EU ปรับโฉมฉลากประหยัดพลังงานสําหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านใหม่ ฉลากประหยัดพลังงาน หรือที่เรียกว่า E-label เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคชาวยุโรปรู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดีเพราะฉลากประเภทนี้ได้รับการเปิดตัวสู่สังคมยุโรปมากว่า 20 ปี เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยล่าสุดสหภาพยุโรป (EU) ได้ปรับปรุงฉลากประหยัดพลังงานใหม่ทั้งหมด เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการรับรองฉลากฯ ให้สูงขึ้น ผ่านตัวชี้วัดในด้านประสิทธิภาพทางพลังงานที่ได้จากการทดสอบจริงตามมาตรฐานที่กําหนดของแต่ละผลิตภัณฑ์ ประกอบกับข้อมูลด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม (Eco design) อื่น ๆ โดยยกเลิกฉลากประหยัดไฟที่มีรูปแบบ (1) A4 (2) A++ และ (3) A+++ และคงไว้เพียงตัวอักษรจาก A ถึง G โดยตัวอักษร A หมายถึงผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งขณะนี้ มีผลิตภัณฑ์ไม่กี่ชิ้นหรืออาจไม่มีเลยที่สามารถผ่านเกณฑ์ขั้นสูงนี้ได้ และมีแนวโน้มที่การจัดอันดับ (rating) ของผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่วางขายในท้องตลาด ณ ปัจจุบันจะถูกปรับลดลงจาก (1) A4 (2) A++ (3) A+++ เป็น B C หรือ D เท่านั้น อีกทั้งยังมีการปรับรูปแบบฉลากใหม่เพื่อเพิ่มความโดดเด่นและชัดเจนของสัญลักษณ์ต่าง ๆ และมีการใช้ QR Code บนฉลากฯเพื่อเพิ่มช่องทางรับรู้ข้อมูลที่ชัดเจนยิ่งขึ้นแก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์
.
การปรับรูปแบบฉลากฯดังกล่าวเป็นผลมาจากการที่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองจนมีคุณภาพดีระดับ A+ ขึ้นไป คณะกรรมาธิการยุโรปด้านพลังงาน (DG ENERGY) จึงมีแนวคิดที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบฉลากฯ เพื่อช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเกิดการแข่งขัน และพร้อมที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น นั่นหมายถึงประโยชน์จะตกต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าที่จะได้ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงมากยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยผู้บริโภคประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังช่วยให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะยาวอีกด้วย เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทตู้เย็นและตู้แช่ เครื่องล้างจาน เครื่องซักผ้า และโทรทัศน์หรือจอภาพภายนอก เป็นสินค้าประเภทแรกที่มีการบังคับใช้ฉลากใหม่ ซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 โดยฉลากประหยัดพลังงานที่ปรับปรุงใหม่จะถูกนํามาใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น ๆ อาทิ หลอดไฟ และโคมไฟประเภท fixed light ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2560 เป็นต้นไป นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปกําลังดําเนินการเพื่อนําฉลากพลังงานรุ่นใหม่ไปใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทอื่น ๆ เช่น เครื่องอบผ้า เครื่องปรับอากาศ เตาอบ ไฟฟ้า และเครื่องดูดควันในอนาคต ปัจจุบัน สหภาพยุโรปนับเป็นตลาดส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ที่สําคัญของไทย ขณะเดียวกันประเด็นเรื่องการลดภาวะโลกร้อนและแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนบนพื้นฐานของความยั่งยืนกําลังได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง โดยหลายประเทศรวมถึง EU มี การนํามาตรการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดมาใช้โดยพิจารณาผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ตลอดวงจรชีวิต ซึ่งอาจส่งกระทบต่อสินค้าส่งออกของไทยหลายประเภท ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยควรให้ความสําคัญกับเรื่องการพัฒนาประสิทธิภาพพลังงานของผลิตภัณฑ์และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดความคุ้มค่าตามมาตรฐานที่ EU ยอมรับเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า ตลอดจนนํามาซึ่งโอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลล์