เขตปกครองตนเองกว่างซีได้เปิดให้บริการเที่ยวขบวนรถไฟขนส่งเครื่องจักรขนาดใหญ่เที่ยวปฐมฤกษ์ไปยังเอเชียกลาง โดยมีทาวเวอร์เครน จำนวน 11 ตัว บรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต จำนวน 49 ตู้ ออกเดินทางจากนครหนานหนิง – นครซีอาน – ด่านอาลาซานโข่ว (ซินเจียง) – กรุงนูร์-ซุลตัน (ชื่อเดิม คือ อัสตานา เมืองหลวงของประเทศคาซัคสถาน) รวมระยะทาง 5,031 กิโลเมตร โดยใช้เวลาขนส่งเพียง 13 วัน
.
คาซัคสถานเป็นประเทศขนาดใหญ่อันดับ 9 ของโลก อยู่กลางทวีปเอเชีย มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียกลาง แต่การที่คาซัคสถานเป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเล (landlocked country) ทำให้ในอดีต การขนส่งและโลจิสติกส์เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศของคาซัคสถาน เนื่องจากต้องใช้การขนส่งทางอากาศ ซึ่งมีค่าขนส่งที่แพง หรือใช้การขนส่งทางน้ำ ที่มีระยะเวลานาน และต้องเปลี่ยนวิธีการขนส่งจากทางน้ำมาเป็นทางบก ซึ่งทำให้เกิดความยุ่งยากอีกด้วย
.
การพัฒนาโครงการเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรป (China-Europe Express Railway) ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์สายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiatives – BRI) นั้น ช่วยอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ ส่งเสริมการค้าการลงทุน และเสริมสร้างการพัฒนาให้กับประเทศที่อยู่บริเวณแนวเส้นทางรถไฟได้ โดยเส้นทางรถไฟนี้จะสามารถผลักดันให้มูลค่าการค้าระหว่างจีนกับประเทศในเอเชียกลางเติบโตพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก
.
สำหรับประเทศไทย เส้นทางรถไฟนี้จะช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งออกสินค้าไปยังตลาดเอเชียกลางได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากกลุ่มประเทศในแถบเอเชียกลางที่แตกตัวออกมาจากอดีตสหภาพโซเวียต ไม่ว่าจะเป็น คาซัคสถาน อุซเบกิสถาน คีร์กีซสถาน ทาจิกิสถาน และเติร์กเมนิสถาน นั้น เป็นตลาดใหม่ที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะคาซัคสถาน ซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพด้านการค้ากับไทยมากที่สุดในเอเชียกลาง และมีการพัฒนาความร่วมมือด้านการแปรรูปสินค้าเกษตรที่ไทยมีความได้เปรียบ หรือยังสามารถใช้คาซัคสถานเป็น hub ในการกระจายสินค้าไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค หรือกระจายไปยังประเทศในยุโรปตะวันออกได้อีกด้วย โดยผู้ประกอบการไทยสามารถขนส่งสินค้าทางเรือไปยังท่าเรือชินโจว ในอ่าวเป่ยปู้กว่างซี (อ่าวตังเกี๋ย) เพื่อใช้วิธีการขนส่ง “เรือ+ราง” ที่ท่าเรือชินโจวได้โดยตรง ซึ่งถึงแม้จะต้องมีการเปลี่ยนวิธีการขนส่ง แต่กลับสามารถช่วยลดเวลาการขนส่ง และลดระเบียบขั้นตอนด้านเอกสารและการดำเนินพิธีการศุลกากรได้เป็นอย่างมาก
.
ในปัจจุบัน การเดินเรือระหว่างท่าเรือชินโจวกับประเทศไทยจากท่าเรือแหลมฉบัง มีผู้ให้บริการหลายราย เช่น บริษัท SITC บริษัท PIL บริษัท EMC บริษัท Wanhai Lines บริษัท YangMing Lines และบริษัท Sealand MAERSK Asia โดยแต่ละเส้นทางใช้เวลาไม่เท่ากัน โดยเฉลี่ยระหว่าง 4-7 วัน หรือสามารถใช้การขนส่งทางบกด้วยรถบรรทุกไปขึ้นรถไฟที่ด่านสถานีด่งดัง (เวียดนาม) – ด่านรถไฟผิงเสียง (กว่างซี) เพื่อเชื่อมสู่เส้นทางรถไฟจีน-ยุโรปได้เช่นกัน ซึ่งผู้ประกอบการที่สนใจส่งออกสินค้าไปยังคาซัคสถานหรือภูมิภาคเอเชียกลางสามารถศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการตัดสินใจเลือกวิธีการขนส่งในอนาคตได้ต่อไป
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง