เมื่อวันที่ 22 – 23 เมษายน 2564 นาง Mette Frederiksen นายกรัฐมนตรีเดนมาร์กได้รับเชิญให้เข้าร่วม การประชุม Virtual Leaders Summit on Climate ที่สหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพ โดยมีสรุปสาระสําคัญ ดังนี้
.
1. นาย Joe Biden ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เชิญ ประเทศผู้นํากว่า 40 ประเทศ เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว โดยนาย Vladimir Putin ประธานาธิบดีรัสเซียได้ตกลงที่จะกล่าวสุนทรพจน์โดยสรุปถึงความพยายามของรัสเซียในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศประเทศ ในวงกว้าง โดยมีเป้าหมายเพื่อลดผลกระทบเชิงลบของ Climate Change และเดนมาร์กเป็น 1 ใน 5 ประเทศผู้นําของ EU (เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี โปแลนด์ และสเปน) ที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุม โดยนาง Frederiksen นายกรัฐมนตรีเดนมาร์กได้กล่าวก่อนการเข้าร่วมการประชุม ว่า สหรัฐฯ กําลังกลับมาร่วมแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อนอย่างจริงจัง และจะช่วยขับเคลื่อนวาระการประชุมไปข้างหน้าในระดับโลก โดยได้รวบรวม ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลกทั้ง 17 ประเทศ รวมถึงสหรัฐฯ จีน และรัสเซีย ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 80 ของ การปล่อยก๊าซ CO2 ทั้งหมดในโลก การประชุมดังกล่าวนับเป็นก้าวสําคัญไปสู่กระประชุม COP26 ณ เมือง Glasgow ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง
.
เดนมาร์กมีความมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 70 ภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งนับว่าเป็นหนึ่งในเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศที่ทะเยอทะยานตามข้อตกลงปารีส และได้ตัดสินใจที่จะยุติการผลิตน้ํามันและก๊าซในทะเลเหนือภายในปี ค.ศ. 2050
.
2. เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2564 นาง Frederiksen นายกรัฐมนตรีเดนมาร์ก ได้กล่าวสุนทรพจน์ในระหว่าง การประชุม สรุปใจความสําคัญ ดังนี้
.
2.1 การสร้างเกาะพลังงานแห่งแรกของโลก เดนมาร์กกําลังก่อสร้างเกาะที่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าและเชื้อเพลิงสะอาด ตลอดจนการนํานวัตกรรมสีเขียวมาใช้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอสําหรับชาวยุโรปหลายล้านครัวเรือน โดยในปัจจุบันไฟฟ้าในเดนมาร์กเกือบร้อยละ 50 มาจากพลังงานลม ล่าสุดบริษัท Orsted ผู้พัฒนานวัตกรรมพลังงานลมนอกชายฝั่งที่ใหญ่ที่สุดของโลกและ ATP บริษัทเงินบํานาญและประกันสังคมที่ใหญ่ที่สุดของเดนมาร์กได้ร่วมมือกันและชนะการประมูลเพื่อสร้างเกาะพลังงานดังกล่าวในทะเลเหนือที่นับว่าเป็นโครงการก่อสร้างที่ใหญ่ที่สุดของเดนมาร์ก ซึ่งทั้ง 2 บริษัทต้องการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (green transition) ของเดนมาร์กอย่างมีนัยสําคัญ ทั้ง 2 บริษัทจึงมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาแหล่งทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่ในทะเลเหนือ โดยเกาะดังกล่าวจะเป็นฐานสําคัญในการควบคุมทรัพยากรลมนอกชายฝั่งของเดนมาร์กซึ่งมีส่วนสําคัญต่อ green transition ของทั้งเดนมาร์กและยุโรป นอกจากนี้ การสร้างเกาะพลังงานดังกล่าวยังเป็นการสร้างงานจํานวนหลายพันตําแหน่งในเดนมาร์กอีกด้วย
.
2.2 การดําเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหา Climate Change ของเดนมาร์ก ได้แก่ (1) เดนมาร์กต้องการจะแปรรูปไฟฟ้าที่ผลิตจากแหล่งพลังงานสะอาด (green electricity) ให้เป็นเชื้อเพลิงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (green fuel) ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการปล่อยมลพิษจากรถบรรทุก เครื่องบิน และเรือได้ และจะเป็นการสร้างงานตําแหน่งใหม่อีกจํานวนมาก นอกจากนี้ เดนมาร์กได้ยกตัวอย่าง Maersk บริษัทขนส่งทางเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่จะเริ่มใช้เรือขนส่งสินค้าที่มีการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (carbon neutral) ลําแรกของโลกในปี ค.ศ. 2023 (2) เดนมาร์กมุ่งหวังที่จะจัดทําพันธกิจนวัตกรรม การขนส่งสินค้าใหม่ (Mission Innovation on Shipping) โดยร่วมมือกับสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด และจะสนับสนุนพันธกิจนวัตกรรมการเกษตรเพื่อสภาพภูมิอากาศ (Agriculture Innovation Mission for Climate) โดยจะเพิ่มการค้นคว้าวิจัยและการพัฒนา (3) เดนมาร์กสร้างความเป็นหุ้นส่วนด้านสภาพภูมิอากาศกับทุกภาคส่วนธุรกิจของเดนมาร์กเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 70 ภายในปี ค.ศ. 2030 โดยที่ผ่านมาเดนมาร์กได้เปลี่ยน Orsted จากบริษัท พลังงานฟอสซิลที่ใหญ่ที่สุดให้เป็นบริษัทพลังงานยั่งยืนที่สุดในโลก นอกจากนี้ เดนมาร์กตัดสินใจที่จะยุติการผลิตน้ํามันและก๊าซ ทั้งหมดในทะเลเหนือภายในปี ค.ศ. 2050 ในปัจจุบันเดนมาร์กมีตําแหน่งงานด้านพลังงานสีเขียวมากกว่าตําแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับพลังงานฟอสซิล
.
3. เดนมาร์กมีความมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 70 ภายใน ปี ค.ศ. 2030 ที่สูงกว่า EU ที่ได้ตั้งเป้าหมายดังกล่าวไว้ที่ร้อยละ 55 โดยรายงานฉบับล่าสุดของ Danish Energy Agency (Energistyrelsen) ระบุว่าในปี ค.ศ. 2020 เดนมาร์กได้บรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 41 (8.2 ล้านตัน) จากทั้งหมด 20 ล้านตัน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแผนงานต่างๆ ของรัฐบาลที่ได้ดําเนิน ได้แก่ Climate plan for green waste sector and circular economy ข้อตกลงด้านสภาพภูมิอากาศสําหรับพลังงานและอุตสาหกรรม 2020 ข้อตกลงเกี่ยวกับ green transition ของการขนส่งทางบก และข้อตกลงเกี่ยวกับการปฏิรูปภาษีสีเขียว เป็นต้น คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 21 ซึ่งมากกว่าจํานวนที่คาดการณ์ไว้ในปี ค.ศ. 2019 (6.3 ล้านตัน)
.
เดนมาร์กเป็น ประเทศผู้นําด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้าน green solutions และรัฐบาลมีการวางแผนนโยบายทางเศรฐกิจอย่างชัดเจน มีการผลักดันอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ และทุกภาคส่วนของ ประเทศให้ความร่วมมือในการดําเนินนโยบายต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องซึ่งเห็นได้จากตัวอย่างความสําเร็จจํานวนมาก (success story) ของบริษัทชาวเดนมาร์ก ได้แก่ บริษัท Vestas ผู้ผลิตกังหันลมรายใหญ่ที่สุดของโลกและบริษัท Orsted ผู้พัฒนานวัตกรรมพลังงานลมนอก ชายฝั่งที่ใหญ่ที่สุดของโลก อีกทั้งที่ผ่านมารัฐบาลได้ดําเนินการด้านนโยบายต่างประเทศ และสิ่งแวดล้อมอย่างแข็งขันและพยายามผลักดันประเด็นการแก้ไขปัญหา Climate Change ในเวทีระหว่างประเทศอยู่เสมอ
.
นอกจากนี้ เดนมาร์กยังได้มองเห็นถึงศักยภาพและความร่วมมือกับอาเซียนที่กว้างขวางรวมถึงการส่งเสริม green agenda การพัฒนาที่ยั่งยืน และการเสริมสร้าง green diplomacy อย่างมีนัยสําคัญเพื่อผลักดันให้เกิดการดําเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ (climate action) เดนมาร์กได้เล็งเห็นถึงศักยภาพในการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีสีเขียวและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่จะเป็นประโยชน์ ต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและ green transition รวมถึงพลังงานหมุนเวียน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน waste-to-energy การบําบัดน้ําเสีย เทคโนโลยีด้านข้อมูลและการสื่อสาร และเศรษฐกิจหมุนเวียน
.
ในส่วนของประเทศไทย รัฐบาลไทยได้มีกำหนดให้โมเดลพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) เป็นวาระแห่งชาติเพื่อการฟื้นฟูหลัง COVID-19 ที่ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อการเติบโตระยะยาวอย่างยั่งยืน ผู้ประกอบการไทยอาจแสวงหาความร่วมมือกับเดนมาร์ก หรือหารือแลกเปลี่ยนความรู้และกฎระเบียบ ในด้าน green energy นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อนําไปใช้ในการพัฒนาสินค้าและบริการ และเพิ่มโอกาสให้กับธุรกิจต่อไปได้
.
สอท. ณ โคเปนเฮเกน