เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของมณฑลฝูเจี้ยน โดยนครฝูโจวซึ่งเป็นนครเอกของฝูเจี้ยน ถูกกำหนดเป็นเจ้าภาพจัดงาน “Digital China Summit” เป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 2561 เพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนา “ฝูเจี้ยนดิจิทัล” ตามที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้กำหนดทิศทางการพัฒนาไว้เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการมณฑลฝูเจี้ยนเมื่อปี 2543
.
เศรษฐกิจดิจิทัลของฝูเจี้ยนโดยเฉพาะนครฝูโจวเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2563 เศรษฐกิจดิจิทัลของฝูเจี้ยนมีมูลค่าการผลิต 2 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และในปี 2564 รัฐบาลฝูเจี้ยนตั้งเป้ามูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลเพิ่มเป็น 2.6 ล้านล้านหยวน คิดเป็นร้อยละ 50 ของมูลค่า GDP ของทั้งมณฑล โดยออกมาตรการสำคัญเพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ได้แก่
.
(1) จัดตั้งแพลตฟอร์ม “เส้นทางสายไหมดิจิทัล” เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างประเทศระหว่าง 3 เมืองสำคัญ กล่าวคือ ฝูโจว เซี่ยเหมิน และเฉวียนโจว
.
(2) บ่มเพาะวิสาหกิจเทคโนโลยีขั้นสูงด้านเศรษฐกิจดิจิทัล 3,000 แห่ง และสนับสนุนวิสาหกิจดิจิทัล ที่มีมูลค่าการผลิตมากกว่า 1 หมื่นล้านหยวนจำนวน 20 แห่ง รวมทั้งส่งเสริมการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมนำร่องเศรษฐกิจดิจิทัล 20 แห่งภายในปี 2565
.
(3) สนับสนุนการวิจัยและการจดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ในสาขาเศรษฐกิจดิจิทัล
.
(4) บ่มเพาะแพลตฟอร์มสาธิตการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่ออุตสาหกรรมระดับมณฑล และส่งเสริมการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรผ่านช่องทางออนไลน์ให้ได้ 1 แสนล้านหยวนภายในปี 2565
.
(5) ส่งเสริมการก่อสร้างสถานี 5G จำนวน 80,000 แห่ง และเพิ่มผู้ใช้งาน IoT ให้ได้ 50 ล้านคนภายในปี 2565
.
ทั้งนี้ ในปี 2563 จีนมีมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลรวม 40 ล้านล้านหยวน คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 36 ของมูลค่า GDP ทั่วประเทศ ขณะที่รัฐบาลจีนตั้งเป้ามูลค่าการผลิตของเศรษฐกิจดิจิทัลทะลุ 47 ล้านล้านหยวนในปี 2564 และ 95 ล้านล้านหยวนในปี 2569
.
ปัจจุบันมณฑลฝูเจี้ยนมีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจดิจิทัลสูงเป็นอันดับ 7 ของจีน รองจากมณฑลกวางตุ้ง ปักกิ่ง เจียงซู เจ้อเจียง เซี่ยงไฮ้ และซานตง ขณะที่นครฝูโจวและเมืองเซี่ยเหมินเป็นเมืองที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจดิจิทัลสูงเป็น 15 อันดับแรกของจีน ขณะเดียวกัน โอกาสทางการค้าระหว่างจีนกับไทยจะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้ซึ่งมีมาตรการผ่อนปรนนโยบายและกฎระเบียบด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนของจีน ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการส่งออกสินค้าไปยังจีนผ่านช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนมากขึ้นในอนาคต
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเซี่ยเหมิน