ในปี 2563 รัฐบาลเดนมาร์กได้ขยายระบบการส่งคืนบรรจุภัณฑ์เพื่อเพิ่มปริมาณการรีไซเคิลให้มากขึ้น ทำให้ชาวเดนมาร์กสามารถคืนขวดน้ำผลไม้ได้เช่นเดียวกับขวดเครื่องดื่มอื่นๆ ที่มีสัญลักษณ์ค่ามัดจำขวด (Pant A, B, C) และรับเงินค่ามัดจำคืนได้ที่ตู้รับคืนขวดรีไซเคิลในซุปเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่น ซึ่งทำให้ในปี 2563 อัตราการคืนขวดบรรจุน้ำผลไม้ น้ำอัดลมและเครื่องดื่มสมูทตี้ต่างๆ สูงถึงร้อยละ 91 หรือ 1.7 พันล้านขวด เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึงร้อยละ 19
.
นาย Lars Krejberg Petersen, CEO ของบริษัท Dansk Retursystem ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการระบบคืนเงินมัดจำบรรจุภัณฑ์ในเดนมาร์ก กล่าวถึงตัวเลขการรีไซเคิลที่เพิ่มขึ้นในปี 2563 ว่า โดยปกติคนเดนมาร์กนิยมนำขวดและกระป๋องเครื่องดื่มส่งคืนเพื่อรีไซเคิลอยู่แล้ว โดยมีอัตราการส่งคืนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยทุกปี แต่ในปีที่ผ่านมามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 19 ซึ่งเป็นอัตราที่มากกว่าปกติ โดยอาจเป็นเพราะสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ชาวเดนมาร์กหันมาดื่มเครื่องดื่มต่างๆ ที่บ้านมากขึ้นในขณะที่ไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้
.
จากปริมาณการรีไซเคิลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและเพื่อป้องกันภาวะแออัดในห้องเก็บขวดของซุปเปอร์มาร์เก็ต บริษัท Dansk Retursystem จึงได้เปิดโรงงานแห่งใหม่ขึ้นที่เมือง Hoeje Taastrup ตั้งอยู่ชานเมืองกรุงโคเปนเฮเกน โดยโรงงานใหม่แห่งนี้มีอุปกรณ์และเครื่องจักรที่สามารถดำเนินการรีไซเคิลในปริมาณมากได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีขั้นตอนลดลง ทำให้ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์สามารถประหยัดต้นทุนได้มากกว่าครึ่งหนึ่งจากเดิมที่ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้แก่ Dansk Retursystem โดยเฉลี่ย 0.0217 ยูโรต่อชิ้นเมื่อ 4 ปีก่อน ลดลงเหลือเพียง 0.01 ยูโรต่อชิ้นในปัจจุบัน
.
บริษัท Dansk Retursystem ได้ตั้งเป้าหมายไปสู่ 100% circularity โดยเมื่อปี 2563 ได้นำเสนอบรรจุภัณฑ์ชนิดใหม่ เป็นกระป๋องอะลูมิเนียมขนาด 0.5 ลิตร เนื่องจากกระป๋องอะลูมิเนียมสามารถรีไซเคิลได้ง่ายและสูญเสียเนื้อโลหะในกระบวนการผลิตเพียงเล็กน้อย ทำให้ต้นทุนในการจัดการกับกระป๋องดังกล่าวถูกหักลบพอดีกับราคาที่บริษัทสามารถนำโลหะจากกระป๋องไปขายต่อได้ จึงถือว่าเป็นบรรจุภัณฑ์ที่หมุนเวียนได้ 100% ทั้งนี้ บริษัท Dansk Retursystem ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อลดต้นทุนและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเต็มรูปแบบ
.
เดนมาร์กมีอัตราการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์สูงโดยมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการ ตั้งแต่ความตื่นตัวของผู้บริโภคเองและการมีระบบคืนเงินมัดจำบรรจุภัณฑ์ที่ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงได้ง่ายตามซุปเปอร์มาร์เก็ตท้องถิ่นทั่วไป ตลอดจนการที่ผู้ประกอบการภาคเอกชนเองเล็งเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจใหม่ในการพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ไทยให้ความสนใจเช่นกัน ผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจด้านบรรจุภัณฑ์อาจพิจารณาแนวทางการดำเนินธุรกิจของเดนมาร์ก ที่ปรับใช้แนวโน้มความสนใจของตลาด และกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมของผู้บริโภค มาต่อยอดธุรกิจ หรือสร้างธุรกิจใหม่ โดยอาจใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านบรรจุภัณฑ์ที่ตอบสนองต่อความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภค ให้ผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมในการนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่ โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง
.
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน