ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 รองนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ได้กล่าวถึงแนวการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของสิงคโปร์ใน 3 ด้าน เพื่อตอบสนองต่อทิศทางการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและกระแสธุรกิจโลก โดยมีแนวคิด “Singapore Virtually Unlimited” เพื่อสร้างสิงคโปร์ให้เป็นพื้นที่แห่งโอกาสอันไม่สิ้นสุดสำหรับภาคธุรกิจและประชาชน เป็นหนึ่งในแนวคิดหลัก ผ่านการสร้างอาณาเขตเสมือนจริง (Virtual Frontiers) ให้สิงคโปร์ที่เชื่อมโยงกิจกรรมด้านเศรษฐกิจกับทั่วโลก ซึ่งมีแนวทางในการดำเนินการ 5 ประการ คือ
.
- การผลักดันนโยบายชาติอัจฉริยะ (Smart Nation)
.
จากกระแสดิจิทัลภิวัตน์ทั่วโลก ทำให้สิงคโปร์ควรผลักดันนโยบายชาติอัจฉริยะ (Smart Nation) เพื่อเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ โดยที่ผ่านมารัฐบาลสิงคโปร์ได้สร้างรากฐานด้านดิจิทัลที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง ภาคธุรกิจของสิงคโปร์สามารถสร้างตลาดสินค้าและบริการออนไลน์เพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ด้วยระบบดิจิทัล รวมถึงการส่งเสริมการฝึกอบรมบุคคลผ่านระบบทางไกล และกลไก Workforce Solutions เพื่อช่วยให้บริษัทสิงคโปร์สามารถหาทรัพยากรบุคคลได้จากทั่วโลกที่ตรงกับอุปสงค์ของตลาดงานในสิงคโปร์ได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ ระบบการอบรมทางไกลยังสร้างโอกาสให้ชาวสิงคโปร์สามารถไปทำงานในต่างประเทศได้มากขึ้นด้วย ยิ่งไปกว่านั้น สิงคโปร์ยังสามารถกำหนดนิยามใหม่ของประเทศในฐานะเมืองอัจฉริยะที่ปลอดภัย เอื้อต่อการค้า ภาคธุรกิจ การทำงาน และการพักผ่อนด้วย
.
- ความยั่งยืนและการสร้างโอกาสในการเติบโต
.
สิงคโปร์ควรสร้างประเทศให้เป็นศูนย์กลางด้านความยั่งยืน ซึ่งรวมถึงด้านเศรษฐกิจสีเขียวที่กำลังขยายตัวทั่วโลก และต่อสู้กับปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อไป โดยสิงคโปร์ควรผลักดันบทบาทการเป็นศูนย์กลางการค้าและบริการคาร์บอน (Carbon Trading and Services Hub) โดยเฉพาะการพัฒนาตลาดคาร์บอนที่มีคุณภาพและเชื่อถือได้ การเสริมสร้างความยืดหยุ่นของอาหาร (Food Resilience) ด้วยเทคโนโลยีทางการเกษตรขั้นสูง เช่น การทำฟาร์มแนวตั้งในร่ม และการระบุสาขาเทคโนโลยีทางการเกษตรที่สิงคโปร์ควรมุ่งลงทุนและมีบทบาทนำในช่วงต่อจากนี้ รวมถึงการสร้างศักยภาพในการตรวจสอบของห่วงโซ่คุณค่า (Traceability and Accountability)
.
- การสร้างรากฐานที่มั่นคงและแกนกลางที่แข็งแกร่งเพื่อรองรับการเติบโต
.
รัฐบาลสิงคโปร์ ควรสนับสนุนการเติบโตของภาคธุรกิจท้องถิ่นขนาดใหญ่ในระดับนานาชาติ โดยใช้จุดแข็งของสิงคโปร์คือ นวัตกรรม ความเป็นสากล การควบรวมและซื้อกิจการ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในขณะเดียวกันนั้นควรต้องส่งเสริมศักยภาพของวิสาหกิจ SMEs และวิสาหกิจขนาดเล็ก (Micro Enterprises) ให้มากขึ้น รวมถึงการพัฒนาและยกระดับฝีมือแรงาน โดยใช้แนวทางเชิงป้องกันและคาดการณ์ (Preventive and Predictive Approach) เช่น สามารถคาดการณ์ภาวะตลาดงานถูกกระทบ และความจำเป็นที่จะฝึกอบรมแรงงานสาขาใด ๆ อย่างทันท่วงที และการจัดทำแผนการฝึกอบรมแรงงานเพื่อให้ภาคธุรกิจและแรงงานมีความยืดหยุ่นยิ่งขึ้นและพร้อมสำหรับอนาคต
.
- การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐอย่างเป็นระบบ
.
สิงคโปร์ได้มีการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตร Alliances for Action (AFAS) เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นความร่วมมือทางอุตสาหกรรมระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเป็นช่องทางความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และเป็นกุญแจสำคัญในการปฏิรูปการเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในอนาคต โดยกลุ่มพันธมิตร AFAS จะร่วมกันกำหนดแผนงานและสาขาความร่วมมือที่ชัดเจน รวมทั้งยังจะปรับปรุงรูปแบบ AFAS ในสาขาที่ยังไม่บรรลุเป้าหมายต่อไปด้วย
.
- การเสริมสร้างหุ้นส่วนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
.
สิงคโปร์ควรวางตัวเป็นหุ้นส่วนด้านการฟื้นตัวการเติบโตทางเศรษฐกิจกับทุกประเทศ และส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านแบบสมประโยชน์ (Win-win Situation) โดยสิงคโปร์สามารถร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคในทุกระดับ ทั้งแบบรัฐต่อรัฐและธุรกิจต่อธุรกิจ ซึ่งจะช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมและความรู้ความเข้าใจของสิงคโปร์ในภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก สิงคโปร์จึงควรส่งเสริมการจัดตั้งช่องทางใหม่ ๆ ในการดึงดูดบริษัทที่สนใจมาลงทุนในภูมิภาคนี้มากขึ้น นอกจากนี้ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเป็นพันธมิตรทางดิจิทัลที่สำคัญของสิงคโปร์ จึงควรมีการส่งสริมความเชื่อมโยงดิจิทัลในระดับภูมิภาคด้วย
.
จะเห็นได้ว่า ผู้ประกอบการไทยในสิงคโปร์ หรือผู้ประกอบการที่มีการทำธุรกิจกับสิงคโปร์ ควรพิจารณาปรับวิธีการดำเนินธุรกิจให้เข้ากับแนวทางการพัฒนาประเทศสิงคโปร์ให้เป็นประเทศไร้ขีดจำกัดทั้ง 5 แนวทาง ไม่ว่าจะเป็น การนำเทคโนโลยีและดิจิทัลมาใช้ในธุรกิจให้มากขึ้น หรือการให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ซึ่งการปรับตัวนี้จะนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจทั้งในประเทศและระหว่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากแนวทางเหล่านี้นั้นสอดคล้องกับนโยบายการดำเนินงานของรัฐบาลไทยในการสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) เช่นเดียวกัน
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์