เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 64 นาย Chan Chun Sing รัฐมนตรีการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ ได้ให้สัมภาษณ์ก่อนการแถลงสรุปผลงานประจำปีของ Economic Development Board (EDB) ว่า ในปีนี้สิงคโปร์จะดำเนินยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยเน้นการส่งเสริมห่วงโซ่มูลค่าโลก ซึ่งรวมถึงการดึงดูดบริษัทชั้นนำของทั่วโลกให้มาลงทุนในสิงคโปร์ โดยสร้างระบบนิเวศที่เอื้ออำนวยต่ออุตสาหกรรมสาขาใหม่ ๆ ได้แก่ เทคโนโลยีด้านการเกษตร (agri-tech) ชีวเวชศาสตร์ (biomedical sciences) อิเล็กทรอนิกส์ และสื่อสารสนเทศ ซึ่งการร่วมทุนกับต่างประเทศจะเพิ่มโอกาส/ศักยภาพแก่ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง (SMEs) ใน สิงคโปร์ รวมถึงเสริมสร้างการพัฒนาทักษะของแรงงานสิงคโปร์ในระดับสากล
.
นอกจากนี้ หนังสือพิมพ์ Straits Times ฉบับวันที่ 22 มี.ค. 64 ได้จัดทำบทวิเคราะห์เกี่ยวกับการปรับตัวของสิงคโปร์ในระบบห่วงโข่อุปทานโลกจากกรรแพร่ระบาตของโรคติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเมื่อช่วงครึ่งแรกของปี 63 ได้เกิดภาวะ Supply Shock ในสิงคโปร์ ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์ต้องเพิ่มความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน ทั้งในภาคอุตสาหกรรม คือ วัตถุดิบ เครื่องจักร และอุปกรณ์ก่อสร้าง และในภาคครัวเรือน โดยเฉพาะอาหารและอุปกรณ์ทางกรแพทย์ โดยสิงคโปร์ได้เปลี่ยนรูปแบบการนำเข้าสินค้าจากแบบ just in-time (สั่งตามเวลา เพื่อราคาย่อมเยา) กลายเป็นแบบ just-in-case (สั่งเผื่อไว้ก่อน เพื่อรักษาอุปทาน) แต่ก็มีสินค้าบางประเภทที่ สิงคโปร์นำเข้ามาแล้วมีอุปทานเกินอุปสงค์อย่างมาก อาทิ ไข่ไก่จากโปแลนด์
.
อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์อาศัยจุดเด่นของการเป็นศูนย์กลางท่าเรือและการขนส่งทางอากาศของภูมิภาค ทำให้รอดพ้นจากวิกฤต Supply shack มาได้ กอปรกับการปรับตัวอย่างรวดเร็วโดยเร่งจัดทำความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ อาทิ Joint Ministerial Statement on Supply Chain Connectivity (ระหว่างออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ลาว เมียนมา นาอูรู นิวซีแลนด์ ยูเออี อุรุกวัย และสิงคโปร์) และการจัดการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อส่งเสริมการขนส่งสินข้ามพรมแดน (ประกอบด้วย ออสเตรเลีย แคนาดา เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ และสิงคโปร์) ผ่านระบบการประชุมทางไกล ทั้งนี้ ปริมาณสินค้าผ่านท่าเรือสิงคโปร์ปี 63 ลดลงน้อยกว่าร้อยละ 1 เทียบกับเมื่อปี 62 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการขนส่งสินค้าทางทะเลของสิงคโปร์ได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยจากโควิด-19
.
สำหรับปี 2564 สิงคโปร์จะยังคงพัฒนาบทบาทการเป็นศูนย์กลางเมืองท่าที่สำคัญและการขนส่งทางอากาศของภูมิภาค เพื่อส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ และการกระจายสินค้าในตลาดโลก โดยรัฐบาลสิงคโปร์จะยังคงดำเนินโครงการพัฒนา ดังนี้
.
- โครงการท่าเรือขนาดใหญ่ในเขตTuasซึ่งจะเป็นท่าเรือระบบอัตโนมัติที่ใหญ่ที่สุดในโลก
- โครงการSats Coolportหรือ คลังจัดเก็บสินค้าในห้องเย็นที่ควบคุมอุณหภูมิตั้งแต่ -28 ถึง 25 องศาเซลเซียส ณ ท่าอากาศยานชางงี ซึ่งช่วยส่งเสริมบทบาทนำของสิงคโปร์ในการส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานของวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อโควิด-19
- การส่งเสริมระบบการเปลี่ยนถ่ายสินค้าทางทะเล-อากาศ (Sea-Air Transshipment)ที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งเป็นวิธีการขนส่งที่เหมาะสมกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กมาก (microelectronics)และสินค้าที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง
.
จะเห็นได้ว่าสิงคโปร์มีการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงดูดนักลงทุนชาวต่างชาติ ซึ่งสำหรับประเทศไทยนั้นมีโครงการพัฒนาต่าง ๆ เพื่อดึงดูดการลงทุนเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ที่จะช่วยเชื่อมโยงระหว่างประเทศไทยกับภูมิภาคเอเชีย ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น การคมนาคม รวมทั้งดึงดูดบุคลากรที่มีทักษะและศักยภาพเข้ามาทำงานอีกด้วย ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่สนใจสามารถศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าในอนาคตต่อไป
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์