สิงคโปร์มีนโยบายการส่งเสริมความเป็นเลิศด้านยา เวชภัณฑ์ และชีวการแพทย์ และการเป็นศูนย์กลางด้านการแพทย์จีโนมิกส์และการแพทย์แม่นยำในภูมิภาค โดยสิงคโปร์มีความพร้อมสูงและได้ดึงดูดภาคเอกชนให้มาลงทุนในสาขายา เวชภัณฑ์และเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งบริษัทยาชั้นนําที่มีรายได้สูงสุดทั่วโลก 8 รายจาก 10 ราย ได้จัดตั้งฐานการผลิตในสิงคโปร์ เช่น (1) Johnson & Johnson (2) Pfizer (3) Rodie (4) Novartis และ (5) Angen และยังเป็นฐานการผลิตยาชั้นนํา 4 ประเภท จาก 10 ประเภทที่มียอดจําหน่ายสูงสุดในโลก
.
คณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจของสิงคโปร์ (Singapore Economic Development Board – EDB) กล่าวถึงเหตุผลสําคัญ 3 ประการที่ทําให้บริษัทยาและเทคโนโลยีชีวภาพมาตั้งฐานการผลิตในสิงคโปร์ว่า
.
(1) สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางทางด้านวิทยาศาสตร์ยา เวชภัณฑ์ และชีวการแพทย์ ภาคเอกชนจากทั่วโลกที่มาลงทุนในสิงคโปร์จะได้รับประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากร และระบบนิเวศนวัตกรรม (innovation ecosystem) ของสิงคโปร์ที่มีประสิทธิภาพ เอื้อต่อการดําเนินธุรกิจ และมีข้อได้เปรียบด้านภูมิเศรษฐศาสตร์ในเอเชีย
.
(2) สิงคโปร์มีความเป็นเลิศในด้านการผลิตระดับโลก โดยได้ผลิตสินค้าและนวัตกรรมด้านยาและวัคซีน รวมถึงชีวการแพทย์จํานวนมาก บริษัทผู้นําอุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็น (1) Pfizer (2) Novartis (3) Sanofi (4) AbbVie และ (5) Angen ได้ตั้งฐานการผลิตในสิงคโปร์เพื่อส่งออกผลิตภัณฑ์ทั้งที่เป็นส่วนผสมยาที่ใช้งานผลิตภัณฑ์ยาและสารยาชีววิทยา ซึ่งส่งไปจําหน่ายและใช้งานทั่วโลก
.
(3) สิงคโปร์มีระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation ecosystem) ที่กว้างขวางและครบวงจร สอดรับกับ การค้นคว้าวิจัยและพัฒนายาที่มีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบตลอดเวลา บริษัทเอกชนสามารถร่วมมือกับสถาบันชั้นนํา รวมถึงสถาบันเทคโนโลยีชีวภาพที่ก่อตั้งขึ้นใหม่ โรงพยาบาล คลินิก หรือองค์กรต่าง ๆ ในการคิดค้นและเพิ่มสินทรัพย์ โดยหน่วยงานภาครัฐได้จัดสรรเงินทุนวิจัยด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและชีวการแพทย์ เป็นมูลค่าสูงถึง 4 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์
.
ตัวอย่างบริษัทเอกชนต่างประเทศที่ลงทุนสร้างโรงงานผลิตในสิงคโปร์ ได้แก่
.
(1) บริษัท GlaxOSmithKine (GSK) บริษัทชีวเภสัชภัณฑ์จากสหราชอาณาจักร จัดตั้งโรงงานผลิตยาปฏิชีวนะระดับโลก มูลค่ากว่า 32 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพื่อผลิตยาเพนิซิลลินกึ่งสังเคราะห์ที่เพิ่งค้นพบใหม่ และเป็นแหล่งผลิต amoxicillin ซึ่งเป็นสารประกอบออกฤทธิ์ที่ใช้ในการผลิตยาปฏิชีวนะสําหรับการรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย
.
(2) บริษัท Amgen บริษัทชีวเภสัชภัณฑ์จากสหรัฐฯ Amgen ลงทุนมากกว่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในโรงงานผลิตชีวการผลิตรุ่นใหม่ ตั้งอยู่ในนิคม Tuas Biomedical Park (TBP) เป็นโรงงานผลิตแห่งแรกของ Amgen ในเอเชียและเป็นนวัตกรรมที่ดีที่สุด
.
นอกจากบริษัทยาชั้นนําขนาดใหญ่ระดับโลกแล้ว รัฐบาลสิงคโปร์ยังสนับสนุนองค์กรสิงคโปร์ที่บุกเบิกการพัฒนาชีวการแพทย์ เช่น บริษัท Hummingbird Bioscience ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาการรักษาด้วยแอนติบอดี เพื่อเป็นตัวเลือกทางการแพทย์ในการรักษาโรคติดเชื้อโควิด – 19
.
สำหรับนโยบายการส่งเสริมการแพทย์จีโนมิกส์และการแพทย์แม่นยํา เพื่อให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางของเอเชีย รัฐบาลสิงคโปร์ได้จัดตั้งสถาบันที่สนับสนุนการแพทย์จีโนมิกส์เป็นการเฉพาะ รวมถึงการดําเนินความร่วมมือกับสถาบันชั้นนําของต่างประเทศ ได้แก่
.
(1) Genome Institute of Singapore – GIS เป็นสถาบันของหน่วยงานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และการวิจัย (Agency for Science, Technology and Research – A*STAR) ก่อตั้งขึ้นในปี 2543 เพื่อเป็นศูนย์กลางในการค้นคว้าจีโนมิกส์ โดย GIS จะศึกษาและผสมผสานเทคโนโลยี พันธุศาสตร์ และชีววิทยา เพื่อดูผลกระทบทางวิชาการ เศรษฐกิจ และสังคม ภายใต้วิสัยทัศน์ระดับโลกที่จะใช้วิทยาศาสตร์จีโนมิกส์เพื่อยกระดับสุขภาพของมนุษย์ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมความกินดีอยู่ดีของประชาชน
.
(2) SingHealth Duke-NUS Genomic Medicine Centre (SDGMC) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2562 เพื่อค้นคว้าวิจัยด้านพันธุศาสตร์การแพทย์และอํานวยความสะดวกในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับจีโนมของสถาบันในกลุ่ม SingHealth ทั้งหมด โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นผู้นําการรักษาทางคลินิกที่นําสมัย ด้วยการใช้เทคโนโลยีจีโนมขั้นสูง เพื่อปรับปรุงคุณภาพการวินิจฉัย การรักษา และการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยที่เป็นโรคทางพันธุกรรมและครอบครัว
.
โดยการแพทย์จีโนมิกส์ (Genomic Medicine) เป็นนวัตกรรมการบริการทางการแพทย์ที่ใช้ข้อมูลพันธุกรรมเฉพาะบุคคลร่วมกับข้อมูลทางสุขภาพอื่น ๆ มาใช้ในการวินิจฉัย รักษา และหาปัจจัยเสี่ยงที่ทําให้เกิดโรค ซึ่งสามารถรักษาผู้ป่วยได้ตรงจุด แม่นยํา และเหมาะสมกับสภาพพันธุกรรมของผู้ป่วยแต่ละรายมากขึ้น และสำหรับการแพทย์แม่นยํา (Precision Medicine) เป็นแนวทางการรักษาโรครูปแบบใหม่ ช่วยให้แพทย์ สามารถรักษาผู้ป่วยได้จําเพาะถึงรายบุคคล โดยแพทย์จะเอารหัสพันธุกรรมหรือโปรตีนของผู้ป่วยรายนั้น ๆ ซึ่งอาจเก็บได้จากตัวอย่างชิ้นเนื้อ เลือด หรือปัสสาวะของผู้ป่วย นําไปเพาะและเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลกลางที่สามารถระบุกลไกการเกิดโรคที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล เพื่อให้ทราบถึงตัวยาที่สามารถตอบสนองต่อผู้ป่วยรายนั้นได้ดีที่สุด และเกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด
.
ทั้งนี้ การแพทย์แม่นยําเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของแผนวิจัย นวัตกรรม และธุรกิจ (Research, Innovation and Enterprise – RIE) ของสิงคโปร์ โดยกระทรวงสาธารณสุขของสิงคโปร์ได้จัดตั้ง Precision Health Research Singapore (PRECISE) ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อนแผนกลยุทธ์ National Precision Medicine (NPM) 10 ปี ของสิงคโปร์เพื่อจัดการและยกระดับการวิจัยด้านชีวการแพทย์ ผลลัพธ์ด้านสุขภาพ และการเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ กลยุทธ์ NPM 10 ปี (2560 – 2570) แบ่งเป็น 3 ระยะ ปัจจุบันอยู่ในระยะที่ 2 เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 โดยมีเป้าหมาย ดังนี้ (1) วิจัยเชิงลึกเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Phenotype (ลักษณะที่มองเห็นได้) ของคนเอเชีย โดยวิเคราะห์องค์ประกอบทางพันธุกรรมของชาวสิงคโปร์ที่มีสุขภาพดี 100,000 คน และผู้ป่วยโรคเฉพาะมากถึง 50,000 คน (2) ปรับปรุงผลลัพธ์ของผู้ป่วยโดยการนําร่องการใช้การแพทย์แม่นยําในการรักษาในคลินิก (3) สร้างโอกาสใหม่ทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพและเทคโนโลยีชีวการแพทย์ของสิงคโปร์ โดยดึงดูดบริษัทต่างประเทศและแสวงให้โอกาสใหม่ ๆ สําหรับภาคธุรกิจในสิงคโปร์จากตัวอย่างที่เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 หนังสือพิมพ์ The Business Times สิงคโปร์รายงานว่าองค์กรบริหารเงินทุนและความมั่งคั่งของรัฐบาล (Government of Singapore Investment Corporation – GIC ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของสิงคโปร์ ที่นํา Sovereign Wealth Fund ไปลงทุนต่อยอดและสร้างรายได้แก่สิงคโปร์จํานวนมหาศาลทุกปี) ได้สนับสนุนเงินลงทุนให้แก่บริษัท Engine BioSciences จํานวน 57 ดอลลาร์สิงคโปร์ โดยบริษัทฯ ได้ใช้เครื่องมือและการทดสอบทางชีววิทยาขนาดใหญ่ในการค้นหาวิธีการรักษาโรคมะเร็งและโรคอื่น ๆ ด้วยการแพทย์แม่นยํา โดยเงินทุนวิจัยรอบใหม่จะสนับสนุนการศึกษาวิจัยด้านการรักษาเนื้องอกวิทยาที่แม่นยําในวงกว้างยิ่งขึ้น โดยบริษัทฯ ได้เตรียมความพร้อมสําหรับโปรแกรมทางคลินิกครั้งแรก และขยายแพลตฟอร์ม เทคโนโลยีที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทฯ
.
รัฐบาลของหลายประเทศทั่วโลกให้ความสําคัญกับการแพทย์แม่นยําและได้ริเริ่มโครงการจีโนมแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม โครงการระดับชาติเหล่านี้ส่วนใหญ่เน้นการศึกษาวิจัยที่ประชากรชาวตะวันตกหรือชาวยุโรป แต่ยังขาดข้อมูลการวิจัยเกี่ยวกับคนเอเชียซึ่งคิดเป็นร้อยละ 60 ของประชากรโลก โดยหน่วยงาน PRECISE ของสิงคโปร์จึงมุ่งเน้นการแสดงบทบาทเป็นผู้นําของภูมิภาคในการศึกษาวิจัยด้านจีโนมจากประชากรหลากหลายเชื้อชาติ เช่น จีน อินเดีย มาเลเซีย ทมิฬ ในสิงคโปร์ ปัจจุบัน ประเทศไทยได้มีการจัดทําแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศ (Genomics Thailand) ปี 2563 – 2567 ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และหน่วยงานภาคีเครือข่าย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วย BCG Economy Model ระยะเวลา 6 ปี และ Big Rock Projects ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์จีโนมิกส์และการแพทย์แม่นยำอาจพิจารณาเพิ่มพูนความร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องของสิงคโปร์ เช่น PRECISE หรือ GIS เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านการแพทย์แห่งอนาคตร่วมกันต่อไป พร้อมทั้งติดตามพัฒนาการธุรกิจ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับตัวให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดที่มีผู้เล่นที่มีศักยภาพสูง
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์