ในปี 2563 มูลค่าการส่งออกสินค้าของสวิตเซอร์แลนด์ โดยรวมปรับตัวลดลง ขณะที่อาวุธยุทโธปกรณ์เป็นหนึ่งในสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น โดยการส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์มีมูลค่ารวม 901.2 ล้านฟรังก์สวิส เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 จากปี 2562 ซึ่งมีมูลค่ารวม 728 ล้านฟรังก์สวิส และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.30 ของมูลค่าการส่งออกโดยรวมของสวิตเซอร์แลนด์
.
มูลค่าที่เพิ่มขึ้นมาจากการจําหน่ายสินค้าอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับ (1) เดนมาร์ก (ยานพาหนะหุ้มเกราะ) จํานวน 154.7 ล้านฟรังก์สวิส (2) อินโดนีเซีย (ระบบป้องกันภัยทางอากาศ) จํานวน 111.3 ล้านฟรังก์สวิส (3) บอตสวานา (ยานพาหนะหุ้มเกราะ) จํานวน 84.9 ล้านฟรังก์สวิส และ (4) โรมาเนีย (ยานพาหนะหุ้มเกราะ) จํานวน 58.7 ล้านฟรังก์สวิส โดยสวิตเซอร์แลนด์ส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ไปยังเดนมาร์กเป็นอันดับหนึ่ง มูลค่ารวม 160.5 ล้านฟรังก์สวิส (รวมการจัดส่ง) และ เยอรมนีเป็นอันดับสอง มูลค่ารวม 111.8 ล้านฟรังก์สวิส
.
สวิตเซอร์แลนด์มีการส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ไปยัง 62 ประเทศทั่วโลก โดยแบ่งสัดส่วนเป็นประเทศในยุโรป ร้อยละ 62 (ลดลงจากปี 2562 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 73.3) เอเชีย ร้อยละ 18.8 (เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 14.6) แอฟริกา ร้อยละ 9.6 (เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 1.4) ภูมิภาคอเมริกา ร้อยละ 8.5 (ลดลงจากปี 2562 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 8.1) และออสเตรเลีย ร้อยละ 1.1 (ลดลงจากปี 2562 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 2.6) โดยสินค้าอาวุธยุทโธปกรณ์ที่สวิตเซอร์แลนด์ส่งออก ประกอบด้วย (1) ยานพาหนะหุ้มเกราะ คิดเป็นร้อยละ 37.5 (2) กระสุนและส่วนประกอบ คิดเป็นร้อยละ 22.5 (3) อุปกรณ์ควบคุมการยิง คิดเป็นร้อยละ 16.9 (4) อาวุธประเภทต่าง ๆ คิดเป็นร้อยละ 11.6 (5) ส่วนประกอบของเครื่องบินรบ คิดเป็นร้อยละ 4.1 และ (6) อื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 7.4
.
โดยประเทศไทยในปัจจุบันยังคงต้องนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาวุธปืน ซึ่งมีข้อจำกัดทั้งด้านราคา เวลา เทคนิค และกฎหมาย ทำให้สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศได้มีการสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยผลิตเพื่อใช้ในประเทศ และเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศอีกด้วย โดยในอนาคตอาจมีโครงการตั้งนิคมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการที่สนใจสามารถศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม วิเคราะห์ถึงโอกาสและความเป็นไปได้สำหรับอุตสาหกรรมนี้ต่อไป
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น