ธุรกิจด้านโลจิสติกส์ในสหราชอาณาจักรขยายตัวขึ้นหลายเท่าจากปัจจัย Brexit และการจับจ่ายทางออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงวิกฤตโควิด-19 ทําให้ปริมาณความต้องการพื้นที่เก็บสินค้า และความต้องการ Outsource บริการด้านพิธีการทางศุลกากร (Customs clearance) เพิ่มสูงขึ้นด้วย ยกตัวอย่างเช่น บริษัท Clipper Logistics ซึ่งมีพื้นที่คลังสินค้าให้เช่าทั้งในสหราชอาณาจักร และ EU มีมูลค่าหุ้นของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้น 4 เท่าตัว โดยส่วนหนึ่งเกิดจากการรับบริการขนส่งชุด PPE ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ในขณะที่ บริษัท Wincanton ซึ่งรับบริการด้านพิธีการศุลกากรสินค้า คาดว่าผลประกอบการของบริษัทในไตรมาสแรกของปี 64 จะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10 จากแนวโน้มของตลาดดังกล่าว ทั้งนี้ ภาคธุรกิจโลจิสติกส์ในสหราชอาณาจักร ถือว่าได้รับผลดีจาก Brexit อย่างไม่คาดคิดและมีโอกาสเติบโตต่อเนื่องภายหลังจากที่ร้านค้าปลีกในประเทศเริ่มเปิดให้บริการได้แล้วตั้งแต่วันที่ 12 เม.ย. 2564 เป็นต้นมา ทําให้เกิดความต้องการการบริการขนส่งที่ผสมผสานกันระหว่างทั้งช่องทางออนไลน์และในร้านค้ามากขึ้น รวมถึงการจัดการสินค้าที่รับคืนต่าง ๆ ซึ่งเอื้อต่อภาคธุรกิจดังกล่าวเป็นอย่างมาก
ในส่วนของอุตสาหกรรมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ บริษัท Dixons Carphone ประกาศแผนปิดสาขาในสนามบินถาวรจํานวน 35 แห่ง ในสหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ และนอร์เวย์ ซึ่งที่ผ่านมาทํากําไรให้กับบริษัทประมาณปีละ 20 ล้านปอนด์ โดยมีปัจจัยจากการยกเลิก tax-free shopping ในสหราชอาณาจักร หลังออกจากการเป็นสมาชิก EU ของ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 64 เป็นต้นมา ทําให้สหราชอาณาจักรเป็นประเทศเดียวในยุโรปที่ไม่ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ อย่างไรก็ดี บริษัท Dixons Carphone ได้ให้ข้อมูลว่ายอดขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น โทรทัศน์ อุปกรณ์เตรียมอาหาร อุปกรณ์เพื่อสุขภาพ ได้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม 64 ทั้งในสหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ และประเทศแถบแสกนดิเนเวีย ทำให้บริษัทสามารถชำระเงินช่วยเหลือค่าจ้าง (Furlough Scheme) คืนแก่รัฐบาลสหราชอาณาจักร จํานวน 73 ล้านปอนด์ได้ทั้งหมด และคาดว่าจะสามารถทํากําไรในปีนี้ได้ประมาณ 151 ล้านปอนด์
.
พัฒนาการที่มีนัยสำคัญต่อผู้ประกอบการไทย
.
1.ด้านบรรจุภัณฑ์อาหาร
.
สหราชอาณาจักรได้แก้ไขกฎระเบียบเกี่ยวกับการติดฉลากอาหารเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 64 โดยผู้ประกอบการที่ผลิตและขายอาหารที่บรรจุอยู่ในบรรจุภัณฑ์พร้อมขาย (prepacked for direct sale – PPDS) เช่น แซนวิช และสลัด ต้องติดฉลากอาหารโดยระบุชื่ออาหาร ส่วนผสม พร้อมกับสาร/ส่วนผสมที่อาจก่อให้เกิดการแพ้ให้ชัดเจน นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขของสหราชอาณาจักร ยังได้ประกาศเป้าหมายที่จะเพิ่มกฎระเบียบเกี่ยวกับข้อมูลในฉลากอาหารโดยให้มีการระบุปริมาณแคลอรี่ และเกลือในผลิตภัณฑ์อาหารแบบซื้อกลับบ้านในอนาคตอีกด้วย
.
2.การให้ข้อมูลผู้บริโภคผ่านช่องทางออนไลน์/แอพลิเคชั่น
.
ร้านอาหารที่ให้บริการสั่งอาหารผ่านช่องทางออนไลน์จําเป็นต้องระบุข้อมูลเกี่ยวกับสารที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ให้ชัดเจน และอาจอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคสามารถเลือกหรือไม่เลือกส่วนผสมบางรายการได้ เพื่อเอื้อให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจในการเลือกรับประทานอาหารได้อย่างมั่นใจ
.
3.การใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลในการบริหารจัดการและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
.
ปัจจุบันร้านอาหารหลายแห่งได้นําเทคโนโลยีและระบบดิจิทัลเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการร้าน เช่น การวางระบบจัดการครัวแบบดิจิทัล การใช้ระบบตรวจสอบความปลอดภัยของอาหารเพื่อลดขยะ การทํารายการอาหารออนไลน์ การใช้ระบบ Cloud ในการจัดเก็บ ข้อมูลแทนการพิมพ์เอกสาร และการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการจัดส่งอาหาร เป็นต้น ซึ่งถือเป็นพัฒนาการของตลาดที่ผู้ประกอบการร้านอาหารควรศึกษามาตรการของทางรัฐและติดตามแนวโน้มความสนใจด้านสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภคในสหราชอาณาจักร เพื่อเป็นประโยชน์ทางธุรกิจต่อไป
.
พัฒนาการข้างต้นถือเป็นพัฒนาการที่สำคัญ ที่ผู้ประกอบการร้านอาหารหรือผู้ส่งออกสินค้าไทยมายังสหราชอาณาจักรควรที่จะศึกษามาตรการ และติดตามแนวโน้มความสนใจในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในด้านสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี บรรจุภัณฑ์ และพฤติกรรมของผู้บริโภคในสหราชอาณาจักร เพื่อเป็นประโยชน์ในการประกอบธุรกิจในอนาคต
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน