แม้ในปี 2563 ที่ผ่านมา โลกของเราจะประสบกับความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 แต่ผู้บริโภคชาวจีนที่เป็นสุภาพสตรียังคงมุ่งมั่นช้อปปิ้งกันอย่างต่อเนื่อง โดย CBNData บริษัทวิจัยชื่อดังของจีน รายงานว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมา ตลาดผู้บริโภคชาวจีนที่เป็นสุภาพสตรีเติบโตสู่มูลค่ากว่า 10 ล้านล้านหยวน (1.53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) นับเป็นตลาดผู้บริโภคที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก และมีขนาดใหญ่เกือบเท่ากับมูลค่าตลาดผู้บริโภคของประเทศอังกฤษ เยอรมัน และฝรั่งเศสรวมกัน
.
จากข้อมูลของ Accenture เผยว่า ในปัจจุบัน จีนมีผู้บริโภคที่เป็นสุภาพสตรีในช่วงอายุ 20-60 ปี เกือบ 400 ล้านคน และมีมูลค่าการบริโภครวมกว่า 10 ล้านล้านหยวนต่อปี โดยช่องทางออนไลน์ยังคงเป็นแหล่งช้อปสำคัญของผู้หญิงชาวจีน และมีการเติบโตของช่องทางนี้อย่างก้าวกระโดดในช่วงการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ Mob Tech ยังเผยว่า จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตหญิงชาวจีนยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 มีจำนวนรวมกว่า 530 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 45.4 ของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การช้อปปิ้งผ่านแพลตฟอร์ม e-Commerce ของจีนยังมีโอกาสเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไป ทั้งนี้ Questmobile รายงานว่า ณ เดือน ม.ค. 2564 แพลตฟอร์ม e-Commerce หลักที่เป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภคชาวจีนที่เป็นสุภาพสตรี ได้แก่ (1) Taobao (2) Pinduoduo (3) JD (4) VIP shop (5) Taobao Tejia (6) Xianyu และ (7) Suning ตามลำดับ ซึ่งแพลตฟอร์มเหล่านี้ต่างไม่พลาดโอกาสที่จะใช้โอกาสของวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันสตรีสากลจัดเทศกาลช้อปปิ้งสำหรับตลาดผู้หญิงโดยเฉพาะ เช่น เทศกาล 3.8 Festival ของ Tmall เทศกาล Blessed Women ของ Pinduoduo และเทศกาล Her Festival ของ JD
.
Mob Tech ยังเผยอีกด้วยว่าผู้หญิงจีนช้อปปิ้งเฉลี่ยเดือนละ 7.2 ครั้ง และมีร้อยละ 6 ของผู้หญิงจีนที่ช้อปปิ้งเป็นประจำทุกวัน ซึ่งสูงกว่าผู้ชายที่ช้อปปิ้งเฉลี่ยเพียงเดือนละ 5.5 ครั้ง โดยส่วนหนึ่งของสินค้าที่ผู้บริโภคหญิงจีนนิยม เช่น เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลผิว เครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์แม่และเด็ก
.
เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลผิว
.
แม้ปี 2563 ที่ผ่านมาจะมีโรคระบาดแต่ยอดขายเครื่องสำอางของจีนยังคงโตไม่หยุด โดยบริษัทวิจัย iiMedia Research ของจีน รายงานว่าในเดือน พ.ย. 2563 ยอดขายเครื่องสำอางในจีนมีมูลค่าถึง 1.32 หมื่นล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.59 จากเดือนเดียวกันในปีก่อนหน้า
.
หากลงลึกในรายประเภทสินค้าจะพบว่า ครีมกันแดดและครีมบำรุงผิวเติบโตอย่างโดดเด่นที่ร้อยละ 59 และร้อยละ 34 ส่วนเครื่องสำอางสำหรับดวงตา ผิวหน้า และริมฝีปากเติบโตร้อยละ 11 ร้อยละ 10 และร้อยละ 3 ตามลำดับ ทั้งนี้ ยังพบอีกว่าชาวจีนนิยมแบรนด์ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวจากต่างประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะแบรนด์ L’Oreal Estee Lauder และ Lancome ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดสูงเป็น 3 อันดับแรกที่ร้อยละ 5.4 ร้อยละ 4.6 และร้อยละ 4.4 ตามลำดับ นอกจากนี้ จากการจัดอันดับ 20 ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวขายดีของจีนพบว่าส่วนใหญ่เป็นแบรนด์จากต่างประเทศและมีเพียง 5 แบรนด์ที่เป็นของจีนเองซึ่งแสดงให้เห็นถึงโอกาสสำคัญของแบรนด์จากต่างประเทศรวมถึงแบรนด์ของไทยในตลาดนี้
.
เครื่องประดับ
.
แม้ในอดีตเครื่องประดับจะเปรียบเสมือนเครื่องแสดงฐานะทางสังคม แต่สำหรับสาวจีนในปัจจุบัน เครื่องประดับถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยเพิ่มเติมความสมบูรณ์แบบให้กับชีวิต โดยบริษัทวิจัย iiMedia Research รายงานว่า ในปัจจุบันผู้หญิงชาวจีนนิยมเครื่องประดับที่ทำมาจากทองคำแท้และแพลตตินั่มเป็นอย่างมาก และนิยมการออกแบบที่เรียบง่ายไม่ซับซ้อน นอกจากนี้ สำหรับช่องทางการขาย ร้านค้าของแบรนด์บนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้รับความนิยมสูงไม่แพ้ร้านค้าออฟไลน์และเคาน์เตอร์ของแบรนด์ตามห้างสรรพสินค้าและแหล่งช้อปปิ้งต่าง ๆ ทั้งนี้ ในช่วงเทศกาลช้อปปิ้ง 11.11 ของปี 2563 ที่ผ่านมา 10 แบรนด์เครื่องประดับที่ขายดีที่สุดบนแพลตฟอร์ม Tmall ได้แก่ (1) Chow Tai Fook (2) Chow Sang Sang (3) Chow Tai Seng (4) Swarovski (5) CHJ Jewelry (6) Caibai Jewelry (7) Cartier (8) Pandora (9) Lukfook Jewellery และ (10) Laomiao
.
ในขณะเดียวกัน ตลาดเครื่องประดับของจีนยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก โดยจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ จากภาครัฐจะส่งผลให้เกิดการยกระดับรายได้ของผู้บริโภคชาวจีนโดยเฉพาะเมืองรอง (Lower-tier cities) รวมถึงการเกิดขึ้นของกลุ่มผู้บริโภครุ่นใหม่ที่เกิดในยุคดิจิทัลอย่าง Gen Z ซึ่ง ณ สิ้นปี 2563 มีสัดส่วนการบริโภคคิดเป็นร้อยละ 40 ของกำลังการบริโภคของจีนทั้งหมดและกำลังจะเป็นกลุ่มผู้บริโภคหลักของจีนในอนาคต ดังนั้นแบรนด์ต่าง ๆ ควรเร่งพัฒนาสินค้าและช่องทางการจัดจำหน่ายที่สามารถตอบสนองความต้องการใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในตลาดจีนนี้
.
ผลิตภัณฑ์แม่และเด็ก
.
ในปัจจุบัน ผู้หญิงที่เกิดในยุค 85s และ 90s เป็นกำลังบริโภคหลักของตลาดผลิตภัณฑ์แม่และเด็กจีน โดยช่องทางช้อปปิ้งออนไลน์ของผลิตภัณฑ์แม่และเด็กกำลังเติบโตอย่างมาก ซึ่งในปี 2562 ตลาด e-Commerce ของผลิตภัณฑ์แม่และเด็กของจีนมีมูลค่ารวมกว่า 9.11 แสนล้านหยวน และมีอัตราการเข้าถึง (penetration rate) ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทวิจัย WJS 100ce.cn รายงานว่า ในปี 2563 จำนวนผู้ใข้งานแพลตฟอร์ม e-Commerce ในตลาดผลิตภัณฑ์แม่และเด็กของจีนมีจำนวนกว่า 245 ล้านคน ซึ่งร้อยละ 25 มาจากเมืองรองระดับ 2 (second-tier) และร้อยละ 30 มีอายุอยู่ในช่วง 20-30 ปี สำหรับแพลตฟอร์ม e-commerce ที่ได้รับความนิยมในตลาดนี้ได้แก่ Kidswant Beibei.com Mia.com Babytree และ Davdian.com ทั้งนี้ ด้วยสภาพเศรษฐกิจสังคมที่พัฒนาขึ้น รวมถึงระดับการศึกษาและกำลังซื้อที่สูงขึ้นของคุณแม่ยุคใหม่ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมและทิศทางการบริโภคที่แตกต่างไปจากอดีต ซึ่งถือเป็นโอกาสและความท้าทายสำคัญของผู้เล่นทั้งรายเก่าและรายใหม่ในตลาดนี้
.
นอกจากสินค้าที่กล่าวข้างต้น ยังมีโอกาสอีกมากมายในตลาดผู้บริโภคชาวจีนที่เป็นสุภาพสตรีโดย JD Big Data Research เปิดเผยว่า ในปัจจุบัน จำนวนผู้บริโภคชาวจีนที่เป็นสุภาพสตรีบนแพลตฟอร์มของ JD กำลังเติบโตแซงหน้าผู้บริโภคชาย และยังเป็นผู้ซื้อหลักสำหรับของใช้ในครอบครัวและของใช้ส่วนตัว ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลจาก MediaCom ที่เผยว่ากว่าร้อยละ 75 ของการตัดสินใจซื้อสินค้าในจีนมาจากผู้หญิง และผู้หญิงเป็นกำลังบริโภคสำคัญของสินค้าหลากหลายประเภททั้ง เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์แม่และเด็ก สินค้าฟุ่มเฟือย แอลกอฮอล์ รถยนต์ และเกมส์ออนไลน์ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ภายในประเทศจีนเองนั้นถึงแม้จะมีตลาดผู้บริโภคที่ใหญ่ แต่มีผู้ผลิตสินค้าจำนวนมากเช่นเดียวกัน ส่งผลให้อัตราการแข่งขันระหว่างผู้ผลิตในตลาดประเทศจีนนั้นสูง ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจึงควรจับตา ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับตลาดผู้บริโภคชาวจีนที่เป็นสุภาพสตรีอย่างใกล้ชิด และเลือกใช้กลยุทธ์ทางการตลาดที่เหมาะสม เพื่อที่จะได้สามารถขยายตลาดเข้าไปยังตลาดผู้บริโภคชาวจีนที่เป็นสุภาพสตรีได้มากขึ้น
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง
.
ขอบคุณรูปภาพจาก: https://www.buyandship.ph/blog/2020/06/02/top-10-online-shopping-sites-in-china/