งาน Europe-Asia Startup Day เป็นการจัดงานเพื่อแบ่งปันและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านระบบนิเวศของ Startup ในสาขานวัตกรรมเกษตรและอาหารระหว่างประเทศในยุโรป 5 ประเทศกับไทย โดยครั้งนี้ได้ความร่วมมือจาก StartLife ซึ่งเป็นหน่วยงานที่สนับสนุนการทํางานอย่างครอบคลุมทั้งระบบให้กับ Startups ด้านนวัตกรรมการเกษตรและอาหารของเนเธอร์แลนด์ ที่จะช่วยส่งเสริมเส้นทางธุรกิจใหม่ในเนเธอร์แลนด์ให้กับผู้ประกอบการ SMEs และ Startups ของไทย
.
ในปี 2563 Global Startup Ecosystem Report 2020 by Genome ได้จัดให้เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีระบบนิเวศที่เอื้อต่อ Startups เป็นอันดับ 3 ในภูมิภาคยุโรป โดยมีปัจจัยสําคัญ ได้แก่ (1) การเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยีในยุโรป (2) ทําเลที่ตั้งของเนเธอร์แลนด์ที่อยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สําคัญของยุโรป (3) การมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ซึ่งเป็นที่ตั้งของท่าเรือรอตเตอร์ดัมและเป็นท่าเรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรป (4) การมีสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างต่อการดําเนินธุรกิจระหว่างประเทศ และ (5) มีตลาดที่เหมาะต่อการทดลองสินค้า โดยที่เนเธอร์แลนด์ได้รับการนิยามว่า เป็น “Small country, big tech footprint” ทําให้มีอุตสาหกรรมที่โดดเด่นในหลายสาขา ได้แก่ (1) เทคโนโลยีชีวภาพ (Biotech) การเกษตร และอาหาร (Agrifood) (2) อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอากาศยาน (Aerospace) (3) อุตสาหกรรม High Tech เทคโนโลยีการเงิน (FinTech) Clean Tech และ Life Science & Health ซึ่งสาขาดังกล่าวล้วนเอื้อต่อการเจริญเติบโตของ Startups ในเนเธอร์แลนด์ เนื่องจากสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนและทรัพยากรอื่น ๆ ที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตทางธุรกิจของ Startupsนอกจากนี้ เนเธอร์แลนด์มีระบบนิเวศทางธุรกิจและกลไกของภาครัฐที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะสําหรับ Startups ซึ่งรัฐบาลเนเธอร์แลนด์มีกลไกที่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่เยาวชนที่สนใจเริ่มประกอบธุรกิจ
.
สําหรับไทย รัฐบาลได้เตรียมแผนงานในการสนับสนุนเกษตรกรให้เพิ่มจํานวนผลผลิตให้ได้มากขึ้นในยุคหลัง COVID-19 และสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมแก่ Startups ในขณะที่เนเธอร์แลนด์มีนวัตกรรมด้านเกษตรและอาหารที่เป็นเลิศ โดยจะเห็นได้ว่า ไทยและเนเธอร์แลนด์ต่างเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สําคัญของโลก เมื่อปี 2562 สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ได้ลงนาม MoU ร่วมกับ StartLife ซึ่งเป็นศูนย์บ่มเพาะ Startups ด้านเกษตรและอาหาร และทํางานอย่างใกล้ชิดร่วมกับมหาวิทยาลัย Wageningen University & Research (WUR) มหาวิทยาลัยชั้นนําด้านการเกษตรของโลก โดยไทยได้ใช้ Food Valley ของเนเธอร์แลนด์เป็นแบบอย่างในการพัฒนา Food Innopolis แล้วด้วย
.
ภายในงาน Europe-Asia Startup Day นาย Kalyan Guntuboyina, Account Manager for Asia, Wageningen University & Research ได้นําเสนอข้อมูลแนวนโยบายของเนเธอร์แลนด์ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเล็ก มีประชากรประมาณ 17 ล้านคน มีเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 17 ของโลก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรซึ่งสร้างรายได้หลักให้กับประเทศ ซึ่งที่มาของความสําเร็จของเนเธอร์แลนด์ ได้แก่ เทคโนโลยีและระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของธุรกิจของเนเธอร์แลนด์ WUR เป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งด้านการเกษตรของโลกและอยู่เบื้องหลังความสําเร็จในการส่งออกสินค้าเกษตรของเนเธอร์แลนด์ มีส่วนช่วยสนับสนุนการทํางานของทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ ในบริเวณ มหาวิทยาลัย WUR เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยสถาบันวิจัย และภาคเอกชนมากกว่า 180 ราย ซึ่งทั้งหมดสามารถใช้สถานที่ ห้องปฏิบัติการ และทรัพยากรอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัย WUR ได้ร่วมกัน ทําให้เกิดโอกาสในการแบ่งปันความรู้ระหว่างองค์กร ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และสร้างบรรยากาศการดําเนินธุรกิจที่ปราศจากภาวะการแข่งขัน
.
สำหรับ StartLife มี Startups ในความดูแลมากกว่า 350 ราย ซึ่งนอกจากระบบนิเวศที่ส่งเสริมการเติบโตของ Startups แล้ว การเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่าง StartLife และมหาวิทยาลัย WUR ก็มีเป็นส่วนหนึ่งของความสําเร็จของ Startups จํานวนมากในเนเธอร์แลนด์ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ StartLife และมหาวิทยาลัย WUR ได้ร่วมกันจัดงาน F&A Next เป็นประจําทุกปี ซึ่งเป็นงานสร้างเครือข่ายระหว่าง Startups และนักลงทุนจากทั่วโลกในสาขาอาหารและเกษตร อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปี 2564 งาน F&A Next 2021 จะจัดผ่านระบบออนไลน์ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2564 และเชิญชวนให้ Startups ไทยเข้าร่วมงานในช่วงสุดท้าย ซึ่งเป็นช่วงของการจัด Pitching โดยเปิดโอกาสให้ Startups ของแต่ละประเทศเข้าร่วม โดยมี Startups ของเนเธอร์แลนด์เข้าร่วม 1 ราย ได้แก่ Reshore ซึ่งดําเนินธุรกิจด้านการออกแบบบริหารจัดการพื้นที่ชายฝั่งอย่างยั่งยืน โดยคํานึงถึงการปกป้องพื้นที่ตลิ่งและปะการัง การฟื้นฟูระบบนิเวศ และการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ชายฝั่งให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อการใช้ทรัพยากรทะเลเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยผู้อ่านและผู้ประกอบการสามารถเข้าไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ของ Reshore เพื่อศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่https://www.reshore.blue ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยที่สนใจงาน Europe-Asia Startup Day เพื่อต่อยอดนำความรู้ด้านนวัตกรรมการเกษตรและอาหารของเนเธอร์แลนด์มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจ รวมถึงการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันและพร้อมตั้งรับแนวโน้มในอนาคต สามารถรับชมงานดังกล่าวย้อนหลังได้ที่ https://www.facebook.com/watch/live/?v=1107390246401645&ref=watch_permalink
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก