ปัจจุบันผลผลิตสัตว์น้ำของซาอุดีฯ อยู่ที่ประมาณปีละ 1 แสนตัน โดยรัฐบาลซาอุดีฯ ได้ตั้งเป้าเพิ่มกําลังการผลิตให้ได้สูงถึง 3 แสนตัน ในระยะแรก และเพิ่มเป็น 6 แสนตัน ภายในปี 2030 และกระทรวงเกษตรของซาอุดีฯ ได้แจ้งให้ภาคเอกชนในวงการเร่งรัดจัดทําข้อเสนอโครงการลงทุนเข้าสู่การพิจารณาเพื่อขอรับใบอนุญาตและรับการจัดสรรเงินอุดหนุนการผลิตจากรัฐบาล ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าอุตสาหกรรมสัตว์น้ำของซาอุดีฯ ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศของซาอุดีฯ ที่เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค และการมีที่ตั้งในจุดยุทธศาสตร์ที่สามารถส่งออกสินค้าได้สะดวกทั้งในยุโรปและเอเชีย นอกจากนี้ รัฐบาลซาอุดีฯ มีนโยบายที่เปิดกว้างมากขึ้นสําหรับประเทศไทย และอนุญาตให้มีการติดต่อทางธุรกิจในส่วนของธุรกิจการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ “Vision 2030” โดยบริษัทที่สนใจร่วมดำเนินธุรกิจกับภาคเอกชนไทย ได้แก่
.
(1) บริษัท Hana AL Zahrani Est มีแผนดำเนินบ่อเลี้ยงกุ้งน้ำกร่อยตั้งอยู่ในเขต Mastura เมือง Rabigh โครงการมีเนื้อที่ทั้งหมด 1.5 ล้านตารางเมตร และมีแผนการดําเนินงาน 2 ระยะ ระยะแรกตั้งเป้าพัฒนาพื้นที่ 700,000 ตารางเมตร ให้กลายเป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง ซึ่งได้ดําเนินการขุดบ่อแล้ว 20 บ่อ บนพื้นที่ประมาณ 350,000 ตารางเมตร ทั้งนี้ เมื่อการพัฒนาระยะที่หนึ่งแล้วเสร็จจะเริ่มพัฒนาอีก 800,000 ตารางเมตร ในลักษณะเดียวกัน นอกจากนี้ ทางบริษัทฯ ได้เสนอรูปแบบการลงทุนรูปแบบหุ้นส่วน 3 ฝ่าย ได้แก่ (1) เจ้าของที่ดิน (2) บริษัท Hana ในฐานะผู้ลงเงินทุน และ (3) เอกชนไทยในฐานะเจ้าของเทคโนโลยี แรงงาน และระบบบริหารจัดการ
.
(2) บริษัท Island Prawn มีบ่อเลี้ยงกุ้งขนาด 2.2 เฮกตาร์ 32 บ่อ บ่อขนาดเล็กขนาด 0.35 เฮกตาร์ จํานวน 18 บ่อ และมี processing plant พื้นที่ประมาณ 360 ตารางเมตร มีกําลังการผลิตวันละ 20 ตัน บริษัทฯ มีผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2019 ผลิตได้ 587 ตัน และปี 2020 ผลิตได้ 851 ตัน อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้ยุติการผลิตลง เนื่องจากโครงการเลี้ยงกุ้งของบริษัทฯ ประสบปัญหากุ้งติดเชื้ออย่างรุนแรงจนต้องเลิกกิจการชั่วคราว และหวังว่าประเทศไทยซึ่งมีเทคโนโลยีและประสบการณ์ในการเลี้ยงกุ้งจะสามารถสนับสนุนบริษัทฯ ในการแก้ไขปัญหานี้ได้ โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าหมายการผลิตปลาและกุ้งให้ได้รวม 5,000 ตันต่อปี ในกรณีที่โครงการเสร็จสมบูรณ์และสามารถขยายพื้นที่การผลิตเพิ่มขึ้น
.
จากบทความข้างต้นประเทศไทย โดยเฉพาะภาคเอกชนไทย มีความเชี่ยวชาญทางเทคนิคด้านการดำเนินธุรกิจบ่อเลี้ยงกุ้งเป็นอย่างมาก ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมกุ้งของไทยมีจุดแข็งหลายประการ เช่น (1) การมีสายพันธุ์กุ้งที่โตไว สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ในระยะเวลาอันสั้น (2) มีสายพันธุ์กุ้งที่ต้านทานโรคได้ดี (3) มีพ่อพันธุ์แม้พันธุ์กุ้งที่ดี (4) มีการพัฒนาสูตรอาหารกุ้งที่ก้าวหน้า ซึ่งสามารถใช้อาหารจํานวนน้อยแต่สามารถให้ผลผลิตที่มาก โดยปัจจัยดังกล่าวทําให้ประเทศไทยสามารถมีผลผลิตต่อไร่สูงมาก เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีที่มีอยู่ในซาอุดีฯ ส่งผลให้บริษัทบ่อเลี้ยงกุ้งในซาอุดิฯ มั่นใจในศักยภาพของไทยในด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และเป็นโอกาสสำหรับภาคเอกชนของไทยที่สนใจเข้าร่วมดำเนินธุรกิจกับบริษัทในซาอุดีฯ ที่พร้อมเจรจาในรายละเอียดเกี่ยวกับการร่วมลงทุน รวมถึงเยี่ยมชมสถานที่จริง ผ่านการติดต่อสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ได้ที่ https://jeddah.thaiembassy.org/th/index
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์
.
ขอบคุณรูปภาพจาก : https://www.bangkokbanksme.com/article/22295