เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2564 ทําเนียบขาวได้เผยแพร่แผนเศรษฐกิจใหม่ของสหรัฐฯ โดยใช้ชื่อว่า “American Jobs Plan” ซึ่งมีมูลค่า 2.25 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในระยะเวลา 8 ปี โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐฯ การสร้างงาน และการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันทางเศรษฐกิจในระดับโลกและกับจีน พร้อมเสนอแผนปฏิรูปโครงสร้างการเรียกเก็บภาษี “Made in America Tax Plan”
.
ในด้านแผน “American Jobs Plan” แบ่งการปฏิรูปออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่
.
1. โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง (มูลค่า 6.21 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ)
– ปรับปรุงและซ่อมแซม ถนน ทางหลวง สะพาน ทางรถไฟ สนามบิน ท่าเรือ และระบบคมนาคมขนส่งสาธารณะ
– ส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
.
2. โครงสร้างพื้นฐานสําหรับที่พักอาศัย (มูลค่า 6.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) แบ่งเป็น
2.1 โครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภคและเทคโนโลยี
– ปรับปรุงโครงสร้างระบบน้ําประปา ให้ชุมชนด้อยโอกาสได้มีน้ําดื่มที่สะอาดปลอดภัย
– ปรับปรุงโครงข่ายการจ่ายไฟฟ้าให้ทันสมัย และพร้อมรับมือกับความเสี่ยงด้านภัยพิบัติ
– ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด
– ปรับปรุงและขยายเครือข่าย high-speed broadband เพื่อให้ ครอบคลุมทั่วถึงทุกพื้นที่ และลดค่าใช้จ่ายในการใช้บริการ
2.2 โครงสร้างด้านที่อยู่ อาศัย สถานศึกษา สถานพยาบาล และอาคารของรัฐบาล
– สร้างและปรับปรุงที่อยู่อาศัยกว่า 2 ล้านแห่งแก่ชุมชมผู้ด้อยโอกาส
– ปรับปรุงสถานศึกษา สถานเลี้ยงดูเด็กและเยาวชน โรงพยาบาลทหารผ่านศึกและอาคารของรัฐบาล
.
3. โครงสร้างการบริการและการจ้างงานด้านการดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ (มูลค่า 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ)
– ปรับปรุงอาคารสถานที่ มาตรฐานคุณภาพการให้บริการ และขยายขอบเขตการรับบริการดูแลระยะยาว (home and community-based services – HCBS) ภายใต้โครงการ Medicaid
– เพิ่มผลประโยชน์และค่าจ้างให้แก่ผู้ให้บริการด้านการดูแล
.
4. ส่งเสริมการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยี การผลิต ธุรกิจขนาดย่อม และแรงงาน (มูลค่า 5.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ)
– ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่สําคัญเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันกับจีน
– ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตและห่วงโซอุปทานของสินค้าจําเป็นในสหรัฐฯ
– สร้างเครือข่ายเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งธุรกิจขนาดย่อมและการพัฒนาด้านนวัตกรรม
– ส่งเสริมการฝึกอบรมทักษะแรงงาน สร้างงานคุณภาพและส่งเสริมการเข้าร่วมสหภาพแรงงาน
.
ในด้านแผนปฏิรูปโครงสร้างภาษี “Made in America Tax Plan”
.
ประธานาธิบดีโจ ไบเดนได้เสนอแผนปฏิรูปโครงสร้างภาษีควบคู่กับแผนเศรษฐกิจ โดย
.
1. ปฏิรูปโครงสร้างการจัดเก็บภาษีนิติบุคคล (corporate tax) โดยการเพิ่มอัตราการเก็บภาษีจาก ปัจจุบันที่ร้อยละ 21 เป็นร้อยละ 28 เนื่องจากผลการสํารวจพบว่า ในปี 2561 บริษัทสหรัฐฯ จํานวน 91 บริษัทภายใต้การจัดอันดับ Fortune 500 ไม่มีการเสียภาษีเงินได้ และธุรกิจในสหรัฐฯ เสียภาษีในอัตราเฉลี่ยเพียงที่ร้อยละ 8
.
2. ยกเลิกกฎการยกเว้นการเรียกเก็บภาษีรายได้บางส่วนที่ส่งเสริมให้บริษัทสหรัฐฯ ย้ายฐานการลงทุน ไปยังต่างประเทศ และเสนอให้มีการกําหนดอัตราการเรียกเก็บภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั้งในสหรัฐฯ (ร้อยละ 21) และทั่วโลก โดยสหรัฐฯ จะผลักดันการเจรจาจัดทําสนธิสัญญาด้านภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำระหว่างประเทศด้วย
.
ซึ่งแผนปฏิรูปโครงสร้างภาษีดังกล่าวนี้ หากได้รับการอนุมัติควบคู่ไปกับแผนเศรษฐกิจ จะสามารถ สนับสนุนงบประมาณเต็มจํานวนได้ ภายในระยะเวลา 15 ปี และช่วยลดการขาดดุลในปีต่อ ๆ ไป
.
นอกจากนี้ ประธานาธิบดีโจ ไบเดนแถลงถึงความต้องการสร้างแผนปฏิรูปที่มีจุดประสงค์เพื่อการสร้างเศรษฐกิจที่เท่าเทียม โดยเฉพาะการให้ผลประโยชน์แก่ชนชั้นกลาง และการสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในตลาดโลกและกับจีน โดยแบ่งแผนการดําเนินงานออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่ American Jobs Plan และ American Families Plan ในขณะที่ นาง Gina Raimond รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ว่า แผนดังกล่าวจะช่วยให้สหรัฐฯ ได้เปรียบทางการแข่งขันกับจีนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ได้ ตามแผนงานที่มีการจัดสรรงบประมาณ เพื่อสนับสนุนการวิจัยและ การผลิตเซมิคอนดักเตอร์จํานวน 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
.
อย่างไรก็ตาม หอการค้าสหรัฐฯ ได้ออกถ้อยแถลงสนับสนุนแผนการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของสหรัฐฯ แต่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการจัดสรรงบประมาณผ่านการปฏิรูปโครงสร้างการเก็บภาษีของประธานาธิบดีโจ ไบเดน โดยเห็นว่า การขึ้นอัตราการเรียกเก็บภาษีนิติบุคคล จะเป็นอุปสรรคในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และลดขีดความสามารถด้านการแข่งขันของสหรัฐฯ ในตลาดโลก ในขณะที่กลุ่มบริษัทสหรัฐฯ มีท่าทีต่อแผนการปฏิรูปโครงสร้างการเก็บภาษีแตกต่างกันออกไป ทั้งแบบต้องการเจรจาขอลดหรือปรับรูปแบบอัตราภาษี และเห็นด้วยกับแผนการขึ้นภาษีดังกล่าว เนื่องจากเห็นถึงความจําเป็นและประโยชน์ต่อธุรกิจจากการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ในสหรัฐฯ อีกทั้งยังมีการวิเคราะห์ว่า กลุ่มอุตสาหกรรมและธุรกิจในสหรัฐฯ ที่จะได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากแผนการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว ได้แก่ ผู้ให้บริการเครือข่ายเชื่อมโยงอินเทอร์เน็ต ผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียน บริษัทในอุตสาหกรรมยา ผู้ให้บริการด้านการดูแลธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง วิทยาลัยและมหาวิทยาลัย และผู้ให้ บริการ Amtrak
.
จากแผนการปฏิรูปภาษีครั้งนี้ มีการระบุถึงความต้องการผลักดันการเจรจาจัดทําสนธิสัญญาด้านภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำระหว่างประเทศ เป็นการตอกย้ำท่าทีของสหรัฐฯ ว่า สหรัฐฯ จะกลับเข้าไปมีบทบาทนําและใช้เวทีการเจรจา Inclusive Framework (IF) on BEPS เพื่อตอบสนองท่าทีของสหรัฐฯ ในการปรับลดภาษีนิติบุคคลภายในประเทศ โดยการใช้กลไก IF เป็นตัวช่วยในการจัดการกับแรงเสียดทานภายในประเทศต่อการขึ้นภาษีนิติบุคคลที่จะเกิดขึ้นภายในอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ถึงความยั่งยืนของแผนดังกล่าว เมื่อคํานึงว่า สภาคองเกรสในอนาคตสามารถพิจารณาปรับอัตราภาษีลงได้ อันจะส่งผลต่อการจัดหางบประมาณสนับสนุนการดําเนินการตามแผนงานนี้ต่อไป
.
หากแผนเศรษฐกิจใหม่ของประธานาธิบดีโจ ไบเดนในครั้งนี้ได้รับการอนุมัติ จะส่งผลต่อการจ่ายภาษีนิติบุคคลที่มากขึ้นของบริษัทใหญ่ในสหรัฐฯ รวมถึงการยกเลิกข้อยกเว้นภาษีบริษัทอเมริกาที่รวมกับบริษัทต่างชาติ ผู้ประกอบการจึงควรติดตามแผนดังกล่าวอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ จะเห็นได้ว่า แผน Americans Job Plan จะมีการเน้นในด้านการคมนาคม และรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อม ผนวกกับการลดการนำเข้าจากจีน จึงอาจเป็นโอกาสอันดีของไทย ในการส่งออกอุปกรณ์ชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งจำเป็นต่อการขับเคลื่อนนโยบายนี้ อย่างไรก็ตามนโยบาย Buy American อาจส่งผลต่อการส่งออกไปยังอเมริกาในระยะยาวเนื่องจากการผลักดันการผลิต และบริโภคสินค้าภายในอเมริกา แต่กลับเป็นผลดีกับการส่งออกอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งหุ่ม และการเกษตรไทย เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล่านี้ไม่ได้มีฐานการผลิตในสหรัฐฯ และตลาดข้าวหอมมะลิในสหรัฐฯยังคงเป็นอันดับ 1 ของไทย อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ ได้มีสนธิสัญญาว่าด้วยเรื่องการเก็บภาษีกับประเทศไทย ซึ่งช่วยเหลือผู้ลงทุนไทยในสหรัฐฯ ในการลดหย่อนภาษีที่จะต้องจ่ายให้รัฐบาลจากรายได้ เพื่อส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศหรือผู้ลงทุนสหรัฐฯ ในต่างแดน ผู้ประกอบการไทยจึงควรศึกษาเรื่องภาษีนิติบุคคลในอเมริกาอย่างถี่ถ้วน
.
สอท. ณ กรุงวอชิงตัน
.
แหล่งอ้างอิง:
https://www.prachachat.net/economy/news-604545
https://www.thaibicusa.com/tax/#:~:text=
https://www.the101.world/biden-american-jobs-plan/#