หลังจากที่สภาวะเศรษฐกิจของเยอรมนีกลับมาฟื้นตัวในครึ่งหลังของ ปี 2563 (ไตรมาสที่ 3/2563 ขยายตัวร้อยละ 8.7 และไตรมาสที่ 4/2563 ร้อยละ 0.5) GDP ไตรมาสที่ 1/2564 ของเยอรมนีหดตัวลงอีกครั้งที่ร้อยละ 1.8 ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายมาตรการ lockdown และการกระชับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ของเยอรมนี ส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนลดลงถึงร้อยละ 5.4 อย่างไรก็ดี การบริโภคของภาครัฐเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.2 โดยได้รับแรงกระตุ้นเชิงบวกจากการลงทุนก่อสร้างของภาครัฐเป็นหลัก ทั้งนี้ GDP ไตรมาสที่ 1/2564 ลดลงร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1/2563 อัตราเงินเฟ้อในเดือนเมษายนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 2 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบสองปี อันเป็นผลมาจาก การสิ้นสุดมาตรการการลดภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราวของรัฐบาลเยอรมนี
.
ในขณะที่ อัตราการว่างงานล่าสุดของเยอรมนี (เมษายน 2564) อยู่ที่ร้อยละ 6 (เมื่อเทียบกับเดือน เมษายน 2563 มีจํานวนคนว่างงานเพิ่มขึ้น 127,000 คน) ทั้งนี้ สถิติการจ้างงานในเยอรมนีในไตรมาสที่ 1/2564 มีจํานวนทั้งสิ้น 44.4 ล้านคน ซึ่งน้อยลงจากสถิติการจ้างงานรวมในปี 2563 จํานวน 707,000 คน หรือลดลงร้อยละ 1.6 การขยายมาตรการ lockdown ครั้งที่ 2 จากกลางเดือนธันวาคม 2563 จนถึงสิ้นเดือนมกราคม 2564 ส่งผลกระทบต่ออัตราการจ้างงานในภาพรวมไตรมาสที่ 1/2564 เพียงเล็กน้อย เนื่องจากการจ้างงานได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมนีภายใต้โครงการ short-time work (ซึ่งถือว่าผู้ลงทะเบียน short-time work ยังคงอยู่ในระบบการจ้างงาน ทําให้อัตราการว่างงานไม่สูงขึ้นมาก) โดยจาก สถิติของสํานักงานการจ้างงานเยอรมนี (Federal Employment Agency) จํานวนผู้ลงทะเบียน short-time work ในเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม 2564 มีจํานวน 745,000 คน 500,000 คน และ 197,000 คน ตามลําดับ และคาดว่าจะลดลงต่อเนื่องจากการที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสฯ เริ่มดีขึ้นและรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ แล้ว
.
ส่วนในด้านการค้า การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 (มูลค่าการส่งออกรวม 396.017 พันล้านยูโร) เทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2563 และลดลงร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 การนําเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 (มูลค่าการนําเข้ารวม 340.716 พันล้านยูโร) เทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2563 และลดลงร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ปี 2563 โดยเยอรมนี ได้ดุลการค้าต่างประเทศรวมจํานวน 55.3 พันล้านยูโร
.
ในด้านของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนี มีการเริ่มขยายตัวขึ้นในเดือนมีนาคม 2564 ที่ร้อยละ 2.5 (หลังจากที่หดตัวลงที่ร้อยละ 2.2 และ 1.9 ในเดือน มกราคม และกุมภาพันธ์ 2564 ตามลําดับ โดยผลผลิตรวมในไตรมาสที่ 1/2564 ลดลงที่ร้อยละ 0.9 ภาคการผลิตวิศวกรรมเครื่องกลขยายตัวขึ้นร้อยละ 6.0 ภาคการผลิตรถยนต์หดตัวลงถึงร้อยละ 12.1 และอุตสาหกรรมการก่อสร้างหดตัวลงที่ร้อยละ 4
.
การสั่งซื้อสินค้าภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 1/2564 สูงขึ้นรวมกว่าร้อยละ 2.4 โดยในเดือนมีนาคม 2564 มียอดการสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 3 โดยการสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ เพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 1.6 และการสั่งซื้อภายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 ส่วนใหญ่เป็นการสั่งซื้อเครื่องจักรกล อุปกรณ์การประมวลผลข้อมูล สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับสายตา อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการสั่งซื้อสินค้าเพิ่มมากขึ้น แต่ผลการผลิตภาคอุตสาหกรรมรถยนต์กลับลดลงเนื่องจากประสบปัญหาขาดแคลนสารกึ่งตัวนํา (semiconductor) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสําคัญในอุตสาหกรรมรถยนต์
.
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจเยอรมนีปี 2564 นั้น กระทรวงเศรษฐกิจและพลังงานเยอรมนี คาดว่า แม้เศรษฐกิจ ในไตรมาสที่ 1/2564 จะยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสฯ มากกว่าที่เคย คาดการณ์ไว้ แต่สภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสต่อ ๆ ไปน่าจะเติบโตในทิศทางที่ดีขึ้นหาก รัฐบาล เยอรมนี สามารถ ผ่อนคลายมาตรการและเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน ซึ่งจะส่งผลให้อัตราการบริโภคของประชาชนสูงขึ้น โดยกระทรวงเศรษฐกิจและพลังงานเยอรมนี คาดว่า GDP ในไตรมาสที่ 2/2564 จะเติบโตที่ร้อยละ 0.9
.
ทั้งนี้ รัฐบาล เยอรมนี ได้ประกาศยกเลิกการจัดลําดับกลุ่มเป้าหมายในการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสฯ แล้วตั้งแต่ เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 ซึ่งน่าจะทําให้การฉีดวัคซีนแก่ประชาชนทั่วไปรวดเร็วขึ้น
.
โดยมีการคาดการณ์ GDP รวมปี 2564 จากหลากหลายหน่วยงาน เช่น (1) ธนาคาร Deutsche Bank ได้ปรับตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจรวมของปี 2564 จาก ร้อยละ 4.5 ที่ได้คาดการณ์ไว้เมื่อต้นปีเหลือที่ร้อยละ 3.7 และ (2) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF) ปรับตัวเลขคาดการณ์สูงขึ้นจากร้อยละ 3.5 เป็นร้อยละ 3.6 ทั้งนี้ ธนาคารกลางแห่งเยอรมนี (Deutsches Bundesbank) ยังคงตัวเลขคาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 3.0
.
โดยเยอรมนีถือเป็นหนึ่งในประเทศที่เป็นผู้ค้าหลักกับไทย โดยไตรมาสที่ 1 ปี 2564 การค้าระหว่างไทย-เยอรมนีมีมูลค่ารวมถึง 2,558.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.47) โดยแบ่งเป็นมูลค่าการส่งออกจํานวน 1,175.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.29) และมูลค่าการนําเข้าจํานวน 1,382.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.87) จะสามารถเห็นได้ว่าการส่งออกจากไทยไปยังเยอรมนีนั้น เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เยอรมนีจึงถือเป็นอีกหนึ่งตลาดที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะส่งออกสินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่เยอรมนีมีการนำเข้าจากไทยมากที่สุด เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ ฯลฯ
.
นอกจากนี้ เศรษฐกิจเยอรมนียังมีแนวโน้มที่จะสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากประชากรในประเทศมีการฉีดวัคซีนโดสแรกไปแล้วร้อยละ 47 ของประชากรทั้งหมด และผู้ได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 โดส ถึงร้อยละ 23.9 จึงมีการคาดการณ์ว่า ประชาชนในเยอรมนีเกือบทั้งหมดจะได้รับวัคซีนภายในฤดูใบไม้ร่วงนี้ ซึ่งจะทําให้ รัฐบาลเยอรมนี สามารถผ่อนคลายมาตรการได้เพิ่มมากขึ้นอีก และคาดว่าเศรษฐกิจเยอรมนี จะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง
.
สอท. ณ กรุงเบอร์ลิน