GDP ปี 2563 ลดลงรวมร้อยละ 5 ซึ่งนับเป็นปีแรกในรอบ 10 ปี ที่ GDP รวมของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (สหพันธ์ฯ) หดตัวลง หลังจากเพิ่มขึ้นมาตลอดทุกปี โดยในช่วงครึ่งปีแรกเศรษฐกิจได้รับผลกระทบอย่างหนักจากมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 (lockdown ครั้งที่ 1) และกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในไตรมาสที่ 3 ก่อนจะได้รับผลกระทบอีกครั้งจากการ lockdown ครั้งที่ 2 (กลางเดือน ธ.ค. 2563 ถึงปัจจุบัน โดยในชั้นนี้คาดว่ามาตรการ Lockdown ครั้งที่ 2 จะสิ้นสุดในวันที่ 7 มี.ค. 2564) อย่างไรก็ตาม ตัวเลข GDP โดยรวมของปี 2563 ดีกว่าการคาดการณ์ของธนาคารกลางแห่งสหพันธ์ฯ (The Deutsche Bundesbank) ที่คาดว่า GDP รวมจะหดตัวลงถึงร้อยละ 5.5
.
การจ้างงาน
.
อัตราการว่างงานปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 5.9 (สูงกว่าปี 2562 ที่มีอัตราการว่างงานรวมที่ร้อยละ 5.0) อัตราค่าจ้างและเงินเดือนต่อคน ลดลงที่ร้อยละ 0.4 (ลดลงจากปี 2562 ที่อัตราค่าจ้างและเงินเดือนต่อคนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9) อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของ COVID-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออัตราการจ้างงานมากนักในภาพรวม เนื่องจาก การจ้างงานได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหพันธ์ฯ ภายใต้โครงการ short-time work โดยเมื่อสหพันธ์ฯ ใช้มาตรการ lockdown ครั้งที่ 2 เมื่อกลางเดือน ธ.ค. 2563 จํานวนการลงทะเบียน short-time work พุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง ทั้งนี้ แรงงานที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ แรงงานในภาคอุตสาหกรรมโลหะ ไฟฟ้า และเหล็ก แรงงานชั่วคราว และแรงงานจากภาคอุตสาหกรรมโรงแรมและอาหาร
.
การค้า
.
การส่งออกหดตัวลงรวมร้อยละ 9.3 (มูลค่าการส่งออกรวม 1,204.7 พันล้านยูโร) โดยการส่งออกภาคบริการได้รับผลกระทบมากกว่าภาคการผลิต และการนําเข้าลดลงร้อยละ 7.1 (มูลค่าการนําเข้ารวม 1,025.6 พันล้านยูโร) โดยสหพันธ์ฯ ได้ดุลการค้าต่างประเทศรวมจํานวน 179.1 พันล้านยูโร โดยตลาดส่งออกสําคัญ 3 อันแรกของสหพันธ์ฯ ได้แก่ สหรัฐฯ จีน และฝรั่งเศส และตลาดนําเข้าที่สําคัญ 3 อันดับแรก ได้แก่ จีน เนเธอร์แลนด์ และสหรัฐฯ
.
การผลิต
.
นับแต่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 การผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหพันธ์ฯ หดตัวลงเรื่อย ๆ และกลับมาขยายตัวอีกครั้งในเดือน พ.ย. 2563 โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 เทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของภาคยานยนต์ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลัก รวมถึงอุปกรณ์ IT อุปกรณ์เกี่ยวกับสายตา และเครื่องจักรกล นอกจากนี้ สถิติการลงทะเบียนรถยนต์ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 ในเดือน ธ.ค. 2563 (135,000 คัน) ซึ่งเป็นปริมาณที่มากกว่าการลงทะเบียนรถยนต์ใหม่โดยเฉลี่ยต่อเดือนของปี 2561 และ 2562 อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2563 ผลผลิตจากภาคยานยนต์จะลดลงรวมถึงร้อยละ 25 ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่ตกต่ำที่สุดนับแต่การรวมประเทศของสหพันธ์ฯ และจะเป็นสถิติที่ลดลงต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 33
.
แนวโน้มเศรษฐกิจสหพันธ์ฯ ปี 2564
.
รัฐบาลสหพันธ์ฯ คาดว่า ในปี 2564 GDP จะขยายตัวขึ้นร้อยละ 3 ภายหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 น่าจะอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ตามแผนการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน โดยคาดว่าสหพันธ์ฯ จะใช้มาตรการควบคุม COVID-19 ในปัจจุบันจนถึงช่วงเดือน มี.ค. 2564 และจะค่อย ๆ ผ่อนคลายมาตรการลง ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของ COVID-19 และปริมาณการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสจะเป็นตัวแปรสําคัญที่จะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสหพันธ์ฯ ในปี 2564 โดยคาดว่าอัตราผู้ติดเชื้อจะยังไม่ลดลงอย่างมีนัยสําคัญก่อนไตรมาสที่ 2 และการฉีดวัคซีนน่าจะครอบคลุมจํานวนคนได้มากพอในช่วงฤดูร้อน รวมทั้งคาดว่าเศรษฐกิจสหพันธ์ฯ น่าจะกลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งอีกครั้งตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 เป็นต้นไป
.
การส่งออกและนําเข้า คาดการณ์ว่าจะขยายตัวขึ้นร้อยละ 6.4 และร้อยละ 7.2 ตามลําดับ การอุปโภคบริโภคของเอกชนจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนและจะขยายตัวขึ้นร้อยละ 4.7 อัตราการว่างงานจะลดลงเล็กน้อยจากปี 2563 เหลือร้อยละ 5.8 อุตสาหกรรมยานยนต์จะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในปี 2564 โดยจะขยายตัวขึ้นร้อยละ 30
.
รัฐบาลสหพันธ์ฯ ได้ตั้งงบประมาณกว่า 50 พันล้านยูโร เพื่อดําเนินโครงการและมาตรการในการส่งเสริมด้าน ดิจิทัล การคุ้มครองสภาพภูมิอากาศและการสัญจรอย่างยั่งยืน การพัฒนาการศึกษาและการวิจัย นอกจากนี้ สหพันธ์ฯ ยังมุ่งเพิ่มการสร้างหลักประกันสําหรับแรงงานทักษะสูงในสหพันธ์ฯ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมให้สหพันธ์ฯ เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในระยะยาวด้วย
.
การจัดอันดับศักยภาพเศรษฐกิจของสหพันธ์ฯ ในปี 2563
.
- Ease of Doing Business 2020 โดย World Bank จัดให้สหพันธ์ฯ อยู่ในอันดับที่ 22 (ไทยอยู่อันดับที่ 21)
- IMD’s World Competitiveness Ranking 2020 สหพันธ์ฯ ยังคงอยู่ที่อันดับ 17 เช่นเดียวกับในปี 2562
- Global Innovation Index 2020 โดย WIPO สหพันธ์ฯอยู่ในอันดับที่ 9 (อันดับคงที่จากปี 2562)
- US News จัดให้สหพันธ์ฯเป็นอันดับที่ 4 ใน The Best Countries in the World (รองจากสวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา และญี่ปุ่น) และจัดให้สหพันธ์ฯ อยู่ในอันดับที่ 17 Open for Business 2020
.
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-สหพันธ์ฯ
.
การค้าไทย-สหพันธ์ฯ ปี 2563 มีมูลค่ารวมจํานวน 9,283.57 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 14.22 จากปี 2562) โดยแบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 4,071.33 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 10.23 จากปี 2562) และ มูลค่าการนําเข้า 5,212.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ลดลงร้อยละ 17 จากปี 2562)
.
ในช่วงปี 2562-2563 สินค้าส่งออกของไทยไปสหพันธ์ฯ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) อัญมณีและเครื่องประดับ 2) เครื่องคอมพิวเตอร์ (อุปกรณ์และส่วนประกอบ) 3) แผงวงจรไฟฟ้า 4) รถยนต์ (อุปกรณ์และส่วนประกอบ) และ 5) ผลิตภัณฑ์ยาง โดยสินค้าที่ไทยนําเข้าจากสหพันธ์ฯ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 2) เคมีภัณฑ์ 3) เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ 4) ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยางยนต์ และ 5) ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม
.
อย่างไรก็ดี ถึงแม้มูลค่าการส่งออกสินค้าจากไทยไปยังสหพันธ์ฯ จะลดลง แต่จากการที่รัฐบาลสหพันธ์ฯ ได้มีมาตรการในการเยียวยาประชาชน และกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก ประกอบกับการที่ GDP ของสหพันธ์ฯ ในปี 2563 นั้นดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ จึงคาดว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาอีกครั้งหากสถานการณ์ COVID-19 ในสหพันธ์ฯ ดีขึ้น มีการฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างทั่วถึง ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถกลับมาส่งออกสินค้าไปยังสหพันธ์ฯ ได้ดีอีกครั้ง รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวเยอรมันที่เข้ามาในประเทศไทยนั้นจะฟื้นตัวเช่นเดียวกัน
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน