นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นต้นมา รัฐบาลสิงคโปร์มีความพยายามกระจายความหลากหลายทางเศรษฐกิจ (Diversified Economy) และสร้างความสามารถเฉพาะทางให้กับประเทศ (Unique Capabilities) ตามแนวทางรัฐบาลสิงคโปร์ได้เคยแถลงการณ์ไว้เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 ว่า “สิงคโปร์จะไม่กลับไปสู่รูปแบบทางเศรษฐกิจเดิมที่เคยทำมาในยุคก่อนโควิด-19 แต่จะวางเส้นทางเดินใหม่ ด้วยการสร้างรูปแบบทางเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศ”
.
โดยเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564 นาย Chan Chun Sing รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนสิงคโปร์ถึงวิสัยทัศน์ในระยะ 10 ปีข้างหน้า (ปี 2573) ภายใต้ชื่อว่า “Singapore’s Manufacturing 2030 Vision” ที่มีเป้าหมายเพื่อให้สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางระดับโลกในสาขาวิศวกรรมขั้นสูง นวัตกรรม และแรงงานทักษะที่มีฝีมือ และเตรียมขยายอุตสาหกรรมภาคการผลิตในประเทศเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 50 ในช่วง 10 ปีข้างหน้า พร้อมเน้นย้ำแนวทางสำคัญอีก 3 ข้อ ได้แก่ (1) รัฐบาลจะเร่งดึงดูดบริษัทระดับโลกให้เข้ามาลงทุนในประเทศ และในขณะเดียวกันก็จะส่งเสริม/สนับสนุนให้ชาวสิงคโปร์จัดตั้งบริษัทในท้องถิ่นที่มีคุณภาพ เพื่อให้สิงคโปร์เป็นประเทศสำคัญในห่วงโซ่อุปทานโลก (Global Supply Chain) (2) เร่งสร้างงานให้กับชาวสิงคโปร์และ (3) รัฐบาลสิงคโปร์จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับมหาวิทยาลัยและสถาบันอาชีวศึกษาในประเทศ เพื่อสร้างหลักสูตร/เร่งผลิตจำนวนนักศึกษาในสายวิศวกรรมและสายการผลิตให้มากขึ้น
.
หน่วยงานรัฐบาลของสิงคโปร์ที่มีหน้าที่รับผิดชอบการผลักดันวิสัยทัศน์ดังกล่าว คือ Enterprise Singapore ซึ่งได้เริ่มดำเนินการในหลายส่วนแล้ว เช่น (1) การจัดตั้งศูนย์ Centres of Innovation เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษา จัดอบรม จัดหาสถานที่ให้กับ SMEs ทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ และร่วมมือกับสถาบันอาชีวศึกษาในประเทศเปิดให้บริการศูนย์การศึกษานวัตกรรมรวมทั้งสิ้น 10 แห่ง เพื่อผลักดันหลักสูตรการศึกษา/การพัฒนาสินค้านวัตกรรมใหม่ๆ ในอนาคต (2) การออกหลักเกณฑ์ความช่วยเหลือด้านการเงิน ซึ่งรวมถึงการให้เงินทุน (Grant) การให้กู้ยืม (Loan) และการจูงใจทางด้านภาษี (Tax Incentive) เช่น Automation Support Package เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีความประสงค์ซื้อเครื่องจักรอัตโนมัติในสายการผลิต เป็นต้น และ (3) การจัดทำโครงการพัฒนาบุคลากรในสายอาชีพ/สาขา อุตสาหกรรมการผลิต เช่น โครงการ Global Ready Talent เพื่อรับสมัครชาวสิงคโปร์ที่สนใจประกอบกิจการ SMEs เข้าฝึกงานกับบริษัทชั้นนำต่างๆ ทั้งในสิงคโปร์และต่างประเทศ เช่น ประเทศในอาเซียน จีน และอินเดีย เป็นต้น
.
อนึ่ง เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ ได้คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในปี 2564 ว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 4 – 6 และคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมภาคการผลิตของสิงคโปร์จะเติบโตอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 2 สาขา ได้แก่ (1) Biomedical Manufacturing และ (2) Precision Engineering เช่น ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสารกึ่งตัวนำ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เพื่อนำไปประกอบการผลิต/การทำงานของเครือข่าย 5G เครือข่าย Wi-Fi 6 ระบบ AI เทคโนโลยี IoTs รถยนต์ไฟฟ้า และสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ๆ ซึ่งสิงคโปร์มีความสามารถในการผลิตเพื่อการส่งออกได้ อีกทั้งยังคาดการณ์ว่ายังมีอีก 2 อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้นในปี 2564 ได้แก่ (1) อุตสาหกรรมการก่อสร้าง เนื่องจากรัฐบาลสิงคโปร์มีแผนการลงทุนและปรับปรุงสาธารณูปโภคพื้นฐานในประเทศอย่างต่อเนื่องทั้งในระยะกลางและระยะยาว และ (2) อุตสาหกรรม Marine & Offshore Engineering เนื่องจากรัฐบาลสิงคโปร์มีแผนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา และนำระบบดิจิทัลเข้ามาใช้เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการเดินเรือของประเทศ
.
วิสัยทัศน์ของสิงคโปร์เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมและผลักดันการพัฒนาทุนมนุษย์ ซึ่งจะก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ถึงเวลาแล้วที่ประเทศสมาชิกในอาเซียน รวมถึงประเทศไทยที่มีผู้ประกอบการหรือบริษัทที่มีความโดดเด่นในอุตสาหกรรมต่าง ๆ จำเป็นต้องแสดงศักยภาพของตนออกมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของการลงในสิงคโปร์ และในขณะเดียวกัน ถือเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ สามารถใช้สิงคโปร์เป็นตลาดส่งออกแรงงานเพื่อเป็นฐานการผลิตและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีทักษะและคุณภาพขั้นสูงอีกด้วย
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์