๑.๑ ภาพรวมเมื่อวันที่ ๑๙ ก.พ. ๒๕๖๔ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้ประกาศแผนพิมพ์เขียวเศรษฐกิจดิจิทัลมาเลเซีย ระยะเวลา ๑๐ ปี หรือ Malaysia Digital Economic Blueprint (MyDIGITAL) เพื่อใช้เป็นแนวทางในการเปลี่ยนแปลงมาเลเซียไปสู่ประเทศเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีรายได้สูง และเป็นผู้นําด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค โดยแบ่งการดําเนินการเป็น ๓ ระยะ ได้แก่ (๑) ระยะที่ ๑ (ค.ศ. ๒๐๒๑ – ๒๐๒๒) เตรียมวางรากฐานด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเตรียมภาคส่วนต่าง ๆ ให้พร้อมปรับตัว ไปสู่ระบบดิจิทัล (๒) ระยะที่ ๒ (ค.ศ. ๒๐๒๓ – ๒๐๒๕) ผลักดันการปรับตัวไปสู่ระบบดิจิทัลในทุกภาคส่วน และเน้นการ มีส่วนร่วมของประชาชนและภาคธุรกิจในทุกระดับ (๓) ระยะที่ ๓ (ค.ศ. ๒๐๒๖ – ๒๐๓๐) สร้างมาเลเซียให้เป็นผู้นําด้านดิจิทัล ในภูมิภาคทั้งในแง่การผลิตสินค้าดิจิทัลและการให้บริการด้านดิจิทัล
.
๑.๒ แนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศด้านดิจิทัลของรัฐบาลมาเลเซีย โดยนายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้กล่าวในช่วงการเปิดตัวแผน MyDIGITAL ว่าแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศด้านดิจิทัลในระยะแรกของมาเลเซีย จะเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยแบ่งการลงทุนและการพัฒนาออกเป็น ๔ ประเภท ได้แก่
.
(๑) โครงข่ายใยแก้วนําแสง – รัฐบาลมาเลเซีย จะลงทุนมูลค่า ๒.๑ หมื่นล้านริงกิต ในระยะ ๕ ปีข้างหน้าผ่านโครงการ National Digital Network (JENDELA) เพื่อพัฒนาโครงข่ายใยแก้วนําแสงให้ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการอินเตอร์เน็ตให้มากขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมในการเปลี่ยนไปสู่ระบบ 5G
.
(๒) โครงข่ายเคเบิลใต้น้ํา – รัฐบาลมาเลเซียจะลงทุนมูลค่า ๑.๖๕ พันล้านริงกิต ผ่านบริษัทโทรคมนาคมหลายแห่งเพื่อพัฒนาเครือข่ายระบบเคเบิลใต้น้ํา (Submarine cable) ระหว่างประเทศ ไปจนถึงปี ๒๕๖๔
.
(๓) ระบบ 5G – รัฐบาลมาเลเซียจะลงทุนมูลค่า ๑.๕ หมื่นล้านริงกิต ในระยะ ๑๐ ปีข้างหน้า เพื่อให้สามารถใช้ระบบ 5G ใน ประเทศได้ โดยจะมีการจัดตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นมาบริหาร กํากับดูแลและเป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐาน 5G ในประเทศ โดยบริษัทโทรคมนาคมที่ได้รับใบอนุญาตให้เปิดบริการ 5G จะสามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน 5G อย่างเท่าเทียมกันในระบบ แบ่งปันต้นทุน (Cost-sharing) โดยหวังว่าภายในสิ้นปี ๒๕๖๔ จะสามารถทยอยเปิดให้บริการระบบ 5G แก่ประชาชนได้
.
(๔) การจัดเก็บข้อมูลผ่านระบบ Cloud – รัฐบาลมาเลเซียจะลงทุนมูลค่า ๑.๒ – ๑.๕ หมื่นล้านริงกิต ในระยะ ๕ ปีข้างหน้า ในบริษัทผู้ให้บริการจัดเก็บข้อมูลผ่านระบบ Cloud (Cloud Service Provider – CSP) โดยขณะนี้ รัฐบาลมาเลเซียได้อนุมัติในหลักการให้บริษัท CSP ๔ บริษัท ได้แก่ บริษัท Microsoft บริษัท Google บริษัทAmazon และ บริษัท Telekom Malaysia ให้พัฒนาศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่และบริการจัดเก็บข้อมูลผ่านระบบ Cloud
.
๒. แนวโน้มสภาวะเศรษฐกิจมาเลเซีย ปี ๒๕๖๔
.
เมื่อวันที่ ๒๒ ก.พ. ๒๕๖๔ ผู้แทน World Bank Group กล่าวในระหว่างการสัมมนา Malaysia’s Economic and Strategic Outlook Forum (MESOF) ในหัวข้อ “The Post-COVID-19 New Normal – Where Do We Go From Here” ว่าเศรษฐกิจมาเลเซียในปี ๒๕๖๔ จะเริ่มฟื้นตัวโดยคาดว่า GDP จะเติบโตร้อยละ ๕.๖ – ๖.๗ เนื่องจากหลายประเทศเริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะจีนซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจมาเลเซียในปีนี้ ทั้งนี้การประมาณการดังกล่าวขึ้นอยู่กับความสามารถของรัฐบาลมาเลเซียในการยับยั้งการระบาดของโควิด-๑๙ และประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-๑๙ และความรวดเร็วในการฉีดวัคซีนโควิด-๑๙ ให้กับประชาชน โดยเห็นว่าในระยะสั้นรัฐบาลมาเลเซียควรเน้นการควบคุมการระบาดให้ได้โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางและในระยะกลางพยายามสร้างความเข้มแข็งด้านการคลังเพื่อรองรับเหตุฉุกเฉินในอนาคต
.
ผู้ประกอบการไทยสามารถเลือกพิจารณาที่จะเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและดิจิทัล ที่รัฐบาลมาเลเซียกำลังผลักดันผ่านโครงสร้างพื้นฐาน 5G หรือเรียนรู้แนวทางการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลในยุคหลังโควิด-19 เพื่อการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมเหล่านั้น เพื่อความมั่งคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตามแนวทางแผนยุทธศาสตร์ชาติของประเทศไทย
.
สอท. ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์
.
ขอบคุณรูปภาพจาก: https://www.digitalnewsasia.com/digital-economy/mdec-pledges-unequivocal-support-ensure-success-mydigital-malaysias-digital-economy