เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2564 รัฐบาลฮ่องกงได้จัดการบรรยายสรุปเรื่องงบประมาณ ปี 2564 – 2565 ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจฮ่องกงปี 2563 เป็นปีที่ท้าทายสําหรับฮ่องกง โดยเศรษฐกิจหดตัวที่ร้อยละ 6.1 ติดลบต่ำที่สุด และอัตราการว่างงานเฉลี่ยทั้งปีสูงถึงร้อยละ 5.5 เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด – 19 โดยการส่งออก ภาคบริการ และการบริโภคภายในฮ่องกงหดตัวอย่างหนัก ซึ่งเป็นผลจากผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ซบเซา นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าและอัตราเงินเฟ้อของราคาผู้บริโภคลดลงเล็กน้อย ทั้งนี้ งบประมาณปี 2563 – 2564 รัฐบาลดําเนินนโยบายการคลังขาดดุลประมาณ 2.576 แสนล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือคิดเป็น 9.969 แสนล้านบาท และในช่วงเดือน ม.ค. 2564 อัตราการว่างงานสูงสุดในรอบ 17 ปี ที่ร้อยละ 7โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมอุปโภคบริโภคและการท่องเที่ยวสูงถึงร้อยละ 11.3 และในภาคบริการอาหารและเครื่องดื่มสูงถึงร้อยละ 14.7
.
แนวโน้มเศรษฐกิจฮ่องกงปี 2564
.
ระยะสั้นคาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวตลอดปีและปรับตัวดีขึ้นช่วงครึ่งหลังของปี รวมทั้ง คาดว่าเศรษฐกิจจีนแผ่นดินใหญ่จะเติบโตสูง ซึ่งสามารถสนับสนุนการส่งออกสินค้าของฮ่องกง ประกอบกับเขตเศรษฐกิจหลักของโลก เช่น สหภาพยุโยป ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ส่งสัญญาณฟื้นตัวช่วงครึ่งหลังของปีเช่นกัน อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังคงต้องใช้เวลาอีกนานในการฟื้นตัว รวมทั้งกิจกรรมภายในฮ่องกงต่าง ๆ จะฟื้นตัวเมื่อสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ ทั้งนี้ โอกาสการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก ได้แก่ (1) ความคืบหน้าและผลของวัคซีนทั่วโลก (2) ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจีนกับสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ (๓) ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และการพัฒนาการของ post-Brexit (4) ปัญหาทางการเงินของประเทศที่มีหนี้สูงและมีพื้นฐานที่อ่อนแอ ทั้งนี้ ประเมินว่า GDP จะเติบโตที่ร้อยละ 3.5 – 5.5 และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 1
.
ระยะปานกลาง แนวโน้มค่อนข้างไปในทางบวก เนื่องจาก (1) จีนยังคงเป็นเศรษฐกิจหลักในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลก (2) การเปลี่ยนขั้วอํานาจเศรษฐกิจโลกจากตะวันตกมาสู่ภูมิภาคเอเชีย (๓) การ พัฒนา dual circulation ของจีนจะสร้างโอกาสให้กับฮ่องกง ทั้งนี้ รัฐบาลจะอํานวยความสะดวกทางธุรกิจและส่งเสริมเศรษฐกิจในเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งต่าง ๆ ของฮ่องกง ควบคู่กับ “หนึ่งประเทศสองระบบ” รวมทั้งแก้ไขข้อจํากัดด้านที่ดินและผู้มีความสามารถพิเศษ ประกอบกับมุ่งเน้นการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี และใช้ประโยชน์จากโอกาส ได้แก่ (1) GBA (2) BRI และ (3) RCEP
.
สาระสําคัญของงบประมาณ 2564 – 2565
.
ภาพรวม คาดว่าจะขาดดุลที่ 1.016 แสนล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือคิดเป็นประมาณ 3.532 แสนล้านบาท และใน 5 ปีต่อไป ยังคงขาดดุลที่มูลค่าน้อยลง ซึ่งคาดการณ์ไว้ว่าปี 2565 – 2566 ขาดดุล 4.02 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง ปี 2566 – 2567 ขาดดุล 4.06 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง ปี 2567 – 2568 ขาดดุล 3.14 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง และ ปี 2568 – 2569 ขาดดุล 2.24 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกง แบ่งเป็น (1) รายได้ภาครัฐ 5.411 แสนล้านดอลลาร์ฮ่องกง คิดเป็น 2.258 ล้านล้านบาท และ (2) รายจ่ายภาครัฐ 3.278 แสนล้านดอลลาร์ฮ่องกง คิดเป็น 2.817 ล้านล้านบาท
.
การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโดยส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลและการท่องเที่ยว โดยจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้ HK Trade and Development Council และ HK Tourism Board เพื่อสนับสนุนกิจกรรม/แพลตฟอร์ม ออนไลน์ และโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวต่าง ๆ รวมทั้งโครงการการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และเชิงสร้างสรรค์ การกระตุ้นเศรษฐกิจ โดย (1) ส่งเสริมการให้บริการทางการเงิน โดยเฉพาะตราสารหนี้ สีเขียวและยั่งยืน ส่งเสริมความหลากหลายของตลาดการเงิน (2) ส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยี อาทิ ผลักดันการ พัฒนาอุทยานนวัตกรรมและเทคโนโลยีฮ่องกง-เซินเจิ้น การขยายพื้นที่ Science Park และ Cyberport (3) เสริมสร้างศักยภาพของอุตสาหกรรมขนส่งทางอากาศ เพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นศูนย์ขนส่งทางอากาศอันดับ 1 ของโลก โดยขยายอาคารขนส่งสินค้าปัจจุบัน พัฒนาศูนย์โลจิสติกส์ระดับพรีเมียม และขยายเป็นระบบ 3 รันเวย์ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่ม ความสามารถในการขนส่งสินค้าจากปัจจุบัน 2.4 ตันต่อปี เป็น 4 ล้านตันต่อปี ในปี 2567 (4) ส่งเสริมอุตสาหกรรม สร้างสรรค์ และเชิงวัฒนธรรม (5) ส่งเสริมอุตสาหกรรมก่อสร้าง อาทิ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างและใช้ระบบดิจิทัลในการทํางาน
.
นอกจากนี้ สร้างชุมชนและเมืองน่าอยู่ (1) โครงการพัฒนาที่ดิน พัฒนาเมือง เพิ่มจํานวนที่อยู่ อาศัย 101,000 ยูนิตในอีก 5 ปี และ 316,000 ยูนิตในอีก 10 ปี รวมทั้งเพิ่มพื้นที่สําหรับการพาณิชย์ (2) จัดตั้งกองทุน เทคโนโลยีสีเขียว จัดสรรเงินเพื่อพัฒนาการใช้ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้า ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและการลดการใช้ พลังงาน โดยสนับสนุนการติดตั้งระบบอัดประจุไฟฟ้า ณ ที่จอดรถอาคารที่อยู่อาศัย 50,000 จุด ภายใน 3 ปี และจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้ New Energy Transport Fund สําหรับโครงการส่งเสริมการใช้รถเมล์เล็กและเรือข้ามฟากไฟฟ้า (3) ลดความหนาแน่นทางจราจร โดยเพิ่มอัตราภาษีจดทะเบียนครั้งแรกสําหรับรถยนต์ส่วนบุคคลร้อยละ 15 และ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตขับรถร้อยละ 36 (4) เพิ่มคุณภาพชีวิต อาทิ พัฒนาสถานที่อํานวยความสะดวกและเส้นทางเดินเขา บริเวณพื้นที่วนอุทยานต่าง ๆ (5) เสริมสร้างระบบสาธารณสุขโดยเพิ่มจํานวน รพ. และศูนย์สุขภาพชุมชน (6) สร้างสังคม แห่งการดูแลกัน โดยจัดสรรงบประมาณ 150 ล้านดอลลาร์ อุดหนุนสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ จํานวน 1,500 แห่ง เป็นต้น
.
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังดําเนินนโยบายการคลังตรงกันข้ามกับวัฏจักรเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 1.2แสนล้านดอลลาร์ฯ เพื่อรับมือกับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 กระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาทุกข์ ประชาชนควบคู่กับนโยบาย และมาตรการเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยใช้ประโยชน์จากทิศทางการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคโลกใหม่ที่ได้เกิดขึ้น เช่น การส่งเสริมการอนุวัติดิจิทัล ผลิตภัณฑ์การเงินสีเขียวและยั่งยืน รวมทั้งการส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรม
.
ในส่วนของมาตรการเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดฯ ในปี งบประมาณ 2564 – 2565 ผู้แทน สหภาพแรงงานได้แสดงความผิดหวังที่รัฐบาลไม่มีมาตรการช่วยเหลือในลักษณะกองทุนสนับสนุนผู้ว่างงาน อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจํากัดทางงบประมาณรัฐบาลจึงมุ่งเยียวยากลุ่มเป้าหมายที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ขณะที่ในระยะกลางและระยะยาวแก้ปัญหาหลัก เช่น ประเด็นที่ดินและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจสําหรับทุกภาคส่วน รวมทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่ เช่น การส่งเสริมนวัตกรรม และความร่วมมือกับแผ่นดินใหญ่ในกรอบต่าง ๆ เช่น (1) GBA (2) BRI (3) แนวทาง dual circulation และ (4) โอกาสจาก RCEP
.
จะเห็นได้ว่าจากการที่รัฐบาลต้องดําเนินนโยบายขาดดุลอย่างต่อเนื่อง จึงจําเป็นต้องออกมาตรการลดรายจ่ายเพิ่มรายรับภาครัฐ เช่น ลดค่าใช้จ่ายภาคราชการร้อยละ 1 และเพิ่มอัตราอากรแสตมป์ธุรกรรมหุ้นจากร้อยละ 0.1 เป็นร้อยละ 0.13 ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มรายได้ให้รัฐบาล 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ในปีแรก โดยรัฐบาลพยายามสร้างความสมดุลระหว่างมาตรการเพิ่มรายได้ฯ กับการรักษาจุดแข็งของฮ่องกงในการเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการเงินโลก
.
ในงบประมาณ 2564 -2565 รัฐบาลจะอัดฉีดงบประมาณจํานวน 1.5 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง รวมทั้งขยายวงเงินสนับสนุนผู้ประกอบการจากเดิมสูงสุดที่ 4 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง เป็น 5 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง ในกองทุนพิเศษ “Dedicated Fund on Branding, Upgrading and Domestic Sales (BUD Fund)” ซึ่งมุ่งสนับสนุนกลุ่ม SMEs ในฮ่องกง หรือกลุ่มผู้ประกอบการใหม่ที่ต้องการแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจให้สามารถมีทุนทรัพย์ที่จะยกระดับธุรกิจและมาตรฐานของสินค้าของตนให้สูงขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งรวมถึงการค้าการลงทุนในต่างประเทศที่ฮ่องกงมี FTA รวมทั้ง อาเซียนด้วย ซึ่งจะเป็นโอกาสของไทย และผู้ประกอบการไทยในการทำธุรกิจร่วมกับชาวฮ่องกง
.
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยอาจศึกษารายละเอียดของเป้าหมาย และแนวทางการปฏิบัติของงบประมาณปี 2564 – 2565 ของรัฐบาลฮ่องกง และศึกษากรอบความร่วมมือ เช่น (1) Greater Bay Area – GBA (2) Belt and Road Initiative – BRI (3) แนวทาง dual circulation และ (4) โอกาสจาก Regional Comprehensive Economic Partnership – RCEP ที่ไทยได้เข้าร่วมแล้ว ควบคู่ไปด้วยกัน เพื่อแสวงหาโอกาสและความร่วมมือไปพร้อมกับการพัฒนาของรัฐบาลฮ่องกงในทุกมิติ
.
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองฮ่องกง