มื่อวันที่ 28 ม.ค. 2564 หนังสือพิมพ์ The Business Times ได้นำเสนอบทความเขียนโดยนาย Peter Janssen ผู้สื่อข่าวประจำประเทศไทย มีเนื้อหาเกี่ยวกับแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งให้ความเห็นว่าการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าดังกล่าวอาจไม่คุ้มค่าในระยะยาว อันเนื่องมาจาก (1) ปัจจัยทางเศรษฐกิจของไทย ที่หดตัว 6.5% ในปี 2563 จากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 และน่าจะฟื้นตัวและขยายตัวเพียง 4% ในปี 2564 (2) ปัญหาสังคมผู้สูงอายุ และ (3) การกำหนดเส้นทางเดินรถผ่านพื้นที่ที่มีประชากรไม่หนาแน่น จึงเป็นที่น่าสังเกตและจับตามองถึงความคุ้มค่าของโครงการพัฒนารถไฟฟ้าฯ มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของประเทศไทย
.
การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ (BTS SkyTrain) เริ่มขึ้นเมื่อปี 2543 โดยเริ่มจากพื้นที่เศรษฐกิจและธุรกิจสำคัญใจกลางกรุงเทพฯ จากนั้นได้ขยายไปสู่บริเวณเขตที่อยู่อาศัยทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยในปัจจุบัน ระบบรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ มีระยะทางรวมประมาณ 180 กิโลเมตร และมีแผนจะขยายระยะทางเป็น 560 กิโลเมตร ภายในปี 2572 (ตามแผนแม่บทระยะ 20 ปี) ซึ่งยาวกว่าระบบรถไฟฟ้าในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร (London’s Tube) ที่มีระยะทาง 420 กิโลเมตร ซึ่งโครงการพัฒนารถไฟฟ้าฯ มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของประเทศไทย อาจจะไม่คุ้มค่าในระยะยาว เนื่องจากปัจจัย (1) การประกาศปรับอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียว (ซึ่งเป็นเส้นทางผ่านใจกลางเมือง) ตลอดสาย เป็นเงิน 104 บาท จะทำให้มีผู้ใช้บริการน้อยลง (2) ระบบเชื่อมต่อระหว่างสถานีชุมทางยังไม่มีประสิทธิภาพ (เท่ากับระบบเชื่อมต่อสิงคโปร์) และ (3) การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยปัจจุบัน ไทยมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปี จำนวน 12 ล้านคน และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคน ในปี 2583 ซึ่งผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่นิยมการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า
.
ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ นับตั้งแต่ปี 2541 – 2560 ราคาที่ดินโดยรอบสถานีรถไฟฟ้าในเมือง (สายสีเขียว) เพิ่มสูงขึ้นถึง 10 เท่า และราคาคอนโดมิเนียมในรัศมี 800 เมตรจากสถานีฯในเมืองสูงขึ้น 10% ต่อปี ซึ่งต่างจากสถานีรถไฟฟ้า่นอกเมือง (สายสีม่วง) ที่ส่วนใหญ่มีประชากรไม่หนาแน่นมากพอที่จะพัฒนารถไฟฟ้าแล้วเกิดความคุ้มทุน ทั้งยังมีปริมาณคอนโดมิเนียมมากกว่าความต้องการจริง ดังนั้น ในอนาคต ผู้โดยสารที่อาศัยอยู่นอกเมืองจะใช้บริการรถไฟฟ้าเพื่อเดินทางเข้าไปทำงานในเมืองจึงมีไม่มากนัก
.
ในส่วนของสิงคโปร์นั้น ปัจจุบันมีระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 2 ระบบ ได้แก่ (1) Mass Rapid Transit (MRT) เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2530 และพัฒนาเป็น 6 สายรอบประเทศ ประกอบด้วยสถานี 130 แห่ง ระยะทางรวม 230 กม. (ยังไม่รวมเส้นทางที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง) โดยมีผู้ใช้บริการ 3,000,000 คน/วัน และ (2) Light Rail Transit (LRT) หรือระบบรถไฟฟ้ารางเบาเพื่อเชื่อมเขตเมืองใหม่ที่มีผู้อาศัยอยู่ไม่หนาแน่นกับ MRT เข้าสู่ตัวเมือง เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2543 ปัจจุบัน มีทั้งหมด 4 สาย ทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกของสิงคโปร์ ประกอบด้วยสถานี 40 แห่ง ระยะทางรวมทั้งสิ้น 28 กิโลเมตร โดยมีผู้ใช้บริการประมาณ 200,000 คน/วัน
.
กรมการขนส่งทางบกสิงคโปร์ (Land Transit Authority – LTA) วางแผนการขยายเส้นทางระบบMRT อีก 50% โดยจะมีระยะทางรวม 360 กิโลเมตร ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) ตามหลักการเข้าถึงได้ง่ายและสะดวก คือ ให้ประชาชนทุกคนสามารถเดินจากบ้านพักไปยังสถานี MRT ได้ภายใน 10 นาที อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 22 มิ.ย. 2563 นาย Khaw Boon Wan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมสิงคโปร์ในขณะนั้น ได้ให้สัมภาษณ์ว่า แผนการดังกล่าวอาจล่าช้าไปบ้าง เนื่องจากการแพ่ระบาดของโควิด-19 แต่รัฐบาลสิงคโปร์จะยังคงดำเนินโครงการขยายเส้นทาง MRT ต่อไป นอกจากนี้ LTA ได้เตรียมรื้อถอนตู้โดยสารรถไฟฟ้ารุ่นแรกของบริษัท Kawasaki ของญี่ปุ่นออก เนื่องจากใช้งานมาแล้วมากกว่า 30 ปี และจะนำตู้โดยสารใหม่ของบริษัท Bombardier ของแคนาดา มาทดแทนในเร็วๆนี้
.
สำหรับการเก็บค่าโดยสารในสิงคโปร์ ผู้โดยสารจำชำระผ่านบัตร EZ-link ซึ่งเชื่อมโยงกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ทั้งหมดในสิงคโปร์ โดยคำนวณค่าโดยสารตามระยะทาง เริ่มต้นที่เพียง 0.42 ดอลล่าร์สิงคโปร์ (หรือประมาณ 9.45 บาท) ทั้งยังมีระบบส่วนลดค่าโดยสารเพื่อสนับสนุนใให้ประชาชนใช้บริการขนส่งมวลชนให้มากที่สุด กล่าวคือ ผู้โดยสารที่เดินทางด้วยขนส่งมวลชนหลายประเภทอย่างต่อเนื่องในเวลาที่กำหนด จะได้รับส่วนลดค่าโดยสารมากขึ้นไปด้วย เช่น โดยสารรถไฟ LRT ไปต่อรถไฟ MRT หรือ โดยสารรถไฟ MRT ไปต่อรถประจำทาง เป็นต้น
.
สิงคโปร์ได้ออกแบบระบบขนส่งสาธารณะให้ผู้ใช้บริการปราศจากอุปสรรคในการเดินทาง เช่น ทางลาดสำหรับรถเข็นและลิฟต์โดยสาร เพื่ออำนวยความสะดวกเด็ก ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้มีสัมภาระ และผู้มีปัญหาสุขภาพ รวมถึงการสร้างสถานีเพื่อเชื่อมต่อชุมทางรถประจำทางเข้ากับรถไฟฟ้า (Bus Interchange) เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนในเขตพักอาศัยหนาแน่น โดยมีศูนย์อาหารและห้างสรรพสินค้าบริเวณโดยรอบสถานีชุมทางดังกล่าวด้วย อีกทั้งรัฐบาลสิงคโปร์ ได้มีการรวบรวมข้อมูลสถิติจำนวนผู้โดยสารในแต่ละช่วงเวลาและเปิดเผยข้อมูลดังกล่าว เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการ Startup นำข้อมูลไปพัฒนา Application ใหม่ๆ ที่ตอบสนองรูปแบบชีวิตทันสมัยในปัจจุบัน ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการคมนาคมหรือขนส่งทางบกแบบครบวงจรใน Application เดียว
.
เมื่อเปรียบเทียบโครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และสิงคโปร์ จะเห็นได้ว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคมผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น และการกำหนดเส้นทางเดินรถผ่านพื้นที่ที่มีประชากรไม่หนาแน่น ผนวกกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้โครงการพัฒนารถไฟฟ้าฯ อาจไม่คุ้มทุนในระยะยาว ดังนั้นผู้พัฒนาโครงการพัฒนารถไฟฟ้าฯ สามารถศึกษาโมเดลจากสิงคโปร์ในการออกแบบให้สอดคล้องกับผังเมืองและจำนวนประชากร การปรับราคาค่าโดยสารให้สอดคล้องกับค่าแรงขั้นต่ำ เพิ่มรอบโดยสารในช่วงเวลาเร่งด่วน หรือเสนอสิทธิประโยชน์สำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการจะสามารถดึงดูดผู้ใช้งานได้มากขึ้น รวมถึงลดปัญหาการจราจรได้อย่างมีประสิทธิผล
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์