อาหารที่บริโภคไม่หมดหรือมีขั้นตอนการผลิตและการเก็บรักษาที่ไม่เหมาะสมจะกลายเป็นขยะอาหาร (food waste) ก่อให้เกิดการสูญเสียทางความหลากหลายทางชีวภาพ การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และการใช้ดินและน้ําอย่างไม่จําเป็น ซึ่งในปัจจุบันร้อยละ 25 ของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับอาหารในสวิตฯ มีสาเหตุจากขยะอาหารที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ (avoidable food waste)
.
ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากขยะอาหารในสวิตฯ
สถาบันการออกแบบเพื่อระบบนิเวศ (The Institute of Ecological Systems Design) ของสถาบันเทคโนโลยีเมืองซูริก (ETH Zurich) ภายใต้มหาวิทยาลัยซูริก พบว่า
.
(1) ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากขยะอาหารที่สามารถหลีกเลี่ยงได้จะสัมพันธ์กับการบริโภคอาหาร ดังนั้นหากมีการบริโภคอาหารให้หมดโดยไม่เหลือกลายเป็นขยะจะนําไปสู่การลดปริมาณอาหาร โดยผลิตเท่าที่จําเป็น การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ รวมถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจ โดยอาหารที่กลายเป็นขยะล้วนมีค่าใช้จ่ายจากกระบวนการผลิตและห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ในตลาด ซึ่งถูกรวมคํานวณอยู่ในราคาสินค้าที่ผู้บริโภคเป็นผู้รับผิดชอบนั่นเอง
.
(2) ในการคํานวณค่าผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (eco-points: EPs) จําแนกตามประเภท ขยะอาหารต่อกิโลกรัม พบว่า อาหารประเภทเนื้อสัตว์ เมล็ดกาแฟและโกโก้ เนย ไข่ ผลิตภัณฑ์ที่นําเข้า ทางเครื่องบิน น้ํามันและไขมัน ปลา ชีส มีค่า EPs สูง ในขณะที่ขยะอาหารประเภทผัก ผลไม้ มันฝรั่ง ก็มีความสําคัญ เพราะแม้จะมีค่า EPs ไม่สูงเท่า แต่มักจะเหลือเป็นขยะในปริมาณมาก
.
(3) ปริมาณขยะอาหารที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในสวิตฯ มีประมาณ 2.8 ล้านตันต่อปี โดยเกิดขึ้นในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานทั้งในสวิตฯ และต่างประเทศ
.
(4) ขยะอาหารที่เกิดขึ้นในช่วงปลายน้ําของห่วงโซ่อุปทาน (การจําหน่าย การบริโภค ในอุตสาหกรรมการจัดเลี้ยง และการบริโภคในครัวเรือน) โดยเฉลี่ยแล้วจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า แม้ว่าในช่วงต้นน้ําของห่วงโซ่อุปทาน (การผลิตทางการเกษตร และการแปรรูป) จะมีการใช้ทรัพยากรและ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่ง การแปรรูป การเก็บรักษา การบรรจุหีบห่อ ตลอดจนการเตรียมการ ต่าง ๆ แต่ส่วนหนึ่งของขยะอาหารที่เกิดขึ้นในช่วงดังกล่าวสามารถนํากลับไปใช้ได้ เช่น เป็นอาหารสัตว์ ซึ่งทดแทนค่าผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ร้อยละ 12
.
(5) สรุปได้ว่า มาตรการป้องกันไม่ก่อให้เกิดขยะอาหารในช่วงปลายน้ํามีความสําคัญต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งการสร้างคุณค่าหรือการนําขยะอาหารกลับมาใช้ใหม่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ได้เพียงส่วนหนึ่ง แต่ไม่สามารถเทียบได้กับการป้องกันไม่ให้เกิดขยะอาหารขึ้น
.
นโยบายและเป้าหมายการลดขยะอาหารของสวิตฯ
.
รัฐบาลสวิตฯ ได้กําหนดนโยบายและเป้าหมายเพื่อลดขยะอาหารต่อหัวของประชากร (จาก ปี 2558) ลงให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2573 โดยเป็นหนึ่งในมาตรการภายใต้แผนปฏิบัติการว่าด้วยเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy Action Plan) ของรัฐบาลสวิตฯ และเป้าหมาย UN Sustainable Development Goals (SDGs) ข้อ 12.3 (ซึ่งเน้นลดปริมาณขยะอาหารของโลกทั้งในขั้นตอนของการค้าปลีกและการบริโภค ตลอดจนลดการสูญเปล่าของอาหารจากกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงหลังการเก็บเกี่ยวลงให้ได้ครึ่งหนึ่งภายในปี 2573) และเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2562 รัฐสภาสวิตฯ ยังได้รับรองญัตติที่เสนอโดย Chevalley Isabelle สส. พรรค Green ที่เสนอให้รัฐบาลสวิตฯ จัดทําแผนปฏิบัติการว่าด้วยเรื่องขยะอาหาร ซึ่งอาจรวมมาตรการที่ดําเนินการอยู่แล้ว มาตรการใหม่ที่ภาคส่วนต่าง ๆ สามารถปฏิบัติได้ตามความสมัครใจ และมาตรการของรัฐบาล ตลอดจนมาตรการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยให้สวิตฯ สามารถทําตามเป้าหมาย SDGs ด้านการลดขยะอาหาร โดยจะมีการประเมินผลการดําเนินการในปี 2567 เพื่อพิจารณาว่ามาตรการที่กําหนดไว้ภายใต้แผนปฏิบัติการที่จัดทําขึ้นนั้นเพียงพอหรือจําเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมหรือไม่
.
ทั้งนี้ สํานักงานสิ่งแวดล้อม (Federal Office for Environment – FOEN) กระทรวงสิ่งแวดล้อม การคมนาคม พลังงาน และการสื่อสาร ได้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับขยะอาหารในสวิตฯ พบว่า (1) 2 ใน 3 ส่วนของปริมาณขยะอาหารในสวิตฯ ที่มีอยู่ 2.6 ล้านตันต่อปี สามารถหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งหมายถึงว่า อาหารนั้นยังสามารถทานได้ในขณะที่อาหารนั้นถูกทิ้งเป็นขยะ และส่วนที่เหลือเป็นขยะที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้หรือไม่สามารถทานได้ เช่น กระดูกหรือเปลือกผลไม้ และ (2) เกือบร้อยละ 50 ของขยะอาหารถูกนําไปใช้เป็นปุ๋ย ใช้ในการปรับสภาพดิน และแปลงเป็นก๊าซชีวภาพ ในขณะที่ร้อยละ 31 กลายเป็นอาหารสัตว์ ร้อยละ 21 ถูกนําไปใช้ในโรงเผาขยะ (WIPs) ส่วนอาหารที่ยังทานได้ซึ่งมีสัดส่วนเล็กน้อยก็จะถูกนําไปบริจาค
.
การบริหารจัดการขยะอาหารเป็นประเด็นที่ทั้งภาครัฐและภาคประชาชนในสวิตฯ ให้ความสําคัญ จากผลการสํารวจความคิดเห็น ชาวสวิส (1) มีความตื่นตัวมาก โดยถือว่าเป็นทั้งปัญหา ด้านศีลธรรมจรรยา ด้านเศรษฐกิจ และด้านสิ่งแวดล้อม (2) เห็นว่า 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตจะกลายเป็น ขยะอาหารในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทาน (3) ประเมินว่าขยะอาหารจํานวนมากเกิดขึ้น จากร้านอาหารหรือในขั้นตอนของการจําหน่ายอาหาร ในขณะที่ขยะอาหารจํานวนน้อยกว่าเกิดขึ้นจากการบริโภคในครัวเรือนและการแปรรูปอาหาร ซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริง
.
เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว แม้ชาวสวิสส่วนใหญ่มีความพยายามลดขยะอาหารในครัวเรือนของตนแล้ว แต่ยังเห็นว่ามาตรการที่บังคับใช้กับครัวเรือนและผู้ประกอบการต่าง ๆ ยังไม่เพียงพอ และเห็นควรให้มีมาตรการเพิ่มเติม เช่น การรณรงค์ด้วยเงินสนับสนุนจากรัฐบาลในการให้ข้อมูล เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในสถาบันการศึกษาและวิชาชีพต่าง ๆ การออกกฎระเบียบในการจัดการกับอาหาร หมดอายุ การออกกฎหมายซึ่งรวมถึงการบังคับให้รายงานผลการดําเนินการลดปริมาณขยะอาหาร การปรับเงินผู้ประกอบการที่มีการทิ้งขยะอาหาร ไปจนถึงความพร้อมที่จะจ่ายเงินค่าสินค้าอาหารเพิ่มขึ้นได้ ถึงร้อยละ 10 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการลดปริมาณขยะอาหารลงครึ่งหนึ่ง ซึ่งความคิดเห็นดังกล่าวอาจจะนําไปสู่การออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องของรัฐบาล การปรับแนวโน้มการผลิตและบริโภคอาหารของตลาดสวิส ซึ่งภาคเอกชนต้องปรับตัวและอาจนําไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และผลิตภัณฑ์ ใหม่ ๆ ได้เช่นกัน
.
ไม่เพียงแต่ประเทศในสหภาพยุโรปเท่านั้นที่ให้ความสำคัญในด้านสิ่งแวดล้อม และหันไปสนใจประเด็นทางด้านเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่สอดคล้องกับประเด็น SDGs มากขึ้น ในส่วนของประเทศไทยมีความพยายามผลักดันประเด็นที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเช่นเดียวกัน เห็นได้จากการที่รัฐบาลได้ออกมาประกาศให้ BCG Economy ซึ่งเป็นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจหลัก คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว เพื่อให้ตอบโจทย์ต่ออุตสาหกรรม S-Curve ด้านการเกษตรและอาหาร ที่ภาครัฐกำลังผลักดันอยู่ในปัจจุบัน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ดังนั้นผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจด้านอาหารและการเกษตรที่เกี่ยวข้อง ควรที่จะศึกษาและพยายามเปลี่ยนแปลงกับความท้าทายใหม่นี้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อเรียนรู้ที่จะบรรเทาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในการบริหารจัดการขยะจากอาหารต่อไป
.
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น