ด้านภาพรวมสภาวะเศรษฐกิจ
.
การแพร่ระบาดที่รุนแรงตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาในอินเดีย จะส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจอย่างมากในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ โดยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะชะลอตัวถึงร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปี และกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะหายไปเป็นมูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านรูปี ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ โรงแรม ท่องเที่ยว การบิน ร้านอาหารและสันทนาการ ธุรกิจค้าปลีก และส่งผลต่ออัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้น และรายได้ครัวเรือนของชนชั้นล่างที่ลดลง อย่างไรก็ดี ผลกระทบในภาพรวมจะไม่มากเท่ากับช่วงการประกาศ Lockdown ทั้งประเทศของอินเดียเพื่อรับมือการแพร่ระบาดระลอกแรกในปี 2563 โดยเมื่อเทียบกัน สภาวะเศรษฐกิจน่าจะชะลอตัวน้อยกว่าถึงครึ่งหนึ่งปัจจัยหลักมาจากหลายอย่าง โดยเฉพาะมาตรการ lockdown ของรัฐบาล
.
มาตรการ lockdown ของรัฐบาลในรอบนี้ถือว่ามีความยืดหยุ่นสูงหรือ“soft lockdown” คือ ไม่ได้เป็นการประกาศปิดทั้งประเทศอย่างเข้มงวดเหมือนรอบก่อน แต่ในแต่ละรัฐกําหนดมาตรการบริหารจัดการเอง มีเพียงไม่กี่รัฐที่ประกาศ ‘complete lockdown’ เช่น รัฐทมิฬนาฑู ส่วนรัฐหรือเมืองที่มีขนาดใหญ่ส่วนใหญ่ใช้แนวทาง ‘partial lockdown’ หรือ “night curfew” เช่น มหาราษฏระ คุชราต หรือกรุงนิวเดลี ซึ่งยังอนุญาตให้ธุรกิจที่เป็น essential services ดําเนินต่อได้ และให้มีกิจกรรมเท่าที่จําเป็นต่อ ชีวิตประจําวัน เช่น การขนส่งสินค้าและอาหาร การรักษาพยาบาล ธนาคาร เป็นต้น จึงช่วยบรรเทาและรักษาธุรกิจที่เป็น supply chain ให้มีความต่อเนื่องในระดับหนึ่งได้
.
ถึงอย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการและประชาชนมีการปรับตัวและมีกลยุทธ์สามารถรองรับมาตรการ lockdown ได้ดียิ่งขึ้น เพราะเรียนรู้และมีประสบการณ์ New Normal จากมาตรการ lockdown ในรอบแรก
.
ด้านผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ
.
อุตสาหกรรมการผลิต – สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ CRISIL (สาขาของ S&P ในอินเดีย) เห็นว่าแม้ผลกระทบจากการระบาดรอบนี้จะไม่มากเท่าปีก่อน แต่ก็ยังคงเผชิญต่อความท้าทายอย่างเห็นได้ชัด โดยดัชนีสภาวะทางเศรษฐกิจของภาคการผลิตและบริการ (Manufacturing Purchasing Manager – PMI) ในช่วง เดือนมีนาคม 2564 อยู่ที่ 55.4 ถือว่าตำ่ที่สุดในรอบ 7 เดือน (แม้เป็นช่วง 7 เดือน ที่มีการเปิดประเทศมาโดยตลอด) และ อัตราการเติบโตยังอยู่แดนติดลบกว่าร้อยละ 39.3 ในไตรมาสที่ 1/2564 ทั้งนี้ อาจจะเนื่องมาจากกําลังซื้อของผู้บริโภคโดยรวมที่ยังไม่กลับมาในจุดเดิม และมีแนวโน้มการระบาดระลอก 2 จะทําให้สถานการณ์ย่ำแย่ลง รวมทั้ง จะปรับลําดับความสําคัญด้านอุตสาหกรรมการผลิตไปในสาขาที่มุ่งแก้ไขวิกฤต COVID-19 เช่น เหล็กและออกซิเจน อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจ โลกเริ่มฟื้นตัว หลายประเทศออกจาก Lockdown แล้ว ทําให้มีอัตราการบริโภคมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นโอกาสให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตในอินเดียฟื้นตัวจากการส่งออก
.
อสังหาริมทรัพย์ – ภาพรวมปี 2563 ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยของอินเดียสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย และในบางไตรมาสปรับตัวลดลง (เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 และ 1.1 ในไตรมาสที่ 1 และ 2 ตามลําดับ เมื่อเทียบกับ ร้อยละ 3.4 และ 3.3 ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน) และเมื่อพิจารณาเฉพาะเมืองใหญ่ ได้แก่ กรุงนิวเดลี บังคาลอร์ กัลกัตตา และเจนไน จะเห็นว่าปรับตัวลดลงเฉลี่ยร้อยละ 1.1 ในไตรมาสที่ 2 แต่ยอดขายอสังหาริมทรัพย์ เริ่มฟื้นตัวในช่วงไตรมาส 1 ปี 2564 โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ฝั่งตะวันตก เช่น มุมไบและปุเณ มียอดขายเพิ่มขึ้น และ มีการคาดการณ์ว่าสถานการณ์ COVID-19 ระลอก 2 จะทําให้ดัชนีราคาที่อยู่อาศัยของอินเดียในปี 2564 มีความผันผวนมากต่อไป แต่ตลาดอสังหาริมทรัพย์จะยังคงเติบโตในระยะยาว
.
ธุรกิจสาขาอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบ – (1) ค้าปลีก (Retail) รายได้ของห้างสรรพสินค้าลดลงกว่าร้อยละ 40 – 50 เนื่องจากต้องยกเว้นค่าเช่า ลดราคาสินค้าเพื่อดึงดูดผู้ซื้อ (2) โรงแรม ลดลงกว่าร้อยละ 75 ซึ่งทําให้เกิดการปิดตัวลงเนื่องจากหลายสาขาไม่สามารถทํากําไรได้ (3) การบิน เนื่องจาก Lockdown ในประเทศและการที่ยังไม่อนุญาตบินระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี มีบางธุรกิจที่ยังเดินหน้าไปได้และได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นคือ การซื้อขายผ่าน e-commerce โดยเฉพาะสินค้าประเภทสุขภาพ เครื่องมืออุปกรณ์สําหรับกิจกรรมในบ้าน และ เวชภัณฑ์
.
ด้านนโยบายภาครัฐ
.
ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาล มุ่งเน้นการเร่งส่งเสริมขีดความสามารถของภาคการผลิตและการอํานวยความสะดวกเพื่อให้ทันแก้ไขวิกฤตการณ์ระบาด COVID-19 อาทิ การจัดหาถังออกซิเจน การนําเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ และการสนับสนุนการผลิตวัคซีนให้เพียงพอ นโยบายด้านอื่น ๆ ที่สําคัญที่ได้ดําเนินการ ได้แก่ (1) ด้านการเงิน เพิ่มการใช้จ่ายโดยภาครัฐเป็นมูลค่าอีกกว่าร้อยละ 1.3 ของ GDP และเร่งการใช้จ่ายในโครงการที่มีอยู่ก่อนแล้วเป็นมูลค่า 0.3 ของ GDP (2) ออกมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจผ่านการเพิ่มเครดิตเงินกู้ให้ภาคอุตสาหกรรมที่มีฐานการผลิตในประเทศเป็นมูลค่ากว่า 5.1 ของ GDP (3) ธนาคารกลางได้ออกมาตรการเพิ่มสภาพคล่องและปรับโครงสร้างเงินกู้ รวมทั้งได้เลื่อนการยื่นเอกสารภาษีประจําปี และลดค่าปรับดอกเบี้ยการจ่ายภาษีล่าช้า เพื่อแบ่งเบาภาระประชาชน และ MSMEs (4) การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย – รัฐบาลจะซื้อและแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อการเพาะปลูกให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบกว่า 800 ล้านคน ในช่วงเดือน พฤษภาคม – มิถุนายน มูลค่า 2.6 แสนล้านรูปี (5) ขยายมาตรการปล่อยเงินกู้โดยรัฐบาลกลางแก่รัฐบาลแต่ละรัฐเพื่อนําไปเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุน (Capital Expenditure) จํานวน 1.5 แสนล้านรูปี
.
การประเมินสถานการณ์ในระยะต่อไป
.
สถานการณ์น่าจะเข้าสู่สภาวะปกติมากขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 แต่ก็มีแนวโน้มว่า จะเป็นการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ เนื่องจากยังมีปัจจัยที่ไม่แน่นอนหลายประการ เช่น (1) ศักยภาพในการจัดการด้านวัคซีน ทั้งด้านการเพิ่มการผลิต การจัดสรรวัคซีน และการเร่งฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน ซึ่งขณะล่าช้ากว่าเป้าหมาย อีกทั้งยังเกิดสภาวะขาดแคลนวัคซีน (2) ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการระบาดระลอก 3 ที่มาจากวัฒนธรรมและวิถีของชาวอินเดียที่ไม่เอื้อต่อการทําตามกฏการเว้นระยะห่างและการที่มีประชากรหนาแน่น
.
ในระยะยาว อินเดียน่าจะยังคงรักษาอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ต่อเนื่อง แม้อาจจะมีอัตราช้าลง เนื่องจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจมีสัดส่วนที่หลายหลาย ทั้งอุตสาหกรรมหนัก อุตสาหกรรมการผลิต การเกษตร เทคโนโลยีนวัตกรรม โดยไม่ได้พึ่งพาตลาดภายนอกทั้งสินค้าและบริการเป็นหลัก การมีตลาดภายใน ขนาดใหญ่ ทั้งนี้ สถาบันการเงินหลายแห่งได้ปรับตัวเลขการคาดการณ์การเติบโต GDP อินเดียในปี 2564 จากเดิมที่ประมาณร้อยละ 11-12 ลงเป็นในระดับร้อยละ 8-10
.
ถึงอย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงการระบาดระลอก 2 น่าจะเป็นเพียงระยะสั้น หากเปรียบเทียบกับการระบาดระลอกแรกในปี 2563 มีหลายปัจจัยบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจอินเดียน่าจะสามารถฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับในรอบที่ผ่านมา เช่น ผู้บริโภคที่มีกําลังซื้อมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังเห็นได้จากในช่วงเดือนเมษายน ทางการอินเดียสามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (Goods and Services Tax – GST) ได้มากถึง 1.41 ล้านล้านรูปี สูงที่สุดตั้งแต่เริ่มมีการจัดเก็บมา และสูงกว่าระดับ 1 ล้านล้านมาก่อนหน้านั้นต่อเนื่องถึง 7 เดือน ในขณะที่ความต้องการและกําลังซื้อของผู้บริโภคมีมากขึ้นเช่นกัน เห็นได้จากยอดขายรถยนต์ การบริโภคไฟฟ้า และค่าผ่านทางพิเศษ
.
ดังนั้น อินเดียยังคงเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงสําหรับภาคเอกชนไทย โดยเฉพาะในด้านการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงชิ้นส่วนยานยนต์ที่เป็นสินค้าส่งออกหลักไทย เนื่องจาก ผู้บริโภคที่มีกําลังซื้อมีมากขึ้นดังที่กล่าวไปข้างต้น ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยอาจศึกษาลู่ทางการตลาด โดยใช้ช่องทางออนไลน์ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด เช่น การแสวงหาพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ ๆ ผ่าน Online Business Matching พร้อมศึกษากฎระเบียบ ภาษี สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ สําหรับการค้าการลงทุนของอินเดีย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อธุรกิจ และร่นระยะเวลาในการดำเนินการหลังสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอก 2 และเศรษฐกิจในอินเดียอย่างใกล้ชิด
.
สอท. ณ กรุงนิวเดลี
.
ขอบคุณรูปภาพจาก: https://www.thairath.co.th/news/foreign/2074130