มื่อวันที่ 28 เมษายน 2564 นาง Sonomi Tanaka ผู้อํานวยการสํานักงานผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ประจํา สปป. ลาว กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ พร้อมกับสิ่งท้าทายด้านโครงสร้างเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของ สปป. ลาว โดยคาดว่าเศรษฐกิจของ สปป. ลาวจะขยายตัวในระดับร้อยละ 4 ในปี 2564 และร้อยละ 4.5 ในปี 2565 ซึ่งเป็นผลจากการเกษตรกรรมที่ดีขึ้นและการผลิตไฟฟ้าซึ่งจะทดแทนการชะลอตัวของภาคบริการ
.
สิ่งจำเป็นเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและปกป้องสวัสดิภาพครัวเรือนการ คือ การเร่งฉีดวัคซีน และมาตรการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการบริหารเศรษฐกิจมหภาค เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือของนักลงทุน นอกจากนี้ มาตรการที่เข้มงวดต่อนักท่องเที่ยวในปี 2563 ส่งผลต่อการลดความต้องการในการบริโภคภายในและต่างประเทศ ซึ่งส่งผลให้มีการว่างงานเพิ่มขึ้น อีกทั้งด้านการเงินของภาครัฐได้รับผลกระทบอย่างมากไปพร้อมกันกับการลดอันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาล สปป. ลาว เนื่องจากความกดดันด้านสภาพคล่องจากภายนอกที่เพิ่มมากขึ้นท่ามกลางทางเลือกในการกู้ยืมเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จำกัด
.
ในปี 2564 คาดว่าภาคการเกษตรจะฟื้นตัวในระดับปานกลาง ซึ่งเป็นผลมาจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การปลูกพืชเพื่ออุปโภคและบริโภคจะเกิดความล่าช้าเนื่องจากสภาพอากาศ นอกจากนี้ การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมจะได้รับอานิสงค์จากการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เหมืองแร่ และอสังหาริมทรัพย์ในตัวเมือง คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในปี 2564 และ 2565 ซึ่งจะช่วยสร้างงานและเพิ่มกำลังซื้อของครัวเรือน และคาดว่าการขยายตัวของภาคบริการจะดีขึ้นจากการฟื้นตัวของการอุปโภคและบริโภคภายในประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นยุทธศาสตร์ อาทิ ทางด่วนเวียงจันทน์ – วังเวียง นอกจากนี้ ประเมินว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจากต่างประเทศจะกลับคืนสู่สภาพปกติในปี 2565 ทั้งนี้ ปัจจัยขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะกลางคาดว่าจะเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม การขนส่ง และการสื่อสาร
.
อย่างไรก็ดี ราคาอาหารที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากได้รับผลกระทบจากโรคระบาดและภัยพิบัติทางธรรมชาติ และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อของ สปป. ลาวเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 5.1 ในปี 2563 และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงเป็นร้อยละ 4.5 ในปี 2564 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 5 ในปี 2565 เนื่องจากความกดดันจากราคาสินค้านำเข้าที่ได้รับผลกระทบจากการลดลงของค่าเงินกีบ แต่จะได้รับการชดเชยบางส่วนจากการผลิตภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น
.
อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งท้าทายหลายประการ โดยเฉพาะการระดมทุนภายในประเทศ การขาดดุลงบประมาณของรัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โครงสร้างด้านเศรษฐกิจมหภาคของ สปป. ลาวมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากความกดดันด้านการชำระหนี้ รวมทั้งอัตราการกู้ยืมเพื่อมาชำระหนี้มีแนวโน้มสูงขึ้น ดังนั้น จำเป็นต้องสร้างพื้นฐานด้านงบประมาณเพื่อรองรับการขยายตัว และปฏิรูปหนี้สาธารณะให้มีความโปร่งใส
.
จากการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของ สปป. ลาว ในปี 64 และ 65 นั้น เติบโตสวนทางกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ แต่การขยายตัวทั้งในภาคอุตสาหกรรม โครงสร้างพื้นฐาน และการบริการ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยดึงดูดความสนใจจากต่างชาติให้เข้าไปลงทุนใน สปป. ลาว มากขึ้น ในสภาวการณ์ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงทั้งทางด้านสาธารณสุขและการหดตัวของเศรษฐกิจเช่นนี้ ผู้ประกอบการไทยจึงไม่ควรนิ่งนอนใจ และมั่นติดตามพัฒนาการของตลาดเพื่อนบ้านอย่าง สปป. ลาวอยู่เสมอ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการลงทุนหรือประกอบธุรกิจภายหลังสถานการณ์คลี่คลายลง
.
ที่มา
– นสพ. เศรษฐกิจสังคม นสพ. Vientiane Times และ นสพ. ประชาชน วันที่ 29 เมษายน 2564
– https://www.posttoday.com/economy/news/653011
– https://workpointtoday.com/asean-covid-new-wave-may-2021/
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ เวียงจันทน์