แผน Singapore Green Plan 2030 ซึ่งมีโครงการพัฒนาเมือง Tengah (เมืองต้นแบบสีเขียวแห่งแรกของสิงคโปร์) เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักนั้นรัฐบาลสิงคโปร์โดยนาย Lawrence Wong รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ ได้แถลงเรื่องโครงการพัฒนาเขตเมืองใหม่ Tengah เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2559 ระหว่างการประชุมคณะกรรมาธิการจัดสรรงบประมาณ (Committee of Supply) รัฐสภาสิงคโปร์และได้ประกาศเป็นแผนแม่บทอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2559 พื้นที่เขตที่พักอาศัย Tengah เคยเป็นพื้นที่ฝึกซ้อมทางการทหารของสิงคโปร์มาตั้งแต่ปี 2523 โดยพื้นที่เฟสแรกของโครงการฯ มีกําหนดแล้วเสร็จใน ปี 2565 และคาดว่าการก่อสร้างทั้งโครงการฯ จะเสร็จสมบูรณ์ภายในระยะเวลา 20 ปีข้างหน้า โดยจะเป็นโครงการเมืองที่พักอาศัยที่พัฒนาโดยรัฐบาลสิงคโปร์ (HDB town) ลําดับที่ 24 ของสิงคโปร์
.
เมือง Tengah ถูกออกแบบภายใต้แนวคิดเมืองต้นแบบสีเขียวและเมืองอัจฉริยะที่ยั่งยืนแห่งแรกของสิงคโปร์ โดยโครงการฯ ตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศ มีพื้นที่กว่า 4,300 ไร่ ประกอบด้วยที่พักอาศัยรวมทั้งสิ้นประมาณ 42,000 ยูนิต แบ่งเป็น 5 เขตที่พักอาศัย (Housing Districts) ได้แก่ (1) Plantation (2) Park (3) Garden (4) Brickland และ (5) Forest Hit โดยแต่ละเขตจะออกแบบให้สัมพันธ์กับเอกลักษณ์ในแต่ละด้านของเมือง เช่น Plantation District ซึ่งเป็นเขตแรกที่เริ่มก่อสร้างรวมทั้งสิ้นประมาณ 10,000 ยูนิต ใช้แนวคิด Farm-to-Table หรือที่พักอาศัยคู่การเกษตรชุมชน โดยจัดพื้นที่สําหรับกิจกรรมทางเกษตรต่าง ๆ เช่น ตลาดชุมชน และ Park District ที่จะเป็น Hub ของระบบขนส่ง สาธารณะสีเขียว ซึ่งรวมถึงการเป็นต้นแบบ Car-free Town แห่งแรก
.
รัฐบาลสิงคโปร์เปิดให้ประชาชนจองที่พักอาศัยใน Tengah เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2561 ก่อนการก่อสร้าง (Build-to-Order Flats: BTO Flats) และได้ทยอยเปิดให้ประชาชนจองที่พักอาศัยเป็นรอบ ๆ ในทุกปี โดยจะพิจารณาให้ประชาชนที่ทํางานหรือดําเนินธุรกิจในเขตนวัตกรรม Jurong Innovation District ซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกเช่นกัน สามารถจองที่พักได้ก่อนเพื่ออํานวยความสะดวกการเดินทาง
.
สำหรับแผนการดําเนินงานและเป้าหมายของโครงการพัฒนาเมืองใหม่ Tengah ประกอบด้วยแผนการดําเนินงานและเป้าหมาย 7 ด้าน ได้แก่
.
1) Smart Planning คือ การนําโปรแกรมจําลองคอมพิวเตอร์และนําผลวิเคราะห์ข้อมูลที่ดีที่สุดมาใช้ออกแบบผังเมืองและอาคารทั้งหมดเพื่อประโยชน์ในด้าน (1) การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายอากาศและลดปริมาณความร้อนเข้าสู่อาคาร (2) การติดตั้งเซลล์สุริยะเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด และการกําหนดมาตรการการใช้หลอดไฟ Smart LED ในทุกอาคาร (3) การเป็นศูนย์ต้นแบบ Car-free Town และการสร้าง อุโมงค์ทางสัญจร/ลานจอดรถใต้ดิน เพื่อแก้ปัญหาและข้อจํากัดด้านพื้นที่ใช้สอยบนดินที่มีอยู่อย่างจํากัด และเพื่อให้มีพื้นที่บนดินให้เพียงพอสําหรับการก่อสร้างอาคารที่พักอาศัย ซึ่งคิดเป็นพื้นที่ร้อยละ 70 ของโครงการฯรวมถึงการเพิ่มพื้นที่สีเขียว พื้นที่ทางเท้า และทางจักรยานในชุมชนให้เพียงพอด้วย
.
2) Smart Energy Management คือ การเคหะสิงคโปร์ร่วมกับบริษัทพลังงาน SP Group หรือชื่อเดิมคือ Singapore Power เป็นหน่วยงานด้านพลังงานไฟฟ้าและก๊าซของรัฐบาลสิงคโปร์ โดยจะพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ และ AI สําหรับการอนุรักษ์พลังงานทั่วเมือง รวมถึงออกแบบแอปพลิเคชันให้ผู้อยู่อาศัยสามารถตรวจสอบการใช้พลังงานในแต่ละครัวเรือนอย่างแม่นยํา
.
3) Smart Lighting การควบคุมระดับแสงสว่างในพื้นที่ต่าง ๆ ตามความเหมาะสมและจําเป็นของแต่ละช่วงเวลา เช่น แสงไฟถนนที่จะค่อย ๆ ลดระดับความสว่างลงในช่วงเวลาพระอาทิตย์ขึ้น เพื่อประหยัดพลังงาน
.
4) Automated Waste Collection การติดตั้งระบบท่อส่งขยะโดยตรงจากอาคาร HDB เพื่อไปรวม ที่ศูนย์จัดการขยะส่วนกลาง โดยใช้ระบบลําเลียงของเสีย “Pneumatic Waste Conveyance System – PWCS” ซึ่งเป็นระบบรวบรวมขยะอัตโนมัติที่ใช้แรงดูดอากาศความเร็วสูง ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดกลิ่นไม่พึงประสงค์ มูลฝอย ตกค้าง และช่วยลดแหล่งเพาะพันธุ์ของหนูและแมลงวัน
.
5) EVs – ready จะมีจุดชาร์จรถยนต์ EVs ในลานจอดรถทุกแห่ง
.
6) Smart enabled Homes ในแต่ละยูนิตของ HDB จะติดตั้งปลั๊กไฟอัจฉริยะ (Smart Switch) และแผงควบคุม (Distribution Board) ควบคุมการทํางานผ่าน Application ซึ่งจะช่วยคํานวณปริมาณการใช้ไฟที่เหมาะสมและปรับปรุงแนวทางการใช้พลังงานเพื่อช่วยประหยัดพลังงานได้สูงสุด
.
7) Centralised Cooling System การติดตั้งระบบทําความเย็นและระบบหล่อเย็นใต้ดินแบบรวมศูนย์ ในแต่ละอาคาร ควบคุมอุณหภูมิของทั้งอาคาร ณ ห้องควบคุมเดียว ซึ่งช่วยประหยัดพลังงานมากกว่าการใช้ เครื่องปรับอากาศแยกกันในแต่ละยูนิต
.
ปัจจุบัน ประชาชนของสิงคโปร์มากกว่าร้อยละ 80 พักอาศัยอยู่ในโครงการที่พักอาศัยที่พัฒนาโดยรัฐบาล(HDB Flats and public housing) ดังนั้น รัฐบาลสิงคโปร์จึงให้ความสําคัญกับโครงการพัฒนา HDB แห่งใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ในด้านตะวันตกของประเทศ ซึ่งจะรองรับการขยายตัวของเมืองใหม่ ทั้งการสร้างเขตศูนย์กลางทางธุรกิจ (CBD) แห่งที่ 2 ศูนย์วิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Jurong Innovation District) และท่าเรือ Tuas ซึ่งล้วนเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่จะส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานจํานวนมาก และจะสร้างอุปสงค์ด้านที่พักอาศัยในเขตตต. อย่างมากด้วยเช่นกัน ดังนั้น โครงการ Tengah จึงได้รับความสนใจอย่างยิ่งจากประชาชนในสิงคโปร์ เนื่องจากจะช่วย (1) ลดความแออัดของที่พักอาศัยในด้านตะวันตกของประเทศ (2) อํานวยความสะดวกประชาชนที่มีความจําเป็นต้องเดินทางไปทํางานหรือทํางานธุรกิจทางรถยนต์ ผ่านทางพิเศษ Second Link Bridge ทุกวัน และ (3) แสดงความมุ่งมั่นของรัฐบาลสิงคโปร์ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน นอกจากนี้ สื่อมวลชนต่าประเทศ อาทิ CNN ได้รายงานข่าวโครงการ Tengah ว่าเป็นต้นแบบของ Eco-city ที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
.
สิงคโปร์จะยังคงเปิดรับแรงงานภาคการก่อสร้างจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะแรงงานไทยอย่างต่อเนื่องในช่วงหลัง COVID-19 และในช่วงทศวรรษข้างหน้า เนื่องจาก (1) คนชาติสิงคโปร์ไม่นิยมประกอบอาชีพแรงงานก่อสร้าง (2) รัฐบาลสิงคโปร์เห็นว่าแรงงานของไทยเป็นแรงงานฝีมือดีและยินดีต้อนรับแรงงานไทย และ (3) รัฐบาลสิงคโปร์ลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในการพัฒนาประเทศ เช่น โครงการท่าเรือ Tuas โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารแห่งใหม่ในท่าอากาศยานชางงี โครงการสร้างเมือง Tengah และเมืองใต้ดิน ซึ่งล้วนมีกรอบระยะเวลาดําเนินการประมาณ 10 – 20 ปี ทั้งนี้ โครงการต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในสิงคโปร์ล้วนเป็นโครงการที่ผู้ประกอบการไทยสามารถเข้าไปศึกษาและนำมาพัฒนาต่อยอดธุรกิจในประเทศไทยได้ เนื่องจากเป็นโครงการที่ไทยยังไม่เคยมีประสบการณ์และยังไม่เกิดขึ้น
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์
.
ขอยคุณรูปภาพจาก: https://www.todayonline.com/singapore/peek-tengah-next-new-hdb-town-size-bishan