1. ผลกระทบจากปัจจัย Brexit ต่อภาคธุรกิจสหราชอาณาจักร
.
1.1 การนําเข้าส่งออกรายงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (Office for National Statistics – ONS) ระบุว่า การส่งออกสินค้าจากสหาราชอาณาจักรไป EU ในเดือนมกราคม 2564 มีมูลค่าลดลงประมาณร้อยละ 40.7 คิดเป็นมูลค่า 5.6 พันล้านปอนด์ ในขณะที่มูลค่าการนําเข้าสินค้าลดลงร้อยละ 28.8 คิดเป็นมูลค่า 6.6 พันล้านปอนด์ ซึ่งถือเป็นการปรับตัวลดลงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ดี ภาพรวมการค้าระหว่างสหาราชอาณาจักร – ประเทศ Non-EU ในเดือนมกราคม 2564 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 นอกจากนี้ ข้อมูลของ ONS ยังสะท้อนว่าเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรในเดือนมกราคม 2564 หดตัวลงร้อยละ 2.9 และมี ขนาดเล็กลงกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิดประมาณร้อยละ 9 โดยสภาหอการค้าสหราชอาณาจักร (British Chambers of Commerce – BCC) และ KPMG ประเมินว่าปัจจัย Brexit เป็นสาเหตุหลักของการลดลงดังกล่าวและจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร โดยรวมในไตรมาสที่หนึ่งของปีนี้ด้วย
.
เกี่ยวกับข่าวดังกล่าว โฆษกของรัฐบาลสหราชอาณาจักร รวมทั้งนาย David Frost อดีตหัวหน้าคณะเจรจา Brexit ของสหราชอาณาจักร ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยประจำสำนักงานคณะรัฐมนตรี (Minister of State in the Cabinet Office) ได้ชี้แจงว่าสถิติการนำเข้าส่งออกของเดือน มกราคม 2564 ไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่าง สหราชอาณาจักร – EU หลัง Brexit ที่แท้จริงเนื่องจากเป็นเดือนแรกที่ภาคธุรกิจของทั้งสองฝ่ายอยู่ระหว่างการปรับตัวกับกฎระเบียบ/ขั้นตอนใหม่หลัง Brexit ประกอบกับกับการมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องจากการกักตุนสินค้าในปริมาณมากล่วงหน้าก่อน Brexit ในเดือนธันวาคม 2563 และการล็อกดาวน์ในเดือนมกราคม 2564 ทั้งในสหราชอาณาจักรและ EU ทำให้อุปสงค์ในเดือนมกราคม 2564 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ รายงานของ ONS ข้างต้นประเมินด้วยว่า ภาคธุรกิจสหราชอาณาจักรเริ่มปรับตัวกับกฎระเบียบใหม่ได้ดีขึ้นในช่วงปลายเดือนมกราคม 2564 เป็นต้นมา โดยปริมาณการนำเข้าส่งออกระหว่างสหราชอาณาจักร – EU เริ่มปรับตัวสู่ระดับปกติตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564
.
1.2 แรงงาน ข้อมูลจาก Migration Observatory พบว่าอุตสาหกรรมสหราชอาณาจักรส่วนใหญ่ที่พึ่งพาการจ้างงานชาวต่างชาติมีสัดส่วนการจ้างแรงงานจาก EU ประมาณร้อยละ 50 โดยแยกตามภาคธุรกิจต่าง ๆ ดังนี้
.
.
จากข้อมูลดังกล่าว ผู้แทนภาคธุรกิจ Hospitality ก่อสร้าง อุตสาหกรรมการผลิต และ social care ได้ออกมาแสดงความกังวลว่าระบบตรวจคนเข้าเมืองใหม่หลัง Brexit อาจทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานชาวต่างชาติที่จำเป็นและจะกระทบต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวหลังวิกฤตโควิด รวมถึงจะเป็นอุปสรรคต่อแผนการลงทุนของรัฐบาลสหราชอาณาจักรในด้านโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ด้วย ทั้งนี้ Office for Budget Responsibility (OBR) ประเมินว่า กฎการเข้าเมืองใหม่ที่มีความเข้มงวดจะส่งผลให้ชาวต่างชาติที่ย้ายถิ่นพำนักออกจากสหราชอาณาจักร ในช่วงวิกฤตโควิดจะไม่สามารถกลับเข้ามาได้เป็นจำนวนมาก และทำให้เกิดปรากฏการณ์ Net outward migration (คนเดินทางออกมากกว่าคนเดินทางเข้า) โดยสหราชอาณาจักรจะมีจำนวนประชากรที่แท้จริง (และปริมาณคนทำงาน) ลดลงในอนาคต ซึ่งเป็นหนึ่งในผลกระทบระยะยาว (scarring effects) ของ Brexit โดยเฉพาะแรงงานในสาขา social care อย่างไรก็ดี นาย Kevin Foster รัฐมนตรีช่วยมหาดไทย (ด้านการตรวจคนเข้าเมืองและพรมแดนในอนาคต) ให้ความเห็นว่า ระบบการตรวจคนเข้าเมืองใหม่จะเอื้อต่อแรงงานทักษะสูงและที่จำเป็นแต่ขาดแคลนเท่านั้น ดังนั้น ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ควรแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยมุ่งเน้นการฝึกทักษะอาชีพให้แก่แรงงานในสหราชอาณาจักรเป็นอันดับแรกก่อน โดย รัฐบาล สหราชอาณาจักร มีมาตรการสนับสนุนงบประมาณให้เกิดการปรับปรุงทักษะแรงงาน (apprenticeship) ด้วยการฝึกภาคปฏิบัติแล้ว เพื่อช่วยให้เกิดการเปลี่ยนย้ายงานและลดอัตราการว่างงานในสหราชอาณาจักรลงต่อไป
.
2. ผลกระทบจากวิกฤตโควิดต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของ สหราชอาณาจักร
.
2.1 ซุปเปอร์มาร์เก็ต Sainsbury’s ประกาศแผนเลิกจ้างพนักงานในส่วนของสำนักงานใหญ่และปิดศูนย์กระจายสินค้าออนไลน์ 1 แห่งในกรุงลอนดอน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพนักงานจำนวน 1,150 ตำแหน่ง นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนปิด/ปรับปรุงพื้นที่สำนักงานในเมืองต่าง ๆ เพื่อสร้างความยืดหยุ่นและส่งเสริมให้พนักงานทำงานจากบ้านต่อไป ทั้งนี้ นาย Simon Roberts หัวหน้าฝ่ายบริหารของ Sainsbury’s ให้ข้อมูลว่า แผนฟื้นฟูโครงสร้างธุรกิจดังกล่าวจะช่วยลดต้นทุนและช่วยให้บริษัทสามารถนำเงินมาลงทุนในระบบออนไลน์และการจัดส่งสินค้าเพื่อตอบสนองปริมาณการจับจ่ายสินค้าทางออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงจะสามารถจัดกิจกรรมลดราคาสินค้าเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับซุปเปอร์มาร์เก็ตอื่น ๆ ด้วย ก่อนหน้านี้ Asda หนึ่งในซุปเปอร์มาร์เก็ตคู่แข่งได้ประกาศแผนฟื้นฟูโครงสร้างของบริษัทโดยลดจำนวนพนักงานพื้นที่สำนักงานและเน้นพัฒนาการบริหารจัดการช่องทางจำหน่ายออนไลน์เช่นกัน
.
เมื่อต้นเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา Amazon ได้เปิดร้านจำหน่ายสินค้า Grocery แบบไม่มี จุดชำระเงิน (till-less) และให้บริการด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์แห่งแรกในสหราชอาณาจักรแล้ว โดยใช้ชื่อว่า Amazon Fresh ในย่าน Ealing ทางตะวันตกของกรุงลอนดอน ซึ่งผู้ที่เป็นสมาชิกของ Amazon สามารถใช้บริการผ่านแอพลิเคชันบนมือถือโดยสแกนรหัสบนโทรศัพท์เพื่อเข้าใช้บริการในร้านภายในร้านจะติดตามลูกค้าด้วยใช้ระบบเซนเซอร์ ส่วนการชำระเงินจะคิดจากบัญชี Amazon ของลูกค้าโดยตรงเมื่อออกจากร้าน โดยไม่จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กับพนักงานซึ่งตอบรับกับยุค social distancing ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะขยายสาขาเพิ่มอีก 20 แห่งในสหราชอาณาจักร ภายใน ปี 2565 โดยก่อนหน้านี้ Amazon ได้เริ่มจำหน่ายสินค้า Grocery ใน สหราชอาณาจักรผ่านช่องทางออนไลน์ภายใต้ชื่อ Amazon Fresh โดยร่วมมือกับห้างซุปเปอร์มาร์เก็ต Morrisons ซึ่งได้รับการตอบรับด้วยดีอย่างต่อเนื่อง
.
2.2 ห้างสรรพสินค้า John Lewis รายงานผลประกอบการในปี 2563 ที่ขาดทุนคิดเป็นมูลค่า 517 ล้านปอนด์ ซึ่งถือเป็นการขาดทุนประจำปีครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แม้ว่าซุปเปอร์มาร์เก็ต Waitrose ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ John Lewis จะมียอดขายออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ยังไม่สามารถทดแทนความเสียหายที่เกิดขึ้นจากมาตรการล็อกดาวน์ที่ส่งผลต่อยอดจำหน่ายโดยรวม ประกอบกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการปรับปรุงโครงสร้างบริษัทและการจ่ายเงินชดเชยให้แก่พนักงานที่ถูกเลิกจ้างด้วย บริษัทจึงมีแผนปิดสาขาเพิ่มเติมอีกไม่เกิน 8 แห่ง (จาก 42 แห่งทั่วสหราชอาณาจักร) ในปีนี้ (ในปี 2563 บริษัทได้ปิดสาขาไปแล้วจำนวน 8 แห่งใน Birmingham, Watford, Newbury, Swindon, Tamworth, Croydon และสาขาย่อยในสถานีรถไฟ St. Pancras และสนามบิน Heathrow) ทั้งนี้ บริษัทคาดการณ์ว่ายอดขายออนไลน์จะเพิ่มสัดส่วนขึ้นเป็นร้อยละ 70 ของยอดขายทั้งหมดตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป
.
2.3 อุตสาหกรรมการบิน บริษัท Roll-Royce ขาดทุนเป็นจำนวนเกือบ 4 พันล้านปอนด์ในปี 2563 (เทียบกับผลกำไรจำนวน 583 ล้านปอนด์ในปี 2562) เนื่องจากปัจจัยวิกฤตโควิดทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการบินหยุดชะงัก ส่งผลให้ Roll-Royce ซึ่งมีรายได้จากการให้บริการดูแลด้านเครื่องยนต์และอะไหล่เครื่องบินโดยสารพาณิชย์ซึ่งเป็นรายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทลดลงอย่างมหาศาล โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทได้ปลดพนักงานมากถึง 7,000 คน และต้องระดมเงินทุนเพิ่มเติมจากผู้ถือหุ้นและนักลงทุนเพื่อพยุงธุรกิจไว้แม้บริษัทจะมีรายได้เพิ่มขึ้นในส่วนธุรกิจผลิตเครื่องยนต์สำหรับเครื่องบินรบในช่วงที่ผ่านมาก็ตาม แต่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 30 ของโครงสร้างรายได้เท่านั้น ทั้งนี้ นาย Warren East หัวหน้าฝ่ายบริหารของ Rolls-Royce คาดว่า ปัจจัยจากความสำเร็จในการเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้แก่ ประชาชนของรัฐบาลสหราชอาณาจักร จะช่วยกระตุ้นให้ธุรกิจท่องเที่ยวและการบินฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งอาจช่วยให้ผลประกอบการปรับตัวขึ้นในระดับร้อยละ 55 ของช่วงก่อนวิกฤตโควิด
.
3. ด้านนโยบายต่าง ๆ ของ รัฐบาล สหราชอาณาจักร
.
3.1 เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564 นาย Rishi Sunak รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหราชอาณาจักร ประกาศแผนงบประมาณในปี 2564 โดยมุ่งเน้นขยายมาตรการช่วยเหลือการจ้างงานและภาคธุรกิจเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบจากการล็อกดาวน์ในช่วงไตรมาสแรกของปี และเพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร ให้ฟื้นตัวขึ้นได้หลังจากการผ่อนคลายล็อกดาวน์ควบคู่ไปกับการรักษาวินัยการคลัง ซี่งประกอบด้วยมาตรการสำคัญ ดังนี้
.
(1) การจ้างงาน – ขยายมาตรการช่วยเหลือค่าจ้าง (Furlough Scheme) ไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2564 (เดิมสิ้นสุดในเดือน เมษายน 2564) โดย รัฐบาลจะให้เงินช่วยเหลือค่าจ้างร้อยละ 80 จากจำนวนชั่วโมงที่ไม่ได้ทำงานไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2564 และจะลดลงเหลือร้อยละ 70 (นายจ้างสมทบร้อยละ 10) ในเดือนกรกฎาคม 2564 และร้อยละ 60 (นายจ้างสมทบร้อยละ 20) ในเดือนสิงหาคม และกันยายน 2564 / ขยายมาตรการให้เงินช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพส่วนตัว (Self-Employed Income Support Scheme) ในอัตราร้อยละ 80 ของยอดกำไรเฉลี่ย 3 เดือนจากรายงานการเสียภาษีในปีงบประมาณก่อนหน้า หรือไม่เกินจำนวน 7,500 ปอนด์ต่อรายโดยครอบคลุมผู้ที่ลงทะเบียนประกอบอาชีพส่วนตัวในปีที่ผ่านมาด้วย / เพิ่มเงินให้แก่บริษัทที่จ้างงานนักเรียนและนักศึกษาจบใหม่จากจำนวน 1,000 ปอนด์ต่อคน เป็น 3,000 ปอนด์ต่อคน / ขยายเวลาการจ่ายเงินสวัสดิการสังคม Universal Credit เพิ่ม (20 ปอนด์ต่อสัปดาห์) ออกไปอีกเป็นเวลา 6 เดือน (จนถึงเดือนตุลาคม 2564 / ปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำจาก 8.72 ปอนด์ เป็น 8.91 ปอนด์ต่อ ชม. ตั้งแต่เดือน เมษายน 2564 เป็นต้นไป
.
(2) ภาษี – ปรับขึ้นอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporation Income tax) จากร้อยละ 19 เป็นร้อยละ 25 สำหรับบริษัทที่มีผลกำไรมากกว่า 250,000 ปอนด์ต่อปี โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน เมษายน 2566 เป็นต้นไป (ซึ่งยังถือเป็นอัตราภาษีที่ต่ำที่สุดในประเทศกลุ่ม G7) สำหรับบริษัทที่มีผลกำไรต่ำกว่า 50,000 ปอนด์ต่อปีจะยังคงเสียภาษีฯ ในอัตราร้อยละ 19 / คงอัตราภาษีเงินได้ส่วนบุคคล ค่าประกันสังคม และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ของสินค้าไว้เท่าเดิมจนถึงปี 2569 / ปรับขึ้นฐานรายได้ที่ได้รับการลดหย่อนภาษีโดยเริ่มเก็บภาษีในอัตราร้อยละ 20 สำหรับผู้ที่มีรายได้ 12,570 ปอนด์ขึ้นไป (จากเดิมเริ่มเก็บที่ 12,500 ปอนด์) และอัตราร้อยละ 40 สำหรับ ผู้มีรายได้ 50,270 ปอนด์ขึ้นไป (จากเดิมเริ่มเก็บที่ 50,000 ปอนด์) ตั้งแต่ปี 2565 – 2569 / ขยายมาตรการยกเว้นการจัดเก็บภาษี Stamp Duty สำหรับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าไม่เกิน 500,000 ปอนด์ ไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2564 และสำหรับการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าไม่เกิน 250,000 ปอนด์ ไปจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2564
.
(3) การช่วยเหลือภาคธุรกิจ – จัดสรรเงินจำนวน 5 พันล้านปอนด์ภายใต้โครงการ Restart Grant Scheme เพื่อให้เงินช่วยเหลือแบบ one-off สำหรับธุรกิจในภาค Hospitality สันทนาการ สถานบริการ เสริมความงาม และสถานออกกำลังกายที่ได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์จำนวนไม่เกินรายละ 18,000 ปอนด์ / การรับประกันเงินกู้ร้อยละ 80 ของวงเงินไม่เกิน 10 ล้านปอนด์ต่อรายในช่วงเดือนเมษายน – ธันวาคม 2564 เพื่อชำระหนี้หรือลงทุน / ขยายมาตรการยกเว้นภาษีธุรกิจสำหรับภาคธุรกิจค้าปลีก Hospitality และสันทนาการในอังกฤษ ไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2564 (เดิมสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2564) / ขยายมาตรการลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อัตราร้อยละ 5 (จากร้อยละ 20) สำหรับภาคธุรกิจ Hospitality และสถานที่ท่องเที่ยวใน สหราชอาณาจักร ไปจนถึงสิ้นเดือน กันยายน 2564 และหลังจากนั้นจะปรับอัตรา VAT เป็นร้อยละ 12.5 จนถึงเดือนมีนาคม 2565 (หลังจากนี้ VAT จะใช้อัตราร้อยละ 20 ตามเดิม)
.
(4) ด้านอื่น ๆ – ส่งเสริมนโยบายการกระจายความเจริญไปยังพื้นที่นอกกรุงลอนดอน (leveling up) และกระตุ้นการจ้างงานหลังวิกฤตในภูมิภาคอื่นโดยเฉพาะในภาคเหนือของอังกฤษ โดยการจัดตั้งสำนักงานการค้าใหม่ที่เมือง Darlington และจัดตั้งธนาคารเพื่อสาธารณูปโภคของสหราชอาณาจักร (UK Infrastructure Bank) ขึ้นในเมือง Leeds / จัดตั้งเขตการค้าเสรี (freeports) เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจำนวน 8 แห่ง ได้แก่ เมือง Liverpool, Felixstowe, Plymouth, Thames, Teesside, Humber, Solent และสนามบิน East Midlands
.
ทั้งนี้ นาย Sunak กล่าวในรัฐสภา สหราชอาณาจักร ด้วยว่าในภาพรวมมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร ตลอดช่วงวิกฤตโควิดในปี 2563– 2564 มีมูลค่ารวมทั้งหมด 4.07 แสนล้านปอนด์ ทำให้ รัฐบาลต้องกู้เงินงบประมาณที่ขาดดุลรวมกว่า 3.55 แสนล้านปอนด์ในปีนี้และอีก 2.34 แสนล้านปอนด์ในปีหน้า โดยคาดว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของ สหราชอาณาจักรจะเพิ่มขึ้นสูงสุดถึงร้อยละ 97.1 ในปี 2566 – 2567 รัฐบาลจึงจำเป็นต้องปรับนโยบายจัดเก็บรายได้เข้ารัฐให้สมดุลตามด้วย หากเป็นไปตามแผนดังกล่าว การกู้เงินภาครัฐจะเริ่มลดลงได้ตามลำดับในปีถัดไป (2565) โดยจะเหลือไม่เกินร้อยละ 5 ของ GDP ต่อปี
.
3.2 เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 รัฐบาลสหราชอาณาจักรโดยนาย Michael Gove รัฐมนตรีประจำสำนักงานคณะรัฐมนรี ซึ่งกำกับดูแลการดำเนินการของสหราชอาณาจักร ตามความตกลงการค้า สหราชอาณาจักร – EU ประกาศขยายกำหนดเวลาการยกเว้น (ฝ่ายเดียว) ในการบังคับใช้กฎระเบียบการตรวจสอบสินค้านำเข้าจาก EU ใหม่หลัง Brexit ชั่วคราว (grace period) ออกไปอีก 6 เดือน (จากเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2564 ตามที่ตกลงกับฝ่าย EU ไว้ ไปจนถึงเดือนตุลาคม 2564) เพื่อช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงขั้นตอน/เอกสารการนำเข้าต่อผู้ประกอบการ สหราชอาณาจักร รวมทั้งช่วยบรรเทาสถานการณ์ขาดแคลนสินค้าอาหารและปัญหาการส่งพัสดุจากสหราชอาณาจักรไปยังไอร์แลนด์เหนือด้วย นอกจากนี้ การประกาศมาตรการผ่อนปรนดังกล่าวของสหราชอาณาจักร ยังครอบคลุมการยกเว้นขั้นตอนการสำแดงเอกสารคุณภาพผลิตภัณฑ์จากสัตว์และแบบฟอร์มภาษีไปจนถึงต้นปี 2565 ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นการตอบสนองข้อเรียกร้องของสมาคมผู้ประกอบการในสหราชอาณาจักรที่เห็นว่าโครงสร้างพื้นฐานและระบบการตรวจสอบต่าง ๆ ในฝ่าย สหราชอาณาจักรยังไม่พร้อม ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวของสหราชอาณาจักร ได้สร้างความ ไม่พอใจให้แก่ฝ่าย EU โดยมองว่าสหราชอาณาจักรตั้งใจละเมิดพันธกรณีตามความตกลงการค้า สหราชอาณาจักร – EU และฝ่าย EU มีท่าทีจะพิจารณาดำเนินการตอบโต้ทางกฎหมายระหว่างประเทศและอาจกลายเป็นประเด็นข้อขัดแย้งระหว่าง สหราชอาณาจักร กับ EU ต่อไป
.
3.3 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 สำนักงานคณะรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร และ กระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร ประกาศเปิดสำนักงานแห่งที่สองในเมือง Glasgow และ East Kilbride ของสกอตแลนด์ตามลำดับ เพื่อสนับสนุนการจ้างงานในภาครัฐเพิ่มรวมประมาณ 1,000 ตำแหน่ง และกระจายการพัฒนาสู่เมืองรองโดยจะมีการแต่งตั้ง รัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่ประจำสำนักงานดังกล่าวด้วย เพื่อประสานงานกับรัฐบาลท้องถิ่นของสกอตแลนด์อย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ การเปิดสำนักงานแห่งที่สองของสองหน่วยงานดังกล่าวเป็นการต่อยอดจากการมีสำนักงานชั่วคราวในปัจจุบันที่ตั้งขึ้นในช่วงการเตรียมจัดการประชุม COP26
.
4. ทิศทางเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร
.
– จากการประกาศแผนงบประมาณประจำปีข้างต้น OBR ได้ปรับรายงานการประเมินเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรรอบล่าสุด ในเดือนมีนาคม 2565 โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร จะฟื้นตัวขึ้นมาเทียบเท่าช่วงก่อนวิกฤตโควิดภายในช่วงกลางปี 2565 (เร็วกว่าที่คาดไว้เดิม 6 เดือน) และระบุว่าอัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นสุงสุดที่อัตราร้อยละ 6.5 (ลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 7.5) อย่างไรก็ดี OBR คาดว่าเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรในปีนี้จะขยายตัวลดลงเหลือร้อยละ 4 (เดิมคาดการณ์ ไว้ที่ร้อยละ 5.5) และร้อยละ 7.3 ในปีหน้าและจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 1.6 – 1.7 ในช่วงปี 2566 – 2568 ทั้งนี้ วิกฤตโควิดทำให้เศรษฐกิจสหราชอาณาจักร มีขนาดหดตัวลงร้อยละ 9.9 ในปีที่แล้ว ซึ่งหดตัวมากที่สุดในกลุ่มประเทศ G7
.
5. นัยสำคัญต่อไทย
.
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงลอนดอน ประเมินว่า ตลาดสินค้าออนไลน์ในสหราชอาณาจักร กำลังเติบโตมากขึ้นอีกภายหลังจากที่กิจการค้าปลีกในสหราชอาณาจักร ส่วนใหญ่ทยอยเพิ่มการลงทุนด้านขีดความสามารถในการจำหน่ายและโฆษณาทางช่องทางออนไลน์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ที่ได้รับความนิยมในสหราชอาณาจักร รวมถึงความนิยมในการสั่งสินค้าอาหารทางออนไลน์ โดยข้อมูลการสำรวจจาก Kantar พบว่า 1 ใน 5 ครัวเรือนใน สหราชอาณาจักร (หรืออย่างน้อยร้อยละ 25) มีการสั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารออนไลน์ในปี 2563 นอกจากนี้ ห้างร้านหลายแห่งใน สหราชอาณาจักร เช่น Ocado Tesco และ Sainsbury’s อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบการบริหารจัดการคลังสินค้าขนาดเล็ก (Micro-Fulfilment Centres – MFCs) และระบบขนส่งถึงบ้านแบบรวดเร็ว (Rapid Home Delivery) ที่ใช้พาหนะขนาดเล็กเพื่อรองรับแนวโน้มการจับจ่ายสินค้าออนไลน์ที่มีปริมาณต่อครั้งการจับจ่ายที่น้อยลงแต่มีจำนวนครั้งเพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งผู้ผลิตสินค้าไทยที่ส่งออกมายังสหราชอาณาจักร หรือผู้ประกอบการไทยในสหราชอาณาจักร ควรพิจารณาปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ของสินค้าตนให้มีขนาดกะทัดรัดขึ้นและเหมาะสมกับแนวโน้มในธุรกิจขายปลีกและขายตรงดังกล่าว รวมทั้งอาจต้องปรับกลยุทธ์การตลาดผ่านสื่อดิจิทัลเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน เช่น บริการ Online Chat และ Virtual Meeting สำหรับลูกค้าในการพูดคุยกับพนักงานขาย เป็นต้น
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน