ช่วงที่ผ่านมาจีนเน้นการพัฒนาด้านอาชีวศึกษาเป็นอย่างมาก โดยนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ได้ให้ความสำคัญกับการเร่งสร้างระบบอาชีวศึกษาและพัฒนาช่างเทคนิคที่มีความชำนาญ และเมื่อปี 2562 จีนได้ออกแผนปฏิรูปอาชีวศึกษาเพื่อส่งเสริมการบูรณาการระหว่างภาคการผลิตและการศึกษา ซึ่งภาคอาชีวศึกษาของจีนมีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด เนื่องจากจีนมีการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น รวมทั้งวิสาหกิจจีนออกไปประกอบธุรกิจในต่างประเทศมากขึ้นด้วยเช่นกัน
การลงทุนด้านอาชีวศึกษาของเมืองเซินเจิ้น
เมืองเซินเจิ้น ซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีของมณฑลกวางตุ้งและเป็นเมืองสาธิตการปฏิรูปด้านอาชีวศึกษาระดับชาติของจีน ได้มีการพัฒนาภาคอาชีวศึกษาเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน และส่งเสริมการพัฒนาด้านเทคโนโลยีให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เมืองเซินเจิ้นได้ลงทุนในด้านอาชีวศึกษามากกว่า 26,000 ล้านหยวน (4,044 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และภายในปี 2565 จะทุ่มเงินอีก 10,000 ล้านหยวน (1,540 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อยกระดับระบบอาชีวศึกษาให้มีความเป็นสากล และตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2568 จะพัฒนาให้สถาบันอาชีวศึกษา 2-3 แห่ง และสาขาวิชา 10-15 สาขา ก้าวเข้าสู่ความเป็นระดับโลก และในอีก 3 ปีข้างหน้า เมืองเซินเจิ้นจะสามารถรองรับนักศึกษาอาชีวศึกษาได้เพิ่มขึ้นอีก 18,000 คน
ปัจจุบัน เมืองเซินเจิ้นเป็นที่ตั้งของสถาบันอาชีวศึกษาถึง 31 แห่ง และมีนักศึกษาประมาณ 130,000 คน โดยแบ่งเป็นระดับเทียบเท่า ปวช. (ระดับกลางของจีน) 17 แห่ง ระดับเทียบเท่า ปวช. และ ปวส. (ระดับกลางและระดับสูงของจีน) 3 แห่ง และวิทยาลัยเทคนิค 11 แห่ง
แนวทางการพัฒนาด้านอาชีวศึกษาของเมืองเซินเจิ้น
เมื่อเดือนธันวาคม 2563 กระทรวงศึกษาธิการจีนและรัฐบาลมณฑลกวางตุ้งได้ออกแนวทางส่งเสริมการพัฒนาอาชีวศึกษาอย่างมีคุณภาพใน ซึ่งแนวทางดังกล่าวครอบคลุมหลายด้าน ได้แก่ การสร้างสถาบันอาชีวศึกษาระดับโลก การสร้างทีมผู้สอนที่มีคุณภาพ การปฏิรูปวิธีการเรียนการสอน และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเมืองภายใต้กรอบความร่วมมือมณฑลกวางตุ้ง – ฮ่องกง – มาเก๊า (Guangdong – Hong Kong – Macau Greater Bay Area: GBA) ในด้านการสมัครเข้าเรียนของนักศึกษา การจ้างงาน และการพัฒนาแรงงาน นอกจากนี้ รัฐบาลเมืองเซินเจิ้นยังได้ดำเนินการด้านอื่น ๆ เพื่อสนับสนุนภาคอาชีวศึกษา เช่น การออกแนวทางการปฏิรูประบบสิทธิการครอบครองที่ดินสำหรับสถาบันอาชีวศึกษา และการมอบเงินสนับสนุน 2,000 หยวนต่อปีให้แก่นักเรียนที่เข้าเรียนแบบเต็มเวลาในสถาบันอาชีวศึกษาในสาขาการเกษตรหรือสาขาที่เป็นที่ต้องการอื่น ๆ
“เซินเจิ้นโมเดล” ความร่วมมือจากภาคเอกชน
เมืองเซินเจิ้นมีการใช้ “เซินเจิ้นโมเดล” สำหรับพัฒนาด้านอาชีวศึกษาโดยเน้นการให้ประโยชน์แก่ 3 ฝ่าย ได้แก่ นักศึกษา สถานศึกษา และวิสาหกิจ ยกตัวอย่างเช่น ความร่วมมือระหว่างบริษัทหัวเว่ยกับสถาบันอาชีวศึกษา ซึ่งบริษัทหัวเว่ยจะช่วยจัดการฝึกอบรม กำหนดมาตรฐาน และออกประกาศนียบัตรให้กับนักศึกษาในสาขาต่าง ๆ เช่น Cloud Computing และ Big Data เป็นต้น โดยเนื้อหาการฝึกอบรมจะปรับเปลี่ยนตามความต้องการของตลาด และมีความทันสมัย ซึ่งโมเดลดังกล่าวจะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ฝ่ายนายจ้างไม่สามารถหาแรงงานที่มีความสามารถตรงกับความต้องการได้ ในขณะที่นักศึกษาที่จบจากสถาบันอาชีวศึกษาไม่สามารถหางานได้หรือขาดความรู้พื้นฐาน ซึ่งโมเดลนี้จะช่วยพัฒนานักศึกษาให้มีคุณสมบัติตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ทำให้นายจ้างประหยัดเวลาและต้นทุนในการฝึกอบรม
อนึ่ง ไทยมีเป้าหมายในการยกระดับอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีเช่นกัน จึงจำเป็นต้องมีบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งเยาวชนที่จบด้านอาชีวศึกษาจะกลายเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนที่สำคัญให้ไทยไปสู่จุดหมายได้เร็วยิ่งขึ้น ดังนั้นผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาความร่วมมือกับภาคการศึกษาและวิชาการ เน้นการใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม และงานวิจัยมากขึ้น เพื่อนำมาพัฒนาธุรกิจด้านอาชีวศึกษาและสาขาที่เกี่ยวข้องของประเทศไทยต่อไป
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว
แหล่งที่มาของข้อมูล
http://www.newsgd.com/news/2021-04/21/content_192355221.htm
https://baijiahao.baidu.com/s?id=1651299796697762322&wfr=spider&for=pc