สิงคโปร์กำลังเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ระลอกใหม่ โดยเฉพาะจากเชื้อ B16172 เชื้อกลายพันธุ์คู่จากประเทศอินเดีย เชื้อ B117 จากสหราชอาณาจักร เชื้อ B1351 จากแอฟริกาใต้ และเชื้อ P1 จากบราซิล เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อกลายพันธุ์สูงถึง 43 ราย จาก 10 กลุ่ม (clusters) ซึ่งเป็นการระบาดที่รุนแรงที่สุดในสิงคโปร์ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่เมื่อปี 2563 สิงคโปร์เผชิญกับวิกฤตการณ์แพร่ระบาดในหอพักแรงงานต่างชาติ ซึ่งเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วโลก
.
รัฐบาลสิงคโปร์จึงได้เริ่มมาตรการควบคุมการเดินทางข้ามพรมแดนและการกักตัวอย่างเคร่งครัด โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2564 เวลา 23:59 น. ผู้ถือบัตรพักอาศัยระยะยาว (long-term pass) และระยะสั้น (short-term visitors) ที่มีประวัติการเดินทางไปประเทศอินเดียในช่วง 14 วันก่อนหน้าการเดินทางมายังสิงคโปร์ จะถูกห้ามเดินทางเข้าหรือเปลี่ยนเครื่องบินที่สิงคโปร์ จากนั้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 เวลา 23:59 น. ได้ขยายมาตรการครอบคลุมที่มีประวัติเดินทางไปเอเชียใต้อีก 4 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ เนปาล ปากีสถาน และศรีลังกา ซึ่งถูกห้ามเข้าสิงคโปร์เช่นกัน
.
วันที่ 7 พฤษภาคม 2564 เวลา 23:59 น. สิงคโปร์ได้เพิ่มระยะเวลาการกักตัวผู้เดินมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงสูง จาก 14 วัน เป็น 21 วัน ซึ่งประเทศไทยก็ถูกปรับมาอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย และในวันเดียวกัน กระทรวงแรงงานสิงคโปร์ได้ประกาศหยุดรับคำขอมีบัตรอนุญาตทำงานในสิงคโปร์จากประเทศที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งรวมถึงบัตรอนุญาตทำงาน (Work Permit) บัตรประเภท S Pass และ Employment Pass (E Pass) ทั้งนี้ ผู้สมัครที่ได้รับอนุมัติบัตรอนุญาตทำงานก่อนการประกาศ ก็จะถูกเลื่อนกำหนดการเข้ามาทำงานในสิงคโปร์ออกไปเช่นกัน ยกเว้นสายงานที่สิงคโปร์ต้องพึ่งพาแรงงานต่างชาติอย่างยิ่ง คือ การก่อสร้าง อุตสาหกรรมการต่อเรือ การเดินเรือและอุตสาหกรรมกระบวนการ และพนักงานทำความสะอาดบ้าน
.
การยกระดับมาตรการเข้าเมืองเพื่อควบคุมโรคระบาดดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อตลาดทรัพยากรมนุษย์และแรงงานในสิงคโปร์ เนื่องจากเป็นประเทศขนาดเล็กและมีแรงงานไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องอาศัยแรงงานข้ามชาติในสายงานต่าง ๆ ที่มีผลโดยตรงต่อวิถีชีวิตของประชาชน เช่น การก่อสร้างสาธารณูปโภค เคหสถาน สายงานบริการ และการดูแลผู้สูงอายุและเด็ก รวมทั้งส่งผลเชิงลบต่อสายงานธุรกิจต่าง ๆ ในสิงคโปร์ มีดังนี้
.
(1) อุตสาหกรรมก่อสร้าง โครงการก่อสร้างที่พักอาศัย โครงการสร้างตามสั่ง ต้องเผชิญกับปัญหางานก่อสร้างล่าช้าเนื่องจากขาดแคลนแรงงานข้ามชาติซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศอินเดียและเอเชียใต้ และอาจจะทำให้โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐและเอกชนที่มีกำหนดแล้วเสร็จในปีนี้ต้องล่าช้าไปอีกอย่างน้อยหนึ่งปี
.
(2) ธนาคารและภาคการเงิน แม้ว่าจะไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงนัก เนื่องจากพนักงานส่วนใหญ่เป็นคนสิงคโปร์ แต่ก็ได้รับผลกระทบอยู่บ้างในตลาดการเงินการธนาคารที่เกี่ยวข้องกับอินเดีย และในด้านการจ้างงาน ถึงแม้ว่าธนาคารและภาคการเงินจะยังสามารถจ้างผู้ทำงานจากประเทศและภูมิภาคที่มีความเสี่ยงต่ำในการติดเชื้อ COVID-19 เพิ่มเติม แต่ทรัพยากรมนุษย์จากเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ยังเป็นทรัพยากรสำคัญที่ทดแทนได้ยาก นอกจากนี้ถึงแม้การจ้างงานทางไกลหรือให้ทำงานออนไลน์จะเป็นทางเลือกในสถานการณ์นี้ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดด้านการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล เช่น ข้อมูลการเงินสำคัญของบริษัท ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับธุรกิจประเภทนี้ ดังนั้น สิ่งที่ธนาคารพอจะทำได้คือการลดการพึ่งพาการใช้แรงงานมนุษย์และเพิ่มการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น
.
(3) สายงานเทคโนโลยี เป็นสายงานที่ดำเนินธุรกิจโดยการจ้างงานระยะไกลหรือจ้างทีมสนับสนุนที่อาศัยในต่างประเทศอย่างเป็นประจำอยู่แล้ว จึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่หลาย ๆ บริษัทต้องปรับรูปแบบการบริหารบุคคล โดยการผสมผสานทีมสนับสนุนจากต่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาหลักขององค์กร รวมถึงมุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรที่มีทั้งทักษะฝีมือ ประสบการณ์ และความพร้อมภายในประเทศ
.
ทั้งนี้ รัฐบาลสิงคโปร์ได้เล็งเห็นถึงปัญหา จึงพยายามให้ความช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ โดยเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2564 กระทรวงแรงงานสิงคโปร์ ประกาศเพิ่มการคืนเงินค่าธรรมเนียมการจ้างแรงงานต่างชาติ (Foreign Worker Levy Rebate) เฉพาะสำหรับวิสาหกิจในภาคการก่อสร้าง อุตสาหกรรมทางทะเลและการต่อเรือ การเดินเรือ และอุตสาหกรรมกระบวนการ จากที่เคยคืนให้นายจ้างเดือนละ 90 ดอลลาร์สิงคโปร์ เพิ่มเป็น 250 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อคนระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งจะมีบริษัทกว่า 15,000 บริษัท ได้รับสิทธิประโยชน์ดังกล่าว โดยกระทรวงแรงงานสิงคโปร์ให้เหตุผลว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ นโยบายดังกล่าวจะช่วยให้นายจ้างสามารถรักษาการจ้างงานที่มีอยู่ในปัจจุบันและว่าจ้างพนักงานจากประเทศที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อต่ำกว่าได้ เช่น ประเทศจีน นอกจากนี้ในส่วนของอุตสาหกรรมก่อสร้าง รัฐบาลยังช่วยผ่อนปรนค่าใช้จ่ายจากความยืดเยื้อในโครงการก่อสร้างของภาครัฐอีกด้วย
.
เนื่องจากประเทศไทยกำลังเผชิญสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ระลอกใหม่เช่นกัน และถูกจัดอันดับโดย ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (Centers for Disease Control and Prevention-CDC) ให้เป็นประเทศที่อยู่ในระดับความเสี่ยงสูง ในขณะที่สิงคโปร์อยู่ในระดับปานกลาง ดังนั้น การเข้าไปทำงานในสายธุรกิจก่อสร้าง หรือ สายงานบริการในสิงคโปร์ในเวลานี้อาจจะยังไม่เหมาะ แต่ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะสายงานเทคโนโลยีสามารถใช้โอกาสนี้เป็นช่องทางในการนำเสนอทีมงานหรือผลงานให้สิงคโปร์พิจารณาการจ้างงานระยะไกล หรือแม้กระทั่งพัฒนาและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ และสิงคโปร์จะกลายเป็นโอกาสทองสำหรับการเติบโตของธุรกิจไทยในอนาคตอย่างแน่นอน