เมื่อไม่นานมานี้ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงได้เปิดให้บริการขนส่งสินค้าทางรถไฟไปยุโรปแบบ Direct line เป็นครั้งแรก ในเส้นทาง “เมืองหลิ่วโจว – กรุงมอสโก” เพื่อกรุยทางและเชื่อมตลาดยุโรปด้วยรถไฟแบบไร้รอยต่อ ซึ่งมีนัยสำคัญต่อการเปิดสู่ภายนอกและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของกว่างซี รวมถึงประเทศสมาชิกอาเซียนในการใช้ประโยชน์จากช่องทางดังกล่าวเพื่อขยายการค้ากับประเทศในยุโรป
.
ตามรายงาน เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา รถไฟ China-Europe Express เที่ยวขบวนที่ 75082 ที่ลำเลียงรถตัก 57 คัน และรถปาดเกลี่ยดิน 4 คันอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต จำนวน 52 ตู้ของบริษัท Liugong Group ได้ปล่อยตัวออกจากศูนย์โลจิสติกส์หลิ่วโจวใต้ โดยออกจากประเทศจีนที่ด่านหม่านโจวหลี่ (แมนจูเรีย) เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน และไปสิ้นสุดที่สถานี Vorsino ในกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย รวมระยะทาง 11,000 กิโลเมตร
.
ข้อดีของบริการขนส่งสินค้าทางรถไฟจากเขตฯ กว่างซีจ้วงไปยุโรป มีดังนี้
-
สะดวกและปลอดภัย ด้วยเส้นทาง Direct line ไม่ต้องมีการเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่นครเฉิงตูหรือนครซีอานอีกต่อไป ช่วยให้ประสิทธิภาพงานขนส่งเพิ่มสูงขึ้น ประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม
-
ประหยัดเวลา หากเปรียบเทียบกับการขนส่งทางเรือไปขึ้นที่ท่าเรือเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (St.Petersburg) และใช้รถหัวลากไปที่กรุงมอสโกแล้ว การขนส่งทางรถไฟสามารถประหยัดเวลาได้มากกว่า 2 สัปดาห์
-
ลดต้นทุน ขั้นตอน/กระบวนการที่สะดวกรวดเร็ว จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ผู้ส่งออกได้มากยิ่งขึ้น กอปรกับระยะเวลาขนส่งที่สั้น เมื่อสินค้าถึงเร็ว อัตราการหมุนของเงินก็กลับมาเร็วเช่นกัน
.
ความเคลื่อนไหวข้างต้นนับเป็นการติดปีกให้กับสินค้าอุตสาหกรรมของเมืองหลิ่วโจว ช่วยเสริมฟังก์ชันและสร้างความแข็งแกร่งให้กับบริษัทชั้นนำในเมืองหลิ่วโจวในการส่งออกสินค้าไปเจาะตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มสินค้ายานยนต์และเครื่องจักรก่อสร้าง อีกทั้งจะช่วยดึงดูดการลงทุนภาคอุตสาหกรรมจากต่างมณฑลและต่างประเทศให้เข้ามาในเมืองหลิ่วโจวเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์จากจุดแข็งด้านระบบงานขนส่งและโลจิสติกส์ดังกล่าว
.
สำหรับผู้ส่งออกไทยที่กำลังมองหาทางเลือกในการขนส่งสินค้าไปยุโรป บนพื้นฐานงานขนส่งโมเดล “เรือ+ราง” ที่มีอยู่เดิมระหว่างท่าเรือแหลมฉบัง/ท่าเรือกรุงเทพของไทย – ท่าเรือชินโจวของกว่างซีนั้น ถือเป็นช่องทางใหม่ที่สามารถนำสินค้าไทยไปเจาะตลาดจีนได้อย่างสะดวกและรวดเร็วแล้ว ผู้ส่งออกไทยยังสามารถต่อยอดเส้นทางดังกล่าวเพื่อขนส่งสินค้าไปยังตลาดเอเชียกลางและยุโรปได้อีกด้วย ทั้งนี้ ระบบงานขนส่งดังกล่าวสามารถรองรับตู้สินค้าได้หลายประเภท
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง
.
ที่มา:
https://thaibizchina.com/%e0%b8%97%e0%b8%b2%e0%b8%87%e0%b9%80%e0%b8%a5%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%81%e0%b9%83%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%82%e0%b8%ad%e0%b8%87%e0%b8%9c%e0%b8%b9%e0%b9%89%e0%b8%aa%e0%b9%88%e0%b8%87%e0%b8%ad/