คณะกรรมาธิการยุโรปได้อนุมัติแผนการให้เงินสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมในห่วงโซ่คุณค่าแบตเตอรี่ (Wertschöpfungskette/ Value Chain) ครั้งที่ 2 โดยการอนุมัติครั้งที่ 2 ถือเป็นส่วนเสริมโครงการ Important Project of Common European Interrest (IPCEI) ซึ่งอนุมัติในครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2562 อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมตั้งแต่การสกัดวัตถุดิบ การออกแบบและการผลิตเซลล์แบตเตอรี่และชุดแบตเตอรี่ ไปจนถึงการรีไซเคิล โดยสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และอีก 11 ประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรป (ฝรั่งเศส เบลเยียม ออสเตรีย สวีเดน ฟินแลนด์ โปแลนด์ อิตาลี สเปน กรีซ ยูโกสลาเวีย และโครเอเชีย) ได้ให้เงินสนับสนุนโครงการดังกล่าวสูงถึง 2,900 ล้านยูโร
.
ล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและพลังงานสหพันธ์ฯ กล่าวว่าการอนุมัติของสหภาพยุโรปในครั้งนี้ ถือว่าเป็นความสําเร็จอย่างยิ่งใหญ่และเป็นโอกาสอันดีที่สหพันธ์ฯ จะผลิตแบตเตอรี่ “Made in Germany” และ “Made in Europe” ออกสู่ตลาดนานาชาติ โดยที่ผ่านมา บริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่ในเอเชียเป็นผู้นําการผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ของโลก และสหภาพยุโรปต้องพึ่งพาการนําเข้าจากเอเชีย ทั้งนี้ 11 บริษัทที่มีฐานการผลิตในสหพันธ์ฯ ที่เข้าร่วมโครงการฯ ได้แก่ (1) BMW (2) Etring Klinger (3) ACI Systems (4) Alumina Systems (5) Cellforce Group GmbH (6) Liofit GmbH (7) Tesla (8) SGL Carbon (9) Manz AG (10) Skeleton Technologies GmbH และ (11) Northvolt
.
โอกาสที่เกิดขึ้นจะช่วยสนับสนุนและเพิ่มศักยภาพในการผลิตของบริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่ต่าง ๆ ที่มีฐานการผลิตในสหพันธฯ มากขึ้น แต่บริษัทฯ ในเอเชียยังคงเป็นฐานการผลิตและผู้ออกแบตเตอรี่สำคัญของโลก ฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่เอเชีย รวมถึงไทยสามารถรักษาระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของตนเองในตลาดโลกและตลาดยุโรปได้ คือ การศึกษามาตรการหรือนโยบายต่าง ๆ ของตลาดต่างประเทศอย่างละเอียดและสม่ำเสมอ เพื่อให้ตามทันการเปลี่ยนแปลงและถือเป็นโอกาสในการพัฒนาคุณภาพของบริษัทหรือธุรกิจให้เป็นที่ต้องการของตลาดต่อไป
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน