ความใกล้ชิดทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างจีนกับอาเซียน ทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นจุดหมายในการ “ก้าวออกไป” ของธุรกิจจีนและเป็นหนึ่งในเป้าหมายในการขยายห่วงโซ่อุตสาหกรรม ห่วงโซ่อุปทาน และห่วงโซ่คุณค่าของประเทศจีน
.
ในปี 2563 “อาเซียน” ได้ก้าวขึ้นเป็นคู่รายใหญ่ที่สุดของจีน โดยเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงในฐานะที่เป็นมณฑลแห่งเดียวของจีนที่มีอาณาเขตติดกับอาเซียนทั้งทางบกและทางทะเล และได้รับการกำหนดยุทธศาสตร์จากรัฐบาลกลางให้เป็น Gateway to ASEAN เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนระหว่างสองฝ่ายที่ใกล้ชิดแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและการค้าที่ “อาเซียน” นั่งเก้าอี้คู่รายใหญ่ที่สุดของกว่างซี 20 ปีติดต่อกัน
.
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 เวลา 15:49 น. เครื่องบินบรรทุกสินค้าของ China Postal Airlines ได้ฤกษ์ทะยานจากสนามบินนานาชาติอู๋ซวีนครหนานหนิงมายังกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเที่ยวปฐมฤกษ์ มีนัยสำคัญว่าเที่ยวบินคาร์โก้นครหนานหนิง-กรุงเทพฯ ได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้ว
.
การเปิดเที่ยวบินคาร์โก้หนานหนิง-กรุงเทพฯ นับเป็นความเคลื่อนไหวใหม่ในรอบเดือนนี้ หลังจากที่เพิ่งเปิดเที่ยวบินคาร์โก้ในเส้นทางนครหนานหนิง-กรุงธากา ประเทศบังกลาเทศไปเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2564 โดยเที่ยวบินคาร์โก้หนานหนิง-กรุงเทพฯ มีบริษัท Guangxi Tianhang Internatinal Supply-Chain เป็นผู้ดำเนินการ เครื่องบินมีความจุ 29 ตัน
.
สินค้าที่ขนส่งมาที่กรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นไปรษณีย์ภัณฑ์ที่สั่งซื้อผ่านระบบ Cross-border e-Commerce สินค้าทั่วไป และชิ้นส่วนที่ใช้ในงานวิศวกรรมก่อสร้าง ขณะที่สินค้าที่รับจากกรุงเทพฯ กลับไปที่นครหนานหนิง ส่วนใหญ่เป็นอาหารทะเล ปลาสวยงาม ดอกกล้วยไม้ และพืชผัก โดยสื่อท้องถิ่นได้ไฮไลท์ “อาหารทะเล” ของไทยเป็นสินค้าชูโรง
.
ตามข้อมูลปี 2563 ปริมาณขนถ่ายสินค้าของสนามบินหนานหนิงขยายตัวสูงถึง 280.5% เปิดให้บริการเที่ยวบินขนส่งสินค้าในหลายเส้นทาง เช่น นครโฮจิมินห์และเมืองญาจางของเวียดนาม กรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ และกรุงพนมเปญของกัมพูชา
.
ปัจจุบัน ธุรกิจการบินของนครหนานหนิงเติบโตอย่างรวดเร็ว นอกจากการขนส่งผู้โดยสารแล้ว สนามบินนครหนานหนิงได้พัฒนา Cargo Complex เพื่อรองรับงานโลจิสติกส์และโกดังสินค้าระหว่างประเทศในอารักขาศุลกากรในสนามบิน ซึ่งช่วยให้สนามบินแห่งนี้กลายเป็นด่านนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างประเทศเต็มตัว โดยเฉพาะการนำเข้า “สินค้าสดและสินค้ามีชีวิต” ซึ่งที่ผ่านมา สนามบินหนานหนิงเคยนำเข้ากุ้งขาวแวนนาไมค์ (Penaeusvannamei) แบบมีชีวิตจากประเทศไทยมาแล้วเช่นกัน
.
สนามบินนานาชาติอู๋ซวีในนครหนานหนิง จึงอาจเป็นช่องทางและโอกาสใหม่ที่ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งด้านทำเลที่ตั้งใกล้ ซึ่งใช้เวลาบินเพียง 2 ชั่วโมง ในการส่งออกสินค้าที่เป็นที่นิยมอย่างอาหารทะเล กล้วยไม้ไทย หรือ สินค้าอื่น ๆ ที่ซื้อขายผ่านแพลตฟอร์ม Cross-border e-Commerce เพื่อเจาะตลาดจีนตอนใต้ได้ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังสามารถบุกเบิกตลาดสินค้าสัตว์น้ำมีชีวิต ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่ยังมีคู่แข่งไม่มากได้อีกด้วย
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง