ด้านมูลค่าการค้า
.
ไทยและบราซิลมีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศ จำนวน 861.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหดตัวลงร้อยละ 3 หรือลดลง 26.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และคิดเป็นสัดส่วนการค้าร้อยละ 0.67 ของมูลค้าการค้า รวมของไทย ส่งผลให้อันดับของบราซิลในฐานะประเทศคู่ค้าของไทยจากเดิมอันดับที่ 24 ปรับลงมาอยู่ที่อันดับที่ 26 จากคู่ค้าทั้งหมดของไทย แต่บราซิลยังคงเป็นคู่ค้าอันดับที่ 1 ของไทยจากภูมิภาคลาตินอเมริกา
.
ด้านการส่งออกและนำเข้า
.
มูลค่าการส่งออกของไทยใน 3 เดือนแรกอยู่ที่ 552.93 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2563 จำนวน 104.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.19 ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 308.67 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยนำเข้าลดลง จำนวน 130.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือลดลงร้อยละ 29.75 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
.
ด้านดุลการค้า
.
ไทยได้ดุลการค้าในช่วงไตรมาสแรก จำนวน 244.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยได้ดุลการค้าเพิ่มขึ้นจำนวน 234.82 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2,486 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมีสาเหตุสำคัญจาก 2 ปัจจัย ได้แก่
.
1) การนำเข้า ที่ไทยมีการนำเข้าถั่วเหลืองจากบราซิลลดลงอย่างมากในช่วงไตรมาสแรกเพราะผลผลิตถั่วเหลืองของบราซิลออกล่าช้าเนื่องจากประสบกับปัญหาฤดูแล้ง และสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การนำเข้าถั่วเหลืองลดลง เนื่องจากราคาถั่วเหลืองของบราซิลมีราคาสูงขึ้นเพราะมีความต้องการถั่วเหลืองมากขึ้นจากทั้งในบราซิลและต่างประเทศ
.
2) การส่งออก ไทยได้ส่งออกสินค้าไปบราซิลเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสแรก เนื่องจากบราซิลมีความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นกว่าปกติ เพื่อทดแทนการนำเข้าสินค้าดังกล่าวที่ลดลงในช่วงไตรมาสสุดท้าย ของปี 2563 และ ในช่วงเวลาไตรมาสที่ 1 บราซิลมีความต้องการยางพาราและ ผลิตภัณฑ์ยางที่เพิ่มมากขึ้น
.
ด้านสินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าและส่งออกจากบราซิล
.
สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกมาบราซิล ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์ยาง ยางพารา รถจักรยานยนต์ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม เม็ดพลาสติก คอมพิวเตอร์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ตู้เย็น ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น
.
สินค้าสำคัญที่ไทยนำเข้าจากบราซิล ได้แก่ ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เยื่อกระดาษ ด้ายและเส้นใย สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เป็นต้น
.
ถึงแม้ว่าไทยจะนำเข้าสินค้าจากบราซิลน้อยลงในช่วงที่ผ่านมา แต่กลับเป็นโอกาสอันดีของการส่งออกข้าวไทยไปตีตลาดบราซิล เนื่องจากมาตรการลดภาษีนำเข้าข้าวเหลือ 0% ที่ถึงแม้จะหยุดมาตรการดังกล่าวไปตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา แต่ยังมีโอกาสที่บราซิลจะนำเข้าสินค้าการเกษตรของไทยมากขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ คณะรัฐบาลบราซิลชุดปัจจุบันยังได้มีนโยบายเปิดตลาดบราซิลกับประเทศต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมและอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ โดยจะลดภาษีนำเข้าสินค้า และลดอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี โดยเฉพาะ อุตสาหกรรมบริการ และการท่องเที่ยวที่เป็นจุดแข็งของไทย ซึ่งสอดคล้องกับความสามารถของบราซิลที่เชี่ยวชาญและมุ่งในการลงทุนด้านการตกแต่งภายใน ของใช้ตกแต่งบ้าน อาคาร และสถาปัตยกรรม ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทยที่ต้องการลงทุนร่วมกับบราซิลในอุตสาหกรรมการโรงแรมและการท่องเที่ยว และเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ดีขึ้น จนสามารถเปิดรับนักท่องท่องเที่ยวได้ ไทยจะสามารถชูจุดเด่นในการรองรับนักท่องเที่ยวจากบราซิลได้เพิ่มเป็นอย่างมาก
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบราซิเลีย