ์รับประกันความน่าเชื่อถือ เพื่อให้ประเทศอื่นสามารถจดจำสินค้าและบริการของแท้จากประเทศไทยได้ โดยไทยสามารถนำสินค้าและบริการต่าง ๆ มาต่อยอดเป็น Soft Power ในการกระตุ้นรายได้ของประเทศและสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้ในอนาคตต่อไป
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น